ภาพ: หน้าตาภายในเว็บไซต์ mastodon.in.th
โซเชียลมีเดียที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน เช่น Facebook, Instagram, Twitter และ YouTube เป็นแพลตฟอร์มที่ถูกควบคุมโดยบริษัทเดียว (เช่น Facebook เป็นเจ้าของ Facebook และ Instagram) และข้อมูลทั้งหมดถูกรวมไว้ที่จุดเดียว
ซึ่งแม้จะใช้งานง่าย มีข้อมูลให้เลือกชมเป็นจำนวนมาก และมีคุณสมบัติต่าง ๆ มากมาย แต่ในขณะเดียวกัน เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ ก็มีข้อเสีย เช่น ดูแลเนื้อหาและปัญหาต่าง ๆ ไม่ทั่วถึง มีโฆษณาจำนวนมาก (รวมถึงการแสดงโฆษณาตามเนื้อหาที่เคยเข้าชม) มีการกำหนดกฎระเบียบเพื่อควบคุมเนื้อหาที่อนุญาตให้เผยแพร่ได้ และเนื่องจากข้อมูลต่าง ๆ ถูกรวบรวมไว้ที่จุดเดียว หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นอาจส่งผลให้ทั้งระบบไม่สามารถเข้าถึงได้ตามปกติ (ซึ่งเรามักจะเรียกว่า “ระบบล่ม”)
วันนี้ผมจึงขอพาไปรู้จักกับ Mastodon ซึ่งเป็นระบบที่ไม่ได้ถูกควบคุมโดยบริษัทเดียวกันครับ
Mastodon คืออะไร?
อธิบายแบบเข้าใจง่าย ๆ เลย Mastodon ก็คือแพลตฟอร์มที่สามารถใช้แทน Twitter และ Facebook ได้ แตกต่างตรงที่ Mastodon เป็นแพลตฟอร์มที่ไม่มีศูนย์กลาง (decentralized) และไม่มีการควบคุมโดยบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าหน่วยงานต่าง ๆ และคนที่ต้องการเปิดเว็บไซต์ที่ทำงานบนแพลตฟอร์ม Mastodon สามารถเปิดเว็บไซต์ของตนเองได้
พูดง่าย ๆ คือการที่ต่างคนต่างเปิดระบบเป็นของตนเอง ทำให้แต่ละเว็บไซต์มีกฎระเบียบและประเภทของเนื้อหาที่แตกต่างกัน ผู้ใช้ทั่วไปจึงสามารถเลือกเว็บไซต์ที่ตัวเองต้องการเข้าไปลงทะเบียนได้เหมือนเลือกผู้ให้บริการอีเมลเลย ถ้าเรามีปัญหาในการใช้งานก็สามารถรายงานหรือส่งข้อความแจ้งไปยังผู้ให้บริการโดยตรงได้
และจากการเป็นแพลตฟอร์มไม่มีศูนย์กลาง ทำให้มีข้อดีอื่น ๆ มากมาย เช่น สามารถดูโพสต์ โปรไฟล์ และเนื้อหาต่าง ๆ ข้ามเว็บไซต์หรือแม้กระทั่งข้ามแพลตฟอร์มได้ และสามารถแสดงความคิดเห็นข้ามกันได้ รวมถึงมีความเป็นไปได้น้อยกว่าที่แพลตฟอร์มจะเกิดการ “ล่ม” ทั้งระบบ
นอกจากนี้ เนื้อหาที่เผยแพร่ใน Mastodon ไม่ได้ถูกจัดอันดับการแสดงผลโดยอัลกอริทึ่ม เราจึงไม่ต้องกังวลว่าโพสต์แบบไหนจะมีการมองเห็นน้อย
มีใครใช้บ้าง?
จากหน้าแรกของเว็บไซต์ Mastodon ระบุว่าแพลตฟอร์มนี้มีผู้ใช้งานมากกว่า 4.4 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีคนสร้างบอตที่คอยดึงเนื้อหาจากบัญชีผู้ผลิตสื่อหลัก ๆ อย่างในประเทศไทยมี The MATTER ที่มีผู้สร้างบอตเพื่อเผยแพร่เนื้อหาใน Mastodon แล้ว ทำให้เราสามารถเข้าถึงเนื้อหาของสื่อดังกล่าวผ่าน Mastodon ได้เลย
อยากเริ่มใช้แล้ว ต้องทำอย่างไร?
ภาพ: joinmastodon.org
หากต้องการเริ่มต้นใช้งาน Mastodon เราขอแนะนำ mastodon.in.th ที่เป็นเว็บไซต์ Mastodon สำหรับคนไทยเป็นหลัก สามารถไปที่เว็บไซต์และสร้างบัญชีได้เลย ดูวิธีการสมัครและใช้งานได้ที่นี่
นอกจากนี้หากต้องการหาเว็บไซต์อื่น ๆ ที่ต้องการสร้างบัญชี สามารถดูรายชื่อเว็บไซต์ได้ที่นี่ แล้วเลื่อนลงไปด้านล่าง จะเห็นรายชื่อเว็บไซต์ต่าง ๆ ดังภาพด้านบน สามารถเลือกเว็บไซต์ที่ต้องการลงทะเบียนได้
แล้วแอปมือถือล่ะ?
Mastodon มีแอปมือถือมากมายให้เลือกใช้ตามลิงก์นี้ อย่าลืมว่าแอปส่วนใหญ่ต้องระบุเว็บไซต์ Mastodon ที่เราต้องการใช้งานหรือบัญชีอยู่ก่อนจึงจะมีตัวเลือกให้สร้างบัญชีหรือเข้าสู่ระบบในเว็บไซต์นั้น ๆ นอกจากนี้ถ้าคิดว่าตัวเลือกตามลิงก์ด้านบนยังไม่มากพอ สามารถค้นหาคำว่า Mastodon ใน App Store หรือ Play Store แล้วเลือกแอปที่ต้องการใช้ได้เลย
บทความที่เกี่ยวข้อง
- วิธีสร้างบัญชีและเริ่มใช้ Mastodon ตั้งแต่เริ่ม
- รวมเว็บไซต์และแอปเจ๋ง ๆ ใช้แทนบริการของ Google ในปี 2020