การสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ ช่วยคอนเทนท์ครีเอเตอร์สร้างสรรค์วิดีโอเชิงพาณิชย์ที่กระตุ้นการเพิ่มจำนวนผู้ติดตามให้กับคอนเทนท์ครีเอเตอร์ได้เกือบ 200%
28 พฤษภาคม 2561 – ในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ดีแทคได้เชิญคอนเทนท์ครีเอเตอร์จำนวน 5 รายมารวมตัวกัน เพื่อที่จะดึงศักยภาพและความสามารถของพวกเขาออกมาผ่านการผลิตวิดีโอคอนเทนท์บนโจทย์พิเศษ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่คอนเทนท์ครีเอเตอร์บนแพลตฟอร์ม YouTube ถูกท้าทายให้เข้าร่วมกิจกรรม Hackathon อันเข้มข้นและน่าตื่นเต้น ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันในกลุ่มคอนเทนท์ครีเอเตอร์ เพื่อสร้างสรรค์และนำเสนอวิดีโอเพื่อโปรโมทแคมเปญ“ดีแทคใจดี” บนแพลตฟอร์ม YouTube
รูปแบบของการแข่งขันสร้างคลิปวิดีโอได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัพดีแทค แอคเซอเลอเรท โดย 5 ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน ได้เข้ารับฟังโจทย์ และต้องกลับมานำเสนอผลงานในอีก10 วันต่อมา ซึ่งการนำเสนอผลงานในรูปแบบ Hackathon ผู้เข้าแข่งขันจะได้รับคำติชมจากทั้งเหล่าบรรดาเมนเทอร์และผู้เข้าแข่งขันทีมอื่น ๆ หลังจากนั้นแต่ละทีมจะมีเวลา 2 ชั่วโมงในการแก้ไขงานของตนเองและกลับมานำเสนอใหม่
ภายหลังการแข่งขันทั้ง 3 รอบจบสิ้นลง ทั้ง 5 ทีมมีผลงานที่น่าประทับใจ และได้ถูกรับเลือกจากดีแทคครบทั้ง 5 ทีม โดยคอนเทนท์ครีเอเตอร์ 3 รายแรก ได้แก่ Overact, Baobei 13 และ หมึกเหลือง TVได้ทำการอัพโหลดผลงานของตนเองขึ้นบน YouTube เรียบร้อยแล้ว
ปรากฏว่าวิดีโอที่คอนเทนท์ครีเอเตอร์สร้างสรรค์ขึ้นให้กับดีแทค มียอดจำนวนการเข้าชมมากกว่าวิดีโอตัวอื่นๆบนช่อง YouTube ของคอนเทนท์ครีเอเตอร์เหล่านั้นเองกว่า 40% หรือมากกว่าหนึ่งในสามของอัตราการเข้าชมปกติเมื่อเทียบกับวิดีโอทั้งหมดในช่อง YouTube ของคอนเทนท์ครีเอเตอร์ดังกล่าว
นอกจากนี้ยังส่งผลให้การเข้าชมวิดีโอบนช่องของดีแทคมีอัตราการเพิ่มขึ้นกว่า 187% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ผ่านมาของวิดีโออื่นๆในช่องของดีแทคเอง เนื่องจากโดยปกติแล้ว ยอดเข้าชมเนื้อหาเชิงพาณิชย์จะต่ำกว่าเนื้อหาทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด
นายพิพัฒน์ ศรีมัธยกุล ผู้อำนวยการฝ่าย Social Engagement บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “แบรนด์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้คอนเทนท์ครีเอเตอร์มีอิสระในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่ แบรนด์เหล่านั้นต้องการควบคุมอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามคู่มือของแบรนด์ที่วางไว้ ซึ่งตรงกันข้ามกับที่ดีแทค เนื่องจากเรามอบอิสระในการทำงานอย่างเต็มที่ให้แก่บรรดาคอนเทนท์ครีเอเตอร์ เราต้องการให้คอนเทนท์ครีเอเตอร์สื่อสารออกมาด้วยภาษาของพวกเขาเอง”
ทั้งดีแทคและคอนเทนท์ครีเอเตอร์ต่างได้รับประโยชน์จากงาน Hackathon นี้ โดยราคาต่อการเข้าชม (Cost per View) อยู่ที่ 1 ใน 4 ของค่าเฉลี่ยที่ดีแทคเคยทำมา และอัตราการชมวิดีโอ (View Through Rate) สูงเกือบ 70% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดีแทคที่ผ่านมาถึง 2 เท่า
“ตอนนี้เรากำลังทำสิ่งเดียวกันกับผู้ผลิตเนื้อหาอีก 14 คน โดยเรามองว่ามันไม่ใช่แค่การสร้างสรรค์ผลงานวิดีโอเท่านั้น แต่เรากำลังเสริมสร้างระบบนิเวศให้กับคอนเทนท์ครีเอเตอร์บน YouTube เช่นเดียวกับที่โครงการดีแทค แอคเซอเลอเรทได้มีส่วนในการสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพ ทุกฝ่ายรู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดีแทค YouTube และเหล่าคอนเทนท์ครีเอเตอร์ทั้งหลาย”
ชมคลิปวิดีโอได้ที่:
- หมึกเหลือง TV: https://www.youtube.com/watch?v=a9IESVxVQ10
- Baobei13: https://www.youtube.com/watch?v=l6CkUeAFDUM&t=4s
- Overact: https://www.youtube.com/watch?v=y8vu7GjDNqg&t=95s
วิดีโอชุดต่อไปจะเปิดตัวระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2561