“ช้างป่าบุกทำลายผลิตผลทางการเกษตร”
“ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เด็กต่างจังหวัดยากที่จะตามทันเด็กในเมือง”
“ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าเพื่อวางแผนรับมือได้”
“คนตาบอดเรียนรู้ได้ไม่เท่าคนตาดี”
“เด็กออทิสติกที่ยังอาบน้ำ แปรงฟันด้วยตัวเองไม่ได้”
เมื่อหันมองไปรอบตัว เราจะเห็นหลากหลายปัญหาและอุปสรรคมากมายรายล้อมอยู่ ซึ่งเกิดจากความไม่มี ไม่รู้ หรือขาดโอกาส ตรงข้ามกับอีกมุมหนึ่งของสังคม ที่คนเรามีชีวิตแสนสะดวกสบาย อยากกินก็ได้กิน อยากได้ก็ได้ซื้อ อยากไปไหนก็ได้ไป อยากรู้อะไรก็รู้ได้เพียงแค่เปิดมือถือเข้าอินเทอร์เน็ต ซึ่งทุกความต้องการเป็นไปได้
ภาพความสะดวกสบายอย่างมากของคนกลุ่มหนึ่งที่เกิดจากโอกาสในการมีเทคโนโลยี กับภาพของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่แม้แต่การใช้ชีวิตประจำวันตามปกติก็ยังเป็นเรื่องยาก ทำให้เกิดคำถามว่า “เราจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปหรือ” “แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง” ด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้กลุ่มทรู นำศักยภาพเทคโนโลยี เข้าไปมีส่วนร่วมในการลดช่องว่าง และทลายรั้วต่างๆ ที่ขวางกั้น โดยได้พัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ และสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่มีปัญหาและอุปสรรค ตามแนวคิดของกลุ่มทรูที่ว่า “เทคโนโลยีที่ดีจะไม่แยกใครออกจากกัน เพราะทุกชีวิตมีคุณค่า เราจึงไม่หยุดสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ยั่งยืน ให้มีความหมายต่อทุกชีวิต”
จากรั้วไฟฟ้า กลายเป็นเขตแดนที่สร้างความกลมกลืน
เมื่อความอุดมสมบูรณ์ของป่าลดน้อยลง อาหารตามธรรมชาติของช้างไม่เพียงพอ ช้างจึงออกมาหากินนอกอาณาเขตจนบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชน กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง จึงเป็นที่มาของความคิดค้นในการสร้างรั้วไฟฟ้าเพื่อป้องกันการบุกรุกของช้าง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นรั้วที่สร้างความเจ็บปวดให้กับช้าง
กลุ่มทรู ในฐานะผู้ให้บริการเทคโนโลยีสื่อสารและโทรคมนาคม ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน จึงร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ WWF ประเทศไทย หาแนวทางเพื่อลดความขัดแย้งและส่งเสริมให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับช้าง ผ่านโครงการ “เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า” (Elephant Smart Early Warning System) นำร่องในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยทรู ได้พัฒนานวัตกรรมโซลูชั่นที่ผสานศักยภาพเทคโนโลยีสื่อสารเข้ากับการทำงานของหน่วยลาดตระเวน เพื่อบันทึกภาพช้างและข้อมูลพิกัดแบบเรียลไทม์แล้วแจ้งเตือนการเคลื่อนไหวผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อเจ้าหน้าที่จะทำการหาทางผลักดันช้างเข้าป่า ก่อนที่จะบุกรุกถึงพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชน ทำให้ช่วยทลายความขัดแย้งระหว่างช้างกับชาวบ้านได้
“บัวลอย” ช่วยจัดการน้ำ
อีกหนึ่งนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของกลุ่มทรู ที่พัฒนาขึ้นในยุคของบิ๊กดาต้า ที่เชื่อว่าการมีข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็วสามารถช่วยให้การบริหารจัดการเรื่องต่างๆ เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับประเทศไทยที่เผชิญปัญหาเรื่องน้ำมาตลอด ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง การมีข้อมูลเรียลไทม์ระดับน้ำในแหล่งน้ำขนาดเล็กที่มีความจุน้อยกว่า 50 ลูกบาศก์เมตร จะช่วยวางแผนการใช้น้ำและระบายน้ำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะประเทศไทยมีแหล่งน้ำลักษณะนี้อยู่มากกว่า 100,000 แห่ง กระจายอยู่ตามชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างทรู และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.)ในการพัฒนาอุปกรณ์วัดระดับน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ราคาประหยัด ที่สามารถส่งข้อมูลผ่านซิมการ์ดทรูมูฟ เอช ไปยังระบบคลาวด์ เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมบริหารการจัดการน้ำสำหรับการอุปโภค บริโภค และการเกษตรให้มีใช้เพียงพอตลอดปี และสร้างความเข้าใจด้านการใช้ทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด ส่งผลให้ประเทศไทยมีข้อมูลต้นทุนน้ำที่เพียงพอสำหรับบริหารจัดการน้ำได้ในทุกระดับตั้งแต่ชุมชน ภูมิภาค และระดับประเทศ ทั้งในยามปกติและภาวะวิกฤติ
ระยะทางต้องไม่ใช่อุปสรรคปิดกั้นการเรียนรู้
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นหนึ่งปัญหาสำคัญระดับชาติ ดังนั้น ในฐานะสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED กลุ่มทรู ได้ร่วมสร้างโอกาสเพิ่มการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลแก่โรงเรียนในโครงการกว่า 3,351 โรงเรียน ครอบคลุม 39,839 ห้องเรียน อีกทั้งช่วยพัฒนาทักษะด้านไอซีทีแก่ครูและนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ที่นักเรียนสนใจ ตามหลักการเรียนการสอนแบบยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางได้อย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการจัดส่งผู้นำไอซีที 200 คน ไปประจำตามโรงเรียนเพื่อให้คำแนะนำการใช้งานไอซีทีที่ถูกต้อง ตลอดจนส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้จากสื่อการสอนที่ทันสมัย ลดปัญหาครูไม่ครบวิชา นักเรียนได้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ตั้งคำถาม ค้นคว้าหาคำตอบ ลงมือปฏิบัติจริง ผลที่ได้คือให้คะแนน O-Net ของกลุ่มโรงเรียนประชารัฐภายใต้การดูแลเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ
We Grow จุดนัดพบของคนรักษ์ต้นไม้
การที่คนเมืองที่นึกอยากจะปลูกต้นไม้เล็กๆ ในกระถาง หรือคนปลูกต้นไม้อยากแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ ดอกไม้ กับคนรักต้นไม้ด้วยกัน อาจเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่เมื่อมีแอปพลิเคชัน We Grow ที่ทรูพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นคลังข้อมูลความรู้เรื่องต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุด ทั้งต้นไม้หายาก วิธีการปลูก การดูแลรักษา สามารถบันทึกข้อมูลต้นไม้ที่ปลูก ค้นหา และดูเทคนิคการดูแลรักษาต้นไม้ ติดตามการเจริญเติบโตของต้นไม้ที่ตนเองปลูก และเป็นแหล่งพบปะกันระหว่างกลุ่มคนรักต้นไม้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงเกิดขึ้นไม่มีวันสิ้นสุด นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากต้นไม้ที่ปลูก ที่แสดงถึงการมีส่วนร่วมในการรักษ์โลกของผู้ใช้อีกด้วย ปัจจุบัน แอปพลิเคชัน We Grow สามารถดาวน์โหลดและใช้งานได้ฟรี ทั้งในระบบ iOS และแอนดรอยด์ ในภาษาไทย อังกฤษ เยอรมัน และจีน
ลดช่องว่างทางการเรียนรู้และสื่อสารสำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น
อุปกรณ์ BrailleNoteTaker ซึ่งพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยมหิดลและทรู เกิดขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้บกพร่องทางการมองเห็น หรือคนตาบอดสามารถเรียนรู้ร่วมกับคนทั่วไปได้ดียิ่งขึ้น ทำให้คนตาบอดสามารถจดบันทึกได้ด้วยตัวเอง ผ่านเครื่องมือขนาดพกพาที่มีปุ่มกดเป็นอักษรเบรลล์ ที่จะแปลงข้อมูลเป็นอักษรไทยหรืออังกฤษ และเสียงอ่าน ซึ่งสามารถส่งข้อมูลผ่านบลูทูธไปยังอุปกรณ์ต่างๆ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ เพื่อติดต่อสื่อสารกับคนทั่วไป และสามารถเปิดฟังบันทึกที่จดไว้ได้ด้วย โดยนอกจากการพัฒนาอุปกรณ์แล้ว ยังจัดอบรมการใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวให้กับครูและนักเรียนตาบอดของโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ภายใต้มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อให้สามารถใช้อุปกรณ์ดังกล่าวในการจดบันทึกและเรียนรู้ร่วมกับเด็กนักเรียนทั่วไปได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
พัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตผู้มีภาวะออทิสติกผ่านแอปพลิเคชัน Autistic
ภายใต้แนวคิด Creating a Better Life for Vulnerable Groups กลุ่มทรู ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน Autistic ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างทักษะพื้นฐานที่จำเป็น ทั้งด้านสติปัญญา และกายภาพ การเคลื่อนไหวของเด็กออทิสติก ครอบคลุมทุกระดับ สามารถใช้ได้ถึง 3 ภาษา ทั้งไทย อังกฤษ จีน แอปพลิเคชัน Autistic ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังเคยติดหนึ่งใน 10 แอปพลิเคชันการศึกษาที่ได้รับความนิยมสูงสุดใน 25 ประเทศทั่วโลก สามารถใช้ได้ทั้งในระบบปฏิบัติการ iOS และ Andriod ด้วยประสิทธิภาพดังกล่าวของแอปพลิเคชัน ทำให้เด็กออทิสติกหลายพันคนได้รับการพัฒนาทั้งด้านกายภาพ และสมาธิ เรียนรู้ ฝึกฝนทักษะและกิจวัตรที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน การอาบน้ำ แปรงฟัน ตลอดจนการสื่อสารเพื่อใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข และสามารถนำศักยภาพออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ โดยกลุ่มทรู ได้ร่วมกับมูลนิธิออทิสติกไทย จัดทำหลักสูตรอบรมการใช้งานแอปพลิเคชันเพื่อเป็นเครื่องมือในการฝึกทักษะด้านต่างๆ ของเด็กออทิสติกทั่วประเทศ ที่อยู่ภายใต้เครือข่ายมูลนิธิฯ รวมกว่า 20 จังหวัด พร้อมมอบแท็บเล็ตจำนวน 2,000 ชุด ที่ดาวน์โหลดมาพร้อมแอปพลิเคชัน Autistic รวมทั้ง ดาต้า แพ็กเกจ เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถนำไปฝึกเด็กออทิสติกได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีเยาวชนออทิสติก ผู้ดูแล และผู้ปกครองได้รับการอบรมกว่า 2,000 คน
การนำเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญของกลุ่มทรู มาเชื่อมต่อให้ทุกชีวิตอยู่ร่วมกันได้ ทำให้ S&P Dow Jones Indices และ RobecoSAM จัดอันดับให้ทรู คอร์ปอเรชั่น เป็นสมาชิก DJSI (Dow Jones Sustainability Indices) ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลกติดต่อกัน 3 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2560 – 2562 และที่น่าสนใจ คือ ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งของโลกในกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมสองปีติดต่อกัน (ปี 2561-2562) นับเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายแรกและรายเดียวของไทยที่ได้รับคัดเลือกจาก S&P Dow Jones Indices และ RobecoSAM ซึ่งการได้มาของตำแหน่งผู้นำในอุตสาหกรรมระดับโลกนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นการพิจารณาจากการดำเนินธุรกิจและโครงการต่างๆ ที่ทรูตั้งใจทำ จนเป็นผลงานที่โดดเด่นในสายตาโลก และส่งเสริมความยั่งยืนในสังคมได้อย่างแท้จริง
และเพื่อให้ทุกคนได้รู้จักกับนวัตกรรมต่างๆ ด้านความยั่งยืนที่ทรูดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถเลือกไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้บ้าง ทรูจึงรวบรวมบางส่วน ผ่านหนังสั้นเรื่อง “รั้ว” ซึ่งสามารถรับชมได้ทาง YouTube TMH Facebook, True Together และ TruePlookpanya