3 มกราคม 2562 – บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เร่งเตรียมพร้อมแผนรับมือภัยพิบัติกรณีพายุ “ปาบึก” เข้าภาคใต้ผ่านอ่าวไทย ขึ้นฝั่งที่ชุมพร-สุราษฎร์ธานี สำหรับการป้องกันสถานีชุมสายและสถานีฐานให้บริการอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งรถโมบายล์ลงพื้นที่ภาคใต้ให้บริการสื่อสารเพิ่มเติมกรณีฉุกเฉินจากพายุลมแรง ฝนตกหนักและวิกฤตน้ำท่วมฉับพลัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ 

นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ดีแทคได้เตรียมความพร้อมโครงข่ายให้บริการสื่อสารกรณีภัยพิบัติจากพายุปาบึก (Pabuk storm) ที่เข้าไทย และคาดว่าจะส่งผลกระทบในพื้นที่หลายจังหวัดภาคใต้ โดยดีแทคได้เฝ้าระวังพื้นที่พิเศษ 16 จังหวัด คือ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง ภูเก็ต และสตูล เพื่อรับมือในกรณีเกิดภัยพิบัติฉุกเฉินจากพายุและน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง นอกจากทีมดีแทคประจำภาคใต้จะเตรียมพร้อมสำหรับให้บริการในพื้นที่แล้ว ดีแทคยังเตรียมทีมชุดภาคกลางและตะวันออกลงเสริมในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งนี้ ดีแทคได้ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เพื่อร่วมมือกันในการช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินต่างๆ เช่นช่วยขนย้ายสิ่งของจำเป็น ลำเลียงอุปกรณ์ช่วยเหลือ และรวมถึงเตรียมข้อมูลสำคัญในพื้นที่ต่างๆ”

สำหรับการเตรียมพร้อมของดีแทคในการรับมือพายุปาบึก และป้องกันชุมสายและสถานีฐานเพื่อให้บริการได้ต่อเนื่องในภาวะฉุกเฉิน มีดังนี้

 

  1. ดีแทคจัดเตรียมพร้อมรถโมบายล์เคลื่อนที่ภาคใต้ เพื่อให้บริการในสถานการณ์ฉุกเฉินจากฝนตกหนักและน้ำท่วม พร้อมทั้งได้เตรียมรถโมบายล์ในพื้นที่จังหวัดอื่น เช่น ภาคกลางและตะวันออก เข้าเสริมในพื้นที่ภาคใต้
  2. 2. จัดเตรียมเครื่องปั่นไฟฟ้าฉุกเฉิน และเตรียมน้ำมันสำรองไว้สำหรับกรณีที่มีการตัดกระแสไฟฟ้า โดยสถานีฐานดีแทคจะสามารถให้บริการต่อเนื่องได้หลังจากที่มีการตัดกระแสไฟฟ้า พร้อมกันนี้ ดีแทคได้มีการบริหารจัดการการใช้กระแสไฟฟ้าในสถานีฐานอย่างเหมาะสมและเป็นการลดกำลังการใช้งานเพื่อให้พลังงานที่มีอยู่ได้ใช้อย่างคุ้มค่าและยาวนานในกรณีน้ำท่วมและถูกตัดกระแสไฟฟ้า
  3. 3.จัดเตรียมพาหนะสำหรับลงพื้นที่ เช่น รถขับเคลื่อน 4 ล้อ และเรือท้องแบน สำหรับการเดินทางเข้า-ออกในพื้นที่สถานีฐานเพื่อดูแลและซ่อมแซมได้ทุกพื้นที่
  4. จัดเตรียมอะไหล่สำรองในการซ่อมบำรุง (Spare Parts) สำหรับชุมสายและสถานีฐานในกรณีฉุกเฉินจากพายุและน้ำท่วม
  5. 5.จัดเตรียมทีมงานโครงข่ายคอยตรวจสอบ และดูแลโครงข่ายตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งประสานงานกับทีมในภูมิภาคต่างๆ ของดีแทคในการเข้าช่วยเหลือฉุกเฉิน และมีการปรับแผนเรื่องกำลังคนเป็นระยะให้เหมาะสมต่อสถานการณ์
  6.  ประสานงานและร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กสทช. องค์การโทรศัพท์ รวมทั้งสถานีตำรวจ และโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ
  7. ประสานงานตลอดเวลากับการไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้มีการจ่ายไฟฟ้าให้กับชุมสายดีแทคอย่างต่อเนื่องในกรณีที่ต้องมีการตัดกระแสไฟฟ้าบางส่วนในบริเวณพื้นที่น้ำท่วม

 

ดีแทคได้ติดตามสถานการณ์พายุปาบึกอย่างใกล้ชิด โดยมุ่งให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ดีแทคยังพร้อมสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เข้าช่วยเหลือและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของผู้ประสบภัยในพื้นที่อีกด้วย

Comments

comments