“สภาพัฒน์” ลั่นไม่ได้ติดใจแผนฟื้นฟู ขสมก. ส่งเสียงหนุนไป ครม. นานแล้ว รอแค่คมนาคมส่งแผนลงทุนซื้อรถเมล์ใหม่มาให้เคาะตามขั้นตอน ด้าน “ทีดีอาร์ไอ” ยกนิ้วจ้างเอกชนวิ่งเป็นไอเดียที่ดีมาก คิดกันมานานแต่ไม่เกิดขึ้นจริงสักที เชื่อหาก ครม.ไฟเขียวแผนฟื้นฟูฯ จะเกิดประโยชน์ทั้ง ขสมก.-ประชาชน
ภายหลังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สคม.) ตีกลับแผนฟื้นฟูกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ให้หารือในรายละเอียดกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)อีกครั้ง ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้ใช้รถเมล์โฉมใหม่ที่เป็นรถพลังงานไฟฟ้า ลดมลภาวะ PM 2.5 แอร์เย็นฉ่ำในราคาสบายกระเป๋า
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์” ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้แผนฟื้นฟูฯ ขสมก. ไม่ได้ติดอยู่ที่สภาพัฒน์ และกระทรวงคมนาคม ไม่จำเป็นต้องนำแผนฟื้นฟูฯ มาให้สภาพัฒน์พิจารณาก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องนี้อาจเป็นการเข้าใจผิด อย่างไรก็ตามสิ่งที่กระทรวงคมนาคมต้องเสนอมาให้สภาพัฒน์พิจารณาคือ แผนการลงทุนในการจัดหารถโดยสารประจำทางใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในแผนฟื้นฟูฯ ถือเป็นกระบวนการปกติของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหากต้องจัดซื้อจัดจ้างต้องส่งมาให้สภาพัฒน์พิจารณาด้วย ไม่ได้เกี่ยวกับแผนฟื้นฟูฯ
“ยืนยันว่าสภาพัฒน์ไม่ได้มีประเด็นอะไรเกี่ยวกับแผนฟื้นฟู ขสมก. ซึ่งก่อนหน้านี้สภาพัฒน์ได้ส่งความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูฯ ไปยัง ครม. นานมากแล้ว โดยไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใด เวลานี้หากแผนพื้นฟูฯจะเข้าครม. ก็เข้าไปได้เลย ไม่ต้องส่งมาที่สภาพัฒน์ เรื่องที่ต้องส่งมาคือแผนที่ ขสมก. จะลงทุนซื้อรถเมล์ใหม่ อย่างไรก็ตามสภาพัฒน์พร้อมที่จะชี้แจง และเตรียมนัดหารือกับทางกระทรวงคมนาคมในเร็วๆ นี้ หากเรื่องนี้จะมีประเด็นน่าจะอยู่ที่เรื่องภาระหนี้ของ ขสมก. มากกว่า โดยเป็นเรื่องของสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ไม่ได้เกี่ยวกับสภาพัฒน์แต่อย่างใด” นายดนุชา กล่าว
ด้าน ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ในหลักการแผนฟื้นฟูฯดังกล่าวถือว่าเป็นแผนที่ดี โดยเฉพาะเรื่องการจ้างเอกชนวิ่งรถโดยสารตามระยะทางที่ให้บริการ โดยจ่ายค่าจ้างเป็นกิโลเมตร (กม.) เป็นแนวคิดที่ดีมาก เพราะ ขสมก. จะได้ไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าซ่อมบำรุง และค่าเสื่อมสภาพของรถโดยสารจำนวนมากเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งแนวคิดนี้คิดกันมาหลายยุคหลายสมัย แต่ยังไม่สามารถนำมาดำเนินการเป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจนได้ อย่างไรก็ตามเวลานี้ที่มีข่าวว่าแผนฟื้นฟูฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาพัฒน์นั้น ส่วนตัวมองว่าสภาพัฒน์น่าจะเห็นด้วยในหลักการ เพียงแต่รายละเอียดการปฏิบัติเรื่องต่างๆ ที่อยู่ในแผนฟื้นฟูฯ ทางสภาพัฒน์อาจยังไม่มั่นใจ จึงเป็นเรื่องที่ ขสมก. ต้องชี้แจงให้ได้ เชื่อว่าคงไม่ใช่เรื่องยาก
ดร.สุเมธ กล่าวต่อไปว่า สำหรับแผนฟื้นฟูฯ ฉบับนี้ มีข้อเสนอแนะ 2 เรื่องคือ 1.การจัดเก็บค่าโดยสาร 30 บาทต่อคนต่อวัน ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินทางขึ้นรถโดยสารหลายต่อ จะช่วยประหยัดได้มาก แต่เชื่อว่าผู้โดยสารทุกคนคงไม่ได้หันมาซื้อตั๋วแบบ 30 บาทตลอดวันทั้งหมด ดังนั้น ขสมก. จึงต้องพิจารณาให้ดีว่าจะดำเนินการเรื่องนี้ในทางปฏิบัติอย่างไร ซึ่งส่วนตัวมองว่าควรต้องศึกษา และสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการของผู้โดยสารอย่างละเอียด รวมทั้งควรทดลองการจำหน่ายตั๋ว 30 บาทตลอดวันด้วย และ 2.รูปแบบการจัดเก็บรายได้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการนำตั๋วอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ ดังนั้นในทางปฏิบัติต้องพิจารณาให้ดีว่าจะควบคุมเรื่องการเงินอย่างไร ไม่ให้เกิดปัญหารายได้รั่วไหล
“มีหลายคนอาจกังวล และมองว่าการจ้างเอกชนวิ่ง และจ่ายเงินค่าจ้างตามระยะทาง จะเป็นการฮั้วให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ผมมองว่าเป็นเรื่องของกระบวนการในอนาคต ที่ต้องมีระบบการตรวจสอบที่ดี และเข้มข้น เพราะหากเรามาเริ่มตั้งแง่กันตั้งแต่วันนี้ คงไม่ต้องเริ่มทำอะไรกันทั้งนั้น เชื่อว่าหากผู้มีอำนาจในการอนุมัติ มีความเข้าใจในหลักการของแผนฟื้นฟูทั้งหมด เรื่องความคิดที่ว่าจะมีการฮั้วประมูลกันหรือไม่ ไม่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้ไม่อนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. หรือไม่อนุมัติให้ดำเนินการจ้างเอกชนวิ่งรถโดยสาร” ดร.สุเมธ กล่า