กรุงเทพฯ, วันที่ 20 พฤษภาคม 2563 – วีซ่าผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก  ได้เผยถึงผลการสำรวจที่น่าสนใจเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนด้านอุปนิสัยและพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวไทย ในยุคที่สังคมทั่วโลกกำลังปรับตัวเข้าสู่ “นิวนอร์มอล” หรือ “วิถีชีวิตใหม่” โดยผลการศึกษาครั้งนี้เกิดขึ้นจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างใน 40 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยวีซ่า

จากการสำรวจพบว่า 3 ใน 5 ของคนไทย (61 เปอร์เซ็นต์) กำลังพัฒนานิสัยในการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด โดยเลือกที่จะใช้จ่ายด้วยบัตรชำระเงินหรือผ่านแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนมากกว่าการใช้เงินสด  นอกจากนี้ เกือบ 7 ใน 10 ของคนไทย (69 เปอร์เซ็นต์) กล่าวว่า พวกเขามีแนวโน้มที่จะผูกติดกับการใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัลแทนการกลับไปใช้เงินสดแบบเดิมหลังสถานการณ์ปัจจุบันสิ้นสุดลง

นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “วีซ่า ทำการสำรวจในครั้งนี้ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างความเข้าใจในพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยอย่างทันท่วงที ถ่องแท้ และชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกฝ่ายกำลังปรับตัวเข้าสู่ “นิวนอร์มอล” นอกจากนี้เราเชื่อว่าความร่วมมือเป็นกุญแจสำคัญสู่ความก้าวหน้า  ดังนั้นเราประสงค์ที่จะแบ่งปันข้อมูลอันเป็นประโยชน์นี้เพื่อช่วยอีโคซิสเท็มและธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทยเพื่อให้สามารถปรับตัวและเปิดรับสภาพที่เป็นจริงแบบใหม่  และท้ายที่สุดความร่วมมือของพวกเราทุกคนจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปในทิศทางที่ถูกต้องได้”

แม้ว่าประชากรทั่วโลกมีความกังวลในเรื่องสุขภาพร่างกาย กระนั้นก็ยังพบว่าผู้บริโภคชาวไทยและทั่วโลกกลับมีความกังวลด้านสุขภาพทางการเงินมากกว่า โดย 4 ใน 5 (79 เปอร์เซ็นต์) ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยเห็นพ้องว่าสถานการณ์ปัจจุบันทำให้พวกเขาจำเป็นต้องมีการปฏิบัติตัวในเชิงรุกมากขึ้นกับการวางแผนด้านการเงิน เปรียบเทียบกับอีกครึ่งหนึ่งโดยประมาณ (53 เปอร์เซ็นต์) ที่บ่งชี้ถึงความกังวลของพวกเขาในเรื่องการเจ็บป่วย

ผู้บริโภคชาวไทยจำนวนมากเริ่มจับจ่ายใช้สอยผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซเป็นครั้งแรก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการซื้อสินค้าออนไลน์มากยิ่งขึ้นในอนาคต จากผลการสำรวจ 67 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคชาวไทย กล่าวว่า พวกเขาน่าจะมีการซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยเป็นจำนวนเกือบเท่าตัวของนักช้อปทั่วโลก (35 เปอร์เซ็นต์) และค่อนข้างจะมากกว่าค่าเฉลี่ย                  (47 เปอร์เซ็นต์) สำหรับนักช้อปในแถบเอเชียแปซิฟิก

เมื่อพูดถึงประสบการณ์การช้อปปิ้ง มากกว่าครึ่ง (54 เปอร์เซ็นต์) ของกลุ่มตัวอย่างชาวไทย กล่าวว่า การช้อปปิ้งออนไลน์ให้ประสบการณ์ที่ดีมากกว่าการช้อปปิ้ง ณ ร้านค้าแบบเดิม เปรียบเทียบกับข้อมูล 46 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างในเอเชียแปซิฟิก และ 37 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างทั่วโลก

การศึกษาครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นด้วยว่าการเสริมสร้างนิสัยการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดกำลังก่อตัวขึ้นทั่วโลก โดย 61 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างชาวไทย กล่าวว่า พวกเขาชอบที่จะชำระด้วยวิธีที่ไม่ใช้เงินสดมากกว่า  ในทำนองเดียวกัน 58 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างในเอเชียแปซิฟิก และ 64 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างทั่วโลก กล่าวว่า พวกเขาก็ชอบวิธีการชำระแบบไร้เงินสดมากกว่า

อนึ่ง แนวโน้มด้านการชำระเงินของผู้คนทั่วโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตดูจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก โดยผู้บริโภคชาวไทย (69 เปอร์เซ็นต์) เอเชียแปซิฟิก (75 เปอร์เซ็นต์) และทั่วโลก (66 เปอร์เซ็นต์) เลือกที่จะใช้วิธีการชำระแบบไร้เงินสดหลังจากสถานการณ์ในปัจจุบันสิ้นสุดลง

ในทางตรงข้าม มีเพียง 1 ใน 4 (24 เปอร์เซ็นต์) ของผู้บริโภคชาวไทย เปิดเผยว่า พวกเขาจะกลับไปชำระด้วยเงินสดอีกครั้งเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น  เปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างในเอเชียแปซิฟิก (17 เปอร์เซ็นต์) และทั่วโลก (20 เปอร์เซ็นต์)  โดยผู้บริโภคที่เหลือยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะยังคงเลือกชำระเงินด้วยวิธีแบบใหม่นี้หรือกลับไปใช้วิธีการแบบเดิม นั่นคือ                     14 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคทั่วโลก ตามมาด้วยผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิก (8 เปอร์เซ็นต์) และประเทศไทย (7 เปอร์เซ็นต์)

อีกทั้งผู้บริโภคยังมีความคำนึงในเรื่องของราคามากขึ้นด้วย  โดยเกือบ 4 ใน 5 (78 เปอร์เซ็นต์) ของคนไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันพวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องราคามากยิ่งขึ้น  เทียบกับผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิก (59 เปอร์เซ็นต์) และทั่วโลก           (53 เปอร์เซ็นต์)  นอกจากนั้นผู้บริโภคชาวไทยยังให้ความสนใจกับสินค้าลดราคา โดย 65 เปอร์เซ็นต์จะพุ่งความสนใจไปที่สินค้าปรับราคาลง  เปรียบเทียบกับผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิก (45 เปอร์เซ็นต์) และทั่วโลก (41 เปอร์เซ็นต์)

ส่วนการวางแผนทางด้านการเงินก็เป็นอีกประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในอันดับต้นๆ  โดย 79 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยเชื่อว่ายามนี้พวกเขาจำเป็นต้องปรับตัวและให้ความสำคัญด้านการบริหารจัดการด้านการเงินของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่ากลุ่มตัวอย่างในเอเชียแปซิฟิก (74 เปอร์เซ็นต์) และทั่วโลก (70 เปอร์เซ็นต์) ตามลำดับ

“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลการสำรวจนี้จะช่วยจุดประกายไอเดียใหม่ๆ รวมทั้งบทสนทนา และผลักดันความร่วมมือภายในอุตสาหกรรมการชำระเงิน และภาคส่วนอื่นๆ ในประเทศไทยในระหว่างที่พวกเราทุกคนกำลังปรับตัวเองและช่วยเหลือผู้บริโภคปรับตัวเข้าสู่นิวนอร์มอลอย่างไร้รอยต่อ  ทั้งนี้ วีซ่าจะยังคงใช้ประโยชน์จากข้อมูลต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดโซลูชั่น นวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และใช้ความสามารถของเครือข่ายระดับโลกของเราให้เกิดประโยชน์ โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยให้กลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและอย่างยั่งยืน”              นายสุริพงษ์ กล่าวสรุป

Comments

comments