กรุงเทพฯ, ประเทศไทย, 22 มิถุนายน 2563 – อีริคสัน (NASDAQ: ERIC) คาดว่าจำนวนผู้ใช้ระบบเครือข่าย 5G ทั่วโลกภายในสิ้นปี 2563 จะสูงถึง 190 ล้านรายและจะเพิ่มเป็น 2.8 พันล้านราย ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียจะใช้เทคโนโลยีเซลลูล่าร์ผ่าน 5G เป็นอันดับสองรองจากเทคโนโลยี LTE และภายในปี 2568 จำนวนผู้ใช้ 5G จะเพิ่มเป็น 270 ล้านราย หรือคิดเป็น 21% ของจำนวนผู้ใช้มือถือทั้งหมด

ข้อมูลคาดการณ์ดังกล่าวได้ระบุไว้ในรายงาน Ericsson Mobility Report ประจำเดือนมิถุนายน 2563 รวมไปถึงข้อมูลประมาณการเติบโตของดาต้าอินเตอร์เน็ตและจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละภูมิภาค รายงานดังกล่าวนี้ยังทำการวิเคราะห์ถึงบทบาทเครือข่ายและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่หลายคนต้องทำงานและใช้ชีวิตอยู่บ้านโดยเชื่อมต่อกันผ่านอินเตอร์เน็ต

นางนาดีน อัลเลน ประธานบริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “โควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการ ดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกต้องเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับปริมาณการรับส่งข้อมูลบนเครือข่าย ที่เปลี่ยนแปลงพื้นที่จากย่านธุรกิจไปสู่ชุมชนที่พักอาศัยอย่างรวดเร็ว เมื่อผู้คนต้องทำงานหรือเรียนที่บ้าน โดยรายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด แสดงให้เห็นว่าการใช้เครือข่ายมือถือและเครือข่ายอินเตอร์เน็ตบ้าน กำลังเพิ่มบทบาทสำคัญมากขึ้นในฐานะโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ”

ขณะที่ตลาดผู้ใช้เครือข่าย 5G บางแห่งเติบโตแบบชะลอตัว อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 เมื่อเทียบกับตลาดอื่น ๆส่วนใหญ่ที่กำลังเร่งพัฒนาเครือข่าย 5G ซึ่งเป็นการส่งสัญญานให้อีริคสัน ปรับเพิ่มประมาณการผู้ใช้ 5G ทั่วโลก ณ สิ้นปี 2020

“นอกเหนือไปจากการเพิ่มยอดผู้ใช้ 5G แล้ว 5G ยังมอบประโยชน์มหาศาลให้กับทั้งภาคธุรกิจ และภาคประชาชน 5G ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อต่อยอดพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ และวิกฤติการณ์นี้ได้แสดง ถึงคุณค่าที่แท้จริงของระบบการสื่อสาร รวมถึงบทบาทสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจอีกด้วย” นางนาดีนกล่าวเพิ่มเติม

คาดการณ์ว่าปริมาณการใช้งานอินเตอร์เน็ตต่อสมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่องในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียจะสูงถึง 25GB ภายในปี 2568 หรือเติบโตเฉลี่ย 33 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยอัตราการเติบโตเกิดจากพื้นที่ใช้งานและการใช้สัญญาณเครือข่าย 4G และการใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงอัตราเฉลี่ยการใช้ดาต้าต่อสมาร์ทโฟน คาดว่าการใช้งานโมบายล์ดาต้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสูงถึง 25 EB ต่อเดือน จากปกติที่ 3.2 EB ต่อเดือน หรือมีอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคเนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์ส่งผลให้การใช้งานเครือข่ายมือถือและอินเตอร์เน็ตบ้านเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน โดยในย่านที่พักอาศัยมีปริมาณการใช้ดาต้าอินเตอร์เน็ตผ่านเครือข่ายบรอดแบนด์เติบโตราว 20-100% แต่ขณะเดียวกันผู้ให้บริการก็สังเกตเห็นความต้องการใช้งานเครือข่ายมือถือเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ผลวิจัยล่าสุดโดย Ericsson Consumer Lab ระบุ 83% ของผู้ตอบแบบสำรวจจาก 11 ประเทศ ที่ใช้งานเทคโนโลยี ICT อย่างมีนัยสำคัญช่วงล็อคดาวน์ เผยว่าในช่วงล็อคดาวน์ คนเหล่านั้นเปิดใช้บริการเทคโนโลยี ICT ต่าง ๆ มากขึ้น อาทิ แอปฯ เรียนออนไลน์และ แอปฯ ดูแลสุขภาพ ที่ช่วยให้พวกเขาปรับตัวเข้ากับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ผ่านการเชื่อมต่อเครือข่าย

ขณะที่ 57% ระบุว่าพวกเขาจะเก็บเงินเพื่อความมั่นคงทางการเงินในอนาคต โดย 1 ใน 3 มีแผนใช้เงินไปกับเครือข่าย 5G และพร้อมปรับปรุงระบบเครือข่ายบรอดแบนด์ที่บ้านให้รองรับการใช้งานได้ดีขึ้นเพื่อเตรียมรับมือหากเกิดการระบาดรอบสอง

โอกาสทางธุรกิจของ 5G  

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเสริมการดำเนินธุรกิจทั่วโลก นอกจากเปิดโอกาสให้องค์กรเชื่อมต่อกับลูกค้าหรือดำเนินธุรกรรมทางการเงินผ่านอินเตอร์เน็ตได้อย่างไม่สะดุดแล้ว ระบบเครือข่าย 5G และเทคโนโลยีดิจิทัลยังสร้างโอกาสการขยายธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ๆ แก่ผู้ให้บริการเครือข่าย อาทิ สุขภาพ ยานยนต์ และการผลิต

นายวุฒิชัย วุติอุดมเลิศ หัวหน้าฝ่ายเน็ตเวิร์กโซลูชัน บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “อีริคสันมีผลิตภัณฑ์และบริการ 5G ที่ครอบคลุมและเหมาะสม พร้อมให้ลูกค้านำไปปรับใช้กับเครือข่าย 5G ในทุกย่านความถี่หลักทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด เรามั่นใจว่าจะได้เห็นนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนและสร้างขึ้นจาก 5G สำหรับธุรกิจ รวมถึงกรณีศึกษาในเรื่อง IoT ทั้งนี้ 5G จะเข้าไปช่วยปลดล็อคโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับผู้ให้บริการ”

ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เปิดใช้ระบบเครือข่าย 5G เชิงพานิชย์เมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ มีการประเมินว่าในปี 2568 ระบบเครือข่าย 5G จะสร้างรายได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ราว 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Comments

comments