กรุงเทพฯ 14 สิงหาคม 2561 – บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (SET: TRUE) รายงานผลกำไรจำนวน 1 หมื่นล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2561 จากรายได้ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และกำไรจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF)
ผลกำไรของกลุ่มทรูปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก อยู่ที่กว่า 1 หมื่นล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2561 เมื่อเทียบกับผลขาดทุน 1.2 พันล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเป็นผลจากการเติบโตของรายได้และฐานลูกค้าทั้งธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต รวมทั้งกำไรจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุน DIF ซึ่งหากไม่รวมธุรกรรมการขายสินทรัพย์ให้แก่ DIF และรายการพิเศษอื่นๆ อาทิ การด้อยค่าของสินทรัพย์ เพื่อการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสมแล้วนั้น ผลกำไรจะเท่ากับ 456 ล้านบาท เทียบกับขาดทุน 1.2 พันล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2560 และขาดทุน 152 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2561 ขณะที่ EBITDA เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและร้อยละ 2 เมื่อเทียบไตรมาสก่อน อยู่ที่ 9.4 พันล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2561
นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) กล่าวว่า “เป็นที่น่ายินดีที่กลุ่มทรูรายงานผลกำไรและธุรกิจหลักปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 2 ปี 2561 อันเป็นผลจากความมุ่งมั่นของกลุ่มทรูในการมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า โดยทรูมูฟ เอช ยังคงเติบโตเร็วกว่าตลาดและทำให้ส่วนแบ่งตลาดด้านรายได้เพิ่มเป็นร้อยละ 28 ขณะที่ทรูออนไลน์ยังคงครองความเป็นผู้นำตลาดบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ซึ่งได้รับผลตอบรับอย่างสูงจากแคมเปญไฟเบอร์ และแพ็กเกจอินเทอร์เน็ต 1 Gbps นอกจากนี้ การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ยังมีบทบาทสำคัญในการเติบโตของทรูวิชั่นส์ด้วย ทั้งนี้ กลุ่มทรูจะเดินหน้าเพิ่มมูลค่าให้แก่บริการโทรคมนาคมของกลุ่มด้วยนวัตกรรมและบริการด้านดิจิทัล ขณะที่การนำระบบดิจิทัลมาใช้เพิ่มเติมในองค์กรนั้น มั่นใจว่าจะเห็นผลที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในเร็วๆนี้ ซึ่งจะทำให้อนาคตของกลุ่มทรูสดใส พร้อมรับผลบวกจากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลทั้งด้านการดำเนินงานและด้านการเงิน”
ดร. กิตติณัฐ ทีคะวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) กล่าวว่า “ผลประกอบการในไตรมาส 2 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องและคาดว่าจะยังคงเป็นแนวโน้มขาขึ้นต่อไป กลุ่มทรูมุ่งมั่นเสริมประสิทธิภาพเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย ครอบคลุมทั่วประเทศ ผ่านคลื่นย่านความถี่ต่ำและสูงครบถ้วนสูงสุดในปัจจุบัน พร้อมนำเสนอสินค้าที่คุ้มค่าและการพัฒนาบริการที่เป็นเลิศแก่ผู้บริโภคเสมอมา ขณะเดียวกัน เราจะเดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งให้กับสื่อและดิจิทัลแพลตฟอร์มของกลุ่มทรู นำเสนอสิทธิพิเศษหลากหลาย ร่วมมือกับพันธมิตรทางกลยุทธ์และทางธุรกิจเพื่อเพิ่มประโยชน์และสร้างความผูกพันให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมการเติบโตในทุกสายธุรกิจของกลุ่มต่อไป นอกจากนี้การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลมากขึ้นทั้งสำหรับผู้บริโภคและภาคธุรกิจชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่มากมายสำหรับกลุ่มทรูที่จะรังสรรค์นวัตกรรมให้แก่สินค้าและบริการเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้าได้ดีและตรงจุดยิ่งขึ้น จะเห็นได้จากการที่กลุ่มทรูเป็นผู้ริเริ่มนำเทคโนโลยีล้ำสมัยด้วยมาตรฐานระดับโลกมาสู่ผู้บริโภคเสมอมา สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้สถานะความเป็นผู้นำด้านดิจิทัลของเรายิ่งแข็งแกร่งขึ้น”
ทรูมูฟ เอช ยังคงเติบโตเหนืออุตสาหกรรมทั้งในแง่การเติบโตของรายได้และฐานลูกค้า โดยมีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากไตรมาส 2 ปีก่อนหน้า เป็น 1.84 หมื่นล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2561 ซึ่งนับเป็น 25 ไตรมาสติดต่อกันที่รายได้จากการให้บริการของทรูมูฟ เอชเติบโตจากปีก่อนหน้าได้มากกว่าอุตสาหกรรม ขณะที่สิทธิประโยชน์หลากหลายของกลุ่มทรูและความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งในด้านดีไวซ์ ช่องทางและระบบการจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ พัฒนามากยิ่งขึ้น ทรูมูฟ เอช ขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 28.08 ล้านราย ประกอบด้วยลูกค้าระบบรายเดือน 7.23 ล้านราย และลูกค้าระบบเติมเงิน 20.85 ล้านราย โดยทรูมูฟ เอช มีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิ 4.46 แสนราย ในระหว่างไตรมาส ขณะที่ผู้ให้บริการรายใหญ่รายอื่นในอุตสาหกรรมรวมแล้วมีฐานลูกค้าลดลงสุทธิ 1.55 แสนราย การเติบโตสูงต่อเนื่องนี้ ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดรายได้และฐานลูกค้าของทรูมูฟ เอช เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 28 และ ร้อยละ 31 ตามลำดับ ในไตรมาสที่ 2
ธุรกิจบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ตของทรูออนไลน์ยังคงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง จากผลตอบรับที่ดีต่อเนื่องต่อบริการไฟเบอร์ อินเทอร์เน็ต ซึ่งโครงข่าย FTTH ของกลุ่มครอบคลุมทั่วประเทศ รายได้บรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ตของทรูออนไลน์เติบโตสูงร้อยละ 16 จากไตรมาสที่ 2 ของปีก่อนหน้า เป็น 6.5 พันล้านบาท หนุนโดยการเติบโตทั้งในต่างจังหวัด และในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยมีฐานลูกค้าบรอดแบนด์เพิ่มขึ้นสุทธิประมาณ 8.5 หมื่นราย เป็น 3.4 ล้านราย นอกจากนี้ ทรูออนไลน์ตอกย้ำความเป็นผู้นำในตลาดบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ตของประเทศไทยด้วยแพ็กเกจ ไฟเบอร์อินเทอร์เน็ต 1 Gbps ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีต่อเนื่อง
รายได้จากการให้บริการของทรูวิชั่นส์ เติบโตสูงร้อยละ 14 จากไตรมาสก่อนหน้าและร้อยละ 13 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 3.5 พันล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2561 ส่วนใหญ่จากการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ซึ่งทุกคู่แข่งขันได้ถูกถ่ายทอดผ่านช่องทางที่หลากหลายของกลุ่มทรู ได้แก่ แอปพลิเคชั่นส์ทรูไอดี โทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเทอร์เน็ต และโทรทัศน์ นอกจากนี้ รายได้ธุรกิจบันเทิงจากการจัดงานสำคัญเช่น Cirque Du Soleil Toruk The First Flight ช่วยส่งเสริมรายได้ของทรูวิชั่นส์ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในไตรมาสนี้ ทรูวิชั่นส์มีฐานลูกค้ารวมกว่า 4 ล้านราย ณ สิ้นไตรมาส โดยมีจำนวนลูกค้าที่สมัครสมาชิกเพิ่มขึ้น 3.5 หมื่นรายเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและเพิ่มขึ้น 9.0 หมื่นรายเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็น 2.2 ล้านราย สอดคล้องกับกลยุทธ์ของกลุ่มในการมุ่งเน้นเพิ่มฐานลูกค้าที่สมัครสมาชิกเพื่อผลักดันรายได้ให้เติบโตต่อไป