(7 พฤศจิกายน 2561) เอไอเอส จับมือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี IoT บนเครือข่ายอัจฉริยะ NB-IoT เพื่อสร้างนวัตกรรมสนับสนุนสมาร์ทซิตี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการคมนาคม ด้านคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ เพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน ล่าสุด ร่วมกันเปิดตัวระบบลานจอดรถอัจฉริยะ (KKU Smart Parking System) พร้อมให้บริการกับคณะอาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย ตอกย้ำความสำเร็จจากการร่วมพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมให้ก้าวหน้าและสามารถใช้งานได้จริง
โดยที่ผ่านมา เอไอเอส และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมกันพัฒนาโครงการ KKU Smart Trash หรือ ระบบติดตามถังขยะอัจฉริยะ ซึ่งประสบความสำเร็จ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนสนใจนำไปใช้อย่างแพร่หลาย จนกระทั่งได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ประเภทนวัตกรรมการบริการระดับดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เมื่อเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “นับจาก 1 ปีที่ผ่านมาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมลงนามความร่วมมือกับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในการนำเทคโนโลยี NB-IoT มาใช้ในการวิจัยโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ (Smart Infrastructure) โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำสิ่งประดิษฐ์และงานวิจัยของอาจารย์และนักศึกษา มาบูรณาการร่วมเทคโนโลยี NB–IoT ในการวิจัยโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมให้ก้าวหน้าสามารถใช้งานได้จริง โดยเชื่อมั่นว่า หลังจากนี้ จะมีผลงานทยอยออกมาสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง”
รศ.ดร.วนิดา แก่นอากาศ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “ลานจอดรถอัจฉริยะได้นำเทคโนโลยี NB–IoT (Narrow Band IoT) จากโครงการความร่วมมือด้านสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี NB–IoT ระหว่าง มข. และ AIS โดยได้มอบหมายให้สำนักหอสมุด ได้ทดลองและพัฒนาใช้เพื่อแก้ปัญหาที่จอดรถที่จำกัด ให้สามารถรองรับผู้รับบริการที่มีจำนวนมากในแต่ละวัน โดยระบบสามารถตรวจสอบสถานะการเข้าจอดของรถใน ลานจอดที่ใช้พลังงานต่ำ (Low Energy) และกระจายสัญญาณได้กว้างกว่า โดยแสดงผลออนไลน์ผ่านทาง โมบายแอปพลิเคชั่นและสามารถรายงานผลสรุปรายวัน รายเดือน และรายปี การใช้พื้นที่ลานจอดได้ผ่านเว็บไซต์ ทำให้ทราบพิกัดจุดจอดรถที่ให้บริการ จำนวนที่จอดรถที่มีสถานะว่าง ด้วยสัญลักษณ์สีเขียวคือว่าง และสีแดงคือ ไม่ว่าง ซึ่งกำลังมีการต่อยอดการพัฒนาให้สามารถจองล่วงหน้าพื้นที่จอดได้ด้วยในอนาคต ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้นำร่องในระยะที่ 1 ณ ลานจอดรถ 3 หน่วยงาน ได้แก่
1. ลานจอดรถอาคารสิริคุณากร (อาคารสำนักงานอธิการบดี)
2. ลานจอดรถอาคารสำนักหอสมุด
3. ลานจอดรถอาคารกัลยาณิวัฒนานุสรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
นายอุดมศักดิ์ โสมคำ หัวหน้าส่วนงานปฎิบัติการภูมิภาค – ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เอไอเอส กล่าวว่า “ในฐานะ Digital Life Service Provider เรามุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งมอบบริการให้แก่ลูกค้าและเสริมขีดความสามารถให้แก่ภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันนี้ ที่รูปแบบการใช้งานอุปกรณ์ IoT มีการเติบโต เป็นจุดเปลี่ยนในการยกระดับการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อประชาชนไปอีกขั้น ดังนั้นตั้งแต่ปี 2016 เราจึงเป็นรายแรกที่พัฒนาเครือข่าย AIS Narrow Band – Internet of Things ที่พร้อมรองรับการใช้งานกับอุปกรณ์และบริการ IoT ได้แล้วอย่างเต็มประสิทธิภาพตามมาตรฐานระดับสากล
“จากทั้งหมดนี้จึงเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการ Smart Parking ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะโครงการต้นแบบครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาได้มีโอกาสพัฒนา Innovation Idea อย่างเป็นรูปธรรมได้แล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นแก่นโยบายด้านบริหารจัดการ การจราจรของจังหวัดขอนแก่นและประเทศไทยได้อย่างแน่นอน”