มหาวิทยาลัยขอนแก่น 3 กุมภาพันธ์ 2563 – กลุ่มทรูมุ่งมั่นพัฒนาเครือข่าย 5G ที่ดีที่สุด เพื่อคนไทย โดยนายธวัชชัย ฤกษ์สำราญ (ที่ 4 จากซ้าย) เลขานุการคณะทำงาน และกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ประกาศความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ผศ.ดร. เด่นพงษ์ สุดภักดี (ที่ 5 จากซ้าย) รองอธิการบดี ฝ่ายพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัล และรศ.ดร. ดรุณี โชดิษฐยางกูร (ที่ 5 จากขวา) คณบดี คณะเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วยพันธมิตรภาคการเกษตรชั้นนำ ได้แก่ บริษัท ซีพีเอฟ โดย นายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์ (ที่ 4 จากขวา) รองกรรมการผู้จัดการบริหารธุรกิจอาหารสัตว์บก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด โดย นายรักชาติ อรุณาทิตย์ (ที่ 2 จากขวา) รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส และบริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยนายอำนาจ บุตรทองคำวงษ์ (ที่ 3 จากซ้าย) ผู้จัดการส่วนคูโบต้าโซลูชั่น นำเทคโนโลยี 5G และนวัตกรรมร่วมยกระดับคุณภาพการผลิตสินค้าเกษตรไทย และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก ทั้งภาคการเกษตร และปศุสัตว์ ภายใต้ ‘True 5G World of Agriculture’
การผนึกกำลังในครั้งนี้ ถือเป็นการร่วมมือทั้งภาคนักวิชาการ-วิจัย คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และภาคเอกชน ได้แก่บริษัทในเครือซีพี สยามคูโบต้า และทรู โดยร่วมกันนำเทคโนโลยี 5G มาช่วยพัฒนาภาคเกษตรกรรม โดยแบ่งเป็น 3 โครงการ ดังนี้
1) Smart Farm ฟาร์มไก่อัจฉริยะ พัฒนาต่อยอดความร่วมมือที่ซีพีเอฟร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยนำศักยภาพ 5G ร่วมกับการติดตั้งอุปกรณ์ IoT เพิ่มเติม อาทิเช่น กล้อง AI เพื่อดูสุขภาพของไก่ และเพิ่มเซนเซอร์สำหรับโรงเรือน เพื่อทดสอบนวัตกรรมโรงเรือนไก่ที่ทันสมัย ประมวณผลผ่านแพลตฟอร์ม Smart Agriculture Solution และจัดเก็บบน Cloud
2) Smart Crop แปลงข้าวโพดอัจฉริยะ เป็นการนำ5G ทำงานร่วมกับ อุปกรณ์ IOT ต่าง ๆ อาทิเช่น ระบบตรวจจับสภาพอากาศ ระบบการควบคุมน้ำ และการใช้โดรน AI มาตรวจสุขภาพของพืช และการใส่ปุ๋ย เพื่อนำมาใช้บริหารจัดการแปลงข้าวโพด ตลอดจนการวัดคุณภาพของเมล็ดพันธุ์จากการเก็บเกี่ยว และการจัดเก็บข้อมูล
3) Smart Farming Machines เครื่องจักรกลทางการเกษตรอัจฉริยะ เป็นการนำเทคโนโลยี 5G AR (Augmented Reality) มาทดลองใช้ในการซ่อมเครื่องจักรกลทางไกล โดยช่างผู้ชำนาญ เพิ่มความรวดเร็วทำให้เครื่องจักรกลมีสภาพพร้อมใช้งาน และทันต่อฤดูกาลเพาะปลูกผลผลิต โดยมีบริษัท ฟินน์ โซลูชั่น จำกัด เป็นผู้จัดทำคอนเทนต์ AR นอกจากนี้ยังมีการร่วมกันพัฒนาเครื่องจักรกลแบบไร้คนขับ เกษตรกรสามารถควบคุมทำงานของเครื่องจักรกลได้ด้วยเครื่องมือสื่อสารผ่านสัญญาณทรู 5G
สำหรับการร่วมพลังกันในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการนำเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญของทุกภาคส่วนมาร่วมพัฒนาภาคเกษตรไทยให้แข็งแรง และยั่งยืน เพื่อให้เกษตรกรไทยมีรายได้สูง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพภูมิอากาศ และการแข่งขันของโลก ด้วยการนำข้อมูลมาวางแผนและคาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะส่งผลต่อประเทศชาติในการก้าวสู่ความเป็นผู้นำในด้านการผลิตอาหารที่สำคัญของโลก