กรุงเทพฯ, 15 กุมภาพันธ์ 2564 — ซิสโก้ ผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยี เผยรายงานการศึกษาฉบับล่าสุดว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในประเทศไทยมีความเห็นว่า “การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย” (21%) คือเป้าหมายทางธุรกิจที่สำคัญที่สุดในปีนี้ (อีก 12 เดือนข้างหน้า) ส่วนเป้าหมายรองลงมาคือ ใช้เทคโนโลยีในการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดใหม่ๆ (16%) อย่างไรก็ตาม ปัญหาท้าทายสำคัญที่สุดสำหรับเอสเอ็มอีไทยก็คือ การมองหาช่องทางอื่นๆ ในการขายและจัดส่งสินค้า (59%) ตามด้วย การปรับปรุงประสิทธิภาพของพนักงาน (50%)
ผลการศึกษาที่จัดทำโดย Analysys Mason ระบุว่า 41% ของเอสเอ็มอีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) มองว่า ‘การเตรียมระบบเพื่อรองรับการทำงานจากที่บ้านของพนักงาน’ ถือเป็นกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุด ที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีบรรลุเป้าหมายในการดำเนินงานและการขยายกิจการในปี 2564 โดยกลยุทธ์ดังกล่าวมีความสำคัญเทียบเท่ากับ ‘การปรับใช้แพลตฟอร์มการขายทางออนไลน์’เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ และเติบโตอย่างยั่งยืน
รายงานดังกล่าวอ้างอิงผลการสำรวจที่จัดทำโดย Analysys Mason โดยมีการสอบถามความคิดเห็นจากผู้บริหารระดับสูงในสายงานธุรกิจและไอทีของเอสเอ็มอี 1,600 ราย ซึ่งมีพนักงาน 50 ถึง 150 คน ใน 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และประเทศไทย
เนื่องจากการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมไปสู่การทำงานแบบไฮบริด ดังนั้นเอสเอ็มอีในภูมิภาคนี้จึงมีแผนที่จะลงทุนในโซลูชั่นเทคโนโลยีเพื่อรองรับแนวโน้มดังกล่าว ข้อมูลคาดการณ์ของ Analysys Mason ระบุว่ายอดใช้จ่ายสะสมในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ของเอสเอ็มอี ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะสูงเกิน 5 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2567 โดยจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ครองสัดส่วนสามในสี่ของยอดใช้จ่ายดังกล่าว และเมื่อพิจารณาแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการผลิตจะครองสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของยอดใช้จ่ายด้านไอซีที เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมภาคเอกชนทั้งหมดในภูมิภาคนี้
ทวีวัฒน์ จันทรเสโน รักษาการกรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน บริษัท ซิสโก้ กล่าวว่า “การแพร่ระบาดส่งผลให้วิธีการทำงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และองค์กรธุรกิจทุกขนาดทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนไปสู่สภาพแวดล้อมการทำงานจากที่บ้าน ด้วยเหตุนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ไม่แน่นอนในปี 2564 ธุรกิจเอสเอ็มอีในไทยควรพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยการเร่งดำเนินการปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) การรวมประสบการณ์ออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี รวมถึงโซลูชั่นคลาวด์ เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย และการใช้ระบบอัตโนมัติ คือแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และเสริมสร้างขีดความสามารถได้อย่างเต็มศักยภาพ”
อัญชลี ธูปเกิด, ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายธุรกิจคอมเมอเชียล และเอสเอ็มอีของซิสโก้ ประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า “ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ปีนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีในประเทศไทยให้ความสำคัญไปกับการจัดเตรียมระบบเพื่อรองรับการทำงานจากที่บ้าน รวมถึงการปรับใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ และการอัพเกรดโซลูชั่นไอทีที่ใช้งานอยู่ เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีเร่งการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซิสโก้จึงได้พัฒนาโซลูชั่นเพื่อการนี้โดยเฉพาะภายใต้ชื่อ Cisco Designed โดยมุ่งเน้นองค์ประกอบ 4 ด้าน คือ การเชื่อมต่อ การทำงานร่วมกัน การประมวลผล และการรักษาความปลอดภัย ซึ่งจะช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถเชื่อมต่อเครือข่ายดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย และทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ การเร่งปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในลักษณะเช่นนี้จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมต่างๆ ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และทำให้พลิกโฉมอุตสาหกรรมหลักๆ เช่น อุตสาหกรรมการผลิต และภาคธุรกิจอื่นๆ ซึ่งเดิมต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก โดยจะปรับเปลี่ยนไปสู่รูปแบบธุรกิจที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และระบบคลาวด์เป็นหลัก”
ด้วยเหตุนี้ ซิสโก้เล็งเห็น 3 แนวโน้มสำคัญที่จะผลักดันความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและไอทีสำหรับเอสเอ็มอีในปี 2564 ดังนี้:
การรวมประสบการณ์ออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ เพื่อช่วยให้การมีส่วนร่วม ความพึงพอใจ และความภักดีของลูกค้าดีขึ้น
เนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์และข้อจำกัดด้านความปลอดภัย ส่งผลให้ร้านค้าปลีกและสำนักงานต้องปิดตัวลงเป็นการชั่วคราว การมองหาช่องทางอื่นๆในการขายและจัดส่งสินค้าจึงถือเป็นความท้าทายที่เอสเอ็มอีราวครึ่งหนึ่ง (50%) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน รองลงมาคือปัญหาเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน (44%) และการเพิ่มรายได้ (40%) สถานการณ์ดังกล่าวทำให้มีการปรับเปลี่ยนช่องทางดิจิทัลในการติดต่อกับลูกค้า รวมถึงประสบการณ์ลูกค้าในทุกขั้นตอน นอกจากนี้ ยังกระตุ้นให้เอสเอ็มอีจำนวนมากเปลี่ยนไปใช้ช่องทางการขายออนไลน์ เพื่อให้ธุรกิจมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยกว่าสามในสี่มองว่าการพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างมากสำหรับกลยุทธ์ด้านไอทีของบริษัทในปีนี้
ผลการศึกษายังเปิดเผยอีกด้วยว่า “ประสบการณ์ลูกค้า” (59%) เป็นภารกิจสำคัญสูงสุดสำหรับเอสเอ็มอีในภูมิภาคในการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล ขณะที่เอสเอ็มอีพัฒนาไปสู่ประสบการณ์ลูกค้าแบบไร้สัมผัส (Contactless) เพิ่มมากขึ้น ทั้งในส่วนของการเจาะกลุ่มเป้าหมาย การติดต่อสื่อสาร และการเปิดบัญชีลูกค้า บริษัทจำเป็นที่จะต้องคิดหาแนวทางใหม่ๆ ในการบูรณาการประสบการณ์ดิจิทัลเข้ากับการติดต่อสื่อสารทางกายภาพอย่างไร้รอยต่อและเอื้อประโยชน์ต่อกัน เพื่อสร้างความโดดเด่นเหนือคู่แข่ง เอสเอ็มอีจำเป็นต้องอาศัยแพลตฟอร์มคลาวด์ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง เพื่อรองรับประสบการณ์ช้อปปิ้งออนไลน์ที่ราบรื่นและน่าเชื่อถือ ในขณะเดียวกัน จะต้องมีระบบที่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพเพื่อรองรับการจัดส่งสินค้า และการให้บริการหลังการขายภายหลังการทำธุรกรรม
การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี รวมถึงโซลูชั่นคลาวด์ เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย
สืบเนื่องจากการหยุดชะงักของธุรกิจซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดเมื่อปีที่แล้ว การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายถือเป็นเป้าหมายทางธุรกิจที่สำคัญที่สุดสำหรับเอสเอ็มอี (18%) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในอีก 12 เดือนข้างหน้า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดที่พัฒนาแล้วในภูมิภาค (ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ซึ่งกว่าหนึ่งในสี่ (26%) ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด ขณะที่ ตลาดเกิดใหม่ (อินเดีย จีน อินโดนีเซีย และไทย) อยู่ที่ 17%
การปรับปรุงประสิทธิภาพโดยอาศัยระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีขั้นสูง Hyperautomation เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีบรรลุเป้าหมายนี้ ปัจจุบัน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ก้าวล้ำสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและไม่แพงจนเกินไปสำหรับเอสเอ็มอี เช่น โซลูชั่น AI ที่ให้บริการบนระบบคลาวด์ ดังนั้นจึงมีการปรับใช้ระบบอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้นในปี 2563 นอกจากนี้ การใช้งานแพลตฟอร์มบนระบบคลาวด์ยังช่วยให้สามารถปรับเพิ่มหรือลดขนาดของการดำเนินงานได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการของธุรกิจ และช่วยลดต้นทุนคงที่ได้อีกทางหนึ่ง
บทบาทของบุคลากรเปลี่ยนจากการเป็นเสมือนเครื่องมือในการทำงาน ไปสู่ “การสร้างมูลค่า”
การเปลี่ยนย้ายไปสู่รูปแบบการทำงานจากที่บ้านในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ก่อให้เกิดความท้าทายและภารกิจใหม่ๆ สำหรับเอสเอ็มอี การปรับปรุงประสิทธิภาพของพนักงาน (44%) ถือเป็นความท้าทายทางธุรกิจที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับสองสำหรับเอสเอ็มอีในภูมิภาค ทั้งนี้ในตลาด APAC ที่พัฒนาแล้ว การมีส่วนร่วมของพนักงาน (42%) ถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดสำหรับเอสเอ็มอีในการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล เราคาดว่าเอสเอ็มอีจะเพิ่มการลงทุนด้านเทคโนโลยี เพื่อแก้ไขปัญหาท้าทายเหล่านี้ด้วยการเสริมสร้างขีดความสามารถให้เทียบเท่ากับองค์กรจากการทำงานจากที่บ้าน
นอกจากนี้ การขยายตัวของระบบงานอัตโนมัติทำให้บุคลากรไม่ต้องทำงานซ้ำๆ ที่น่าเบื่ออีกต่อไป และสามารถทุ่มเทเวลาและความพยายามให้กับกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ บทบาทที่เปลี่ยนไปของบุคลากรจากเดิมที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนเครื่องมือในการทำงานไปสู่ “การสร้างมูลค่า” ที่จะช่วยให้บุคลากรมีความภาคภูมิใจในการทำงานมากขึ้น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงทักษะและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และในท้ายที่สุดแล้วก็จะมีส่วนร่วมในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมที่กว้างมากขึ้น
รูปแบบการทำงานแบบไฮบริดมีบทบาทสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัลของเอสเอ็มอี
การแพร่ระบาดส่งผลให้วิธีการทำงานของเราเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม องค์กรธุรกิจทุกขนาดทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การทำงานจากที่บ้าน โดยทั่วไปแล้วเราอาจคิดว่าองค์กรขนาดใหญ่มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีมากที่สุดสำหรับการปรับเปลี่ยนดังกล่าว ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กอาจปรับตัวได้ช้ากว่าเพื่อก้าวให้ทันกับกระแสความเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบการทำงานจากที่บ้านหรือแบบไฮบริด แต่ความเป็นจริงแล้วอาจไม่ได้เป็นแบบนั้น
รูปแบบการทำงานไฮบริดจะยังคงอยู่ต่อไปสำหรับองค์กรต่างๆ รวมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)
ผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตของการทำงานจากที่บ้านอย่างปลอดภัย (Future of Secure Remote Work) เพื่อศึกษาว่าองค์กรต่างๆ ตอบสนองและปรับตัวต่อการปรับเปลี่ยนสู่การทำงานจากที่บ้านในลักษณะใดบ้าง โดยพิจารณาจุดยืนด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า 55% ของธุรกิจขนาดเล็ก และ 54% ของธุรกิจขนาดกลางในเอเชียแปซิฟิก (APAC) มีพนักงานมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ทำงานจากที่บ้านในช่วงที่มีการแพร่ระบาดมากที่สุด นอกจากนี้ 32% ของธุรกิจขนาดเล็ก และ 36% ของธุรกิจขนาดกลางคาดการณ์ว่าสถานการณ์เช่นนี้จะยังคงดำเนินต่อไปหลังจากการแพร่ระบาดสิ้นสุดลง ซึ่งมากกว่าเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับตัวเลขก่อนการแพร่ระบาด (18% สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก และ 20% สำหรับธุรกิจขนาดกลาง) ตัวเลขเหล่านี้คล้ายกับตัวเลขขององค์กรขนาดใหญ่ นั่นแสดงให้เห็นว่าธุรกิจทั้งหมด ไม่ว่าขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ กำลังปรับใช้แนวทางการทำงานแบบไฮบริดสำหรับอนาคต ข้อมูลดังกล่าวได้มาจากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารฝ่ายไอทีทั่วโลก รวมถึงผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 1,900 คนใน 13 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก ญี่ปุ่น และจีน โดยกว่า 800 คนมาจากองค์กรธุรกิจขนาดเล็ก (พนักงาน 1-249 คน) หรือขนาดกลาง (พนักงาน 250-999 คน)
เอสเอ็มอีประสบปัญหาท้าทายด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้เมื่อต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินงานชั่วข้ามคืน
เนื่องจากผู้ใช้เชื่อมต่อกับระบบขององค์กรในแบบระยะไกล ดังนั้นการเข้าถึงที่ปลอดภัย (Secure Access) (ธุรกิจขนาดเล็ก 64%, ธุรกิจขนาดกลาง 64%) จึงเป็นปัญหาท้าทายด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่สำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่เอสเอ็มอีกล่าวถึงได้แก่ ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (ธุรกิจขนาดเล็ก 57%, ธุรกิจขนาดกลาง 59%) และการป้องกันมัลแวร์ (ธุรกิจขนาดเล็ก 51%, ธุรกิจขนาดกลาง 54%) นอกจากนี้ เนื่องจากพนักงานเชื่อมต่อจาก Wi-Fi ที่บ้าน หรือใช้อุปกรณ์ส่วนตัวเพื่อเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นของบริษัท ดังนั้นอุปกรณ์ปลายทาง เช่น แล็ปท็อป/เดสก์ท็อปของที่ทำงาน (ธุรกิจขนาดเล็ก 58%, ธุรกิจขนาดกลาง 58%) และอุปกรณ์ส่วนตัว (ธุรกิจขนาดเล็ก 60%, ธุรกิจขนาดกลาง 55%) จึงก่อให้เกิดปัญหาท้าทายสำหรับการปกป้องอุปกรณ์ในสภาพแวดล้อมที่อยู่นอกเครือข่ายขององค์กร ปัญหาเหล่านี้มีความคล้ายคลึงและสอดคล้องกับปัญหาขององค์กรขนาดใหญ่
ในระยะแรกของการแพร่ระบาด ธุรกิจเอสเอ็มอีกว่าครึ่งหนึ่งระบุว่าตนเองค่อนข้างพร้อมที่จะรองรับการทำงานจากที่บ้าน (ธุรกิจขนาดเล็ก 57%, ธุรกิจขนาดกลาง 54%) ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็ก 8% และธุรกิจขนาดกลาง 6% ไม่มีความพร้อม นอกจากนี้ เอสเอ็มอียังพบภัยคุกคามทางไซเบอร์หรือการแจ้งเตือนเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด โดยธุรกิจขนาดเล็ก 62% และธุรกิจขนาดกลาง 75% พบภัยคุกคามทางไซเบอร์หรือการแจ้งเตือนที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 25% ในภูมิภาค APAC ตัวเลขนี้จะสูงกว่าเล็กน้อยสำหรับองค์กรทุกขนาด (69%) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลก (61%)
ความจำเป็นในการเสริมสร้างจิตสำนึก และปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อการทำงานแบบครบวงจร และใช้งานง่าย
ข่าวดีก็คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดส่งผลให้องค์กรทุกขนาดหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของไซเบอร์ซีเคียวริตี้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีใน APAC ยังจำเป็นต้องเสริมสร้างจิตสำนึกเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้มากขึ้นทั้งในระดับองค์กรและผู้ใช้งาน และจะต้องมีการปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยให้ทำงานแบบครบวงจรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และใช้งานได้ง่ายกว่าเดิม
แม้ว่าธุรกิจเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ใน APAC มีแผนที่จะเพิ่มการลงทุนในไซเบอร์ซีเคียวริตี้ในอนาคต โดยเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ธุรกิจขนาดเล็ก 64%, ธุรกิจขนาดกลาง 72%) แต่ธุรกิจขนาดเล็กในสัดส่วนที่มากกว่าคิดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตสำหรับการลงทุนด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ (23%) เมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดกลาง (13%) และขนาดใหญ่ (15%) และแม้ว่าเอสเอ็มอีเกือบทั้งหมด (ธุรกิจขนาดเล็ก 96%, ธุรกิจขนาดกลาง 98%) ได้ทำการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้เพื่อรองรับการทำงานจากที่บ้าน แต่มีแนวโน้มน้อยกว่าที่เปลี่ยนแปลงอย่างถาวร โดยธุรกิจขนาดเล็ก 35% และธุรกิจขนาดกลาง 39% ระบุว่า กว่า 30% ของการเปลี่ยนแปลงมีลักษณะถาวร เปรียบเทียบกับ 51% ขององค์กรขนาดใหญ่
สำหรับคำถามที่ว่า “อะไรคือปัญหาท้าทายที่ธุรกิจเอสเอ็มอีต้องเผชิญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้” คำตอบที่ได้จากผลสำรวจคือ พนักงานขาดความรู้หรือจิตสำนึก (ธุรกิจขนาดเล็ก 62%, ธุรกิจขนาดกลาง 61%) และมีเครื่องมือ/โซลูชั่นที่จะต้องจัดการมากเกินไป (ธุรกิจขนาดเล็ก 52%, ธุรกิจขนาดกลาง)
ทบทวนแผนการปรับใช้เทคโนโลยี
รายงานผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ธุรกิจเอสเอ็มอีจะยังคงตามหลังองค์กรขนาดใหญ่อยู่มากในเรื่องของการปรับเปลี่ยนโซลูชั่นไซเบอร์ซีเคียวริตี้เพื่อรองรับการทำงานจากที่บ้านในช่วงแพร่ระบาด แต่ยังคงมีโอกาสในการปรับปรุงแนวทางด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ของธุรกิจเอสเอ็มอีในระยะยาว
ปัญหาการดำเนินงานหยุดชะงักที่เกิดขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาด กระตุ้นให้ธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนมากหันมาให้ความสนใจกับเรื่องของการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้เป็นรูปแบบดิจิทัลกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีที่เอสเอ็มอีจะพัฒนา หรือทบทวนแผนการปรับใช้เทคโนโลยีให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน บริษัทต่างๆ ควรจะตรวจสอบและประเมินเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการลงทุน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของพนักงานและลูกค้า รวมถึงกระบวนการธุรกิจที่สำคัญ โดยบริษัทจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าโซลูชั่นด้านไอทีที่นำมาใช้มีความปลอดภัยและสามารถปรับขนาดได้อย่างยืดหยุ่นเพื่อรองรับแผนการทำงานในรูปแบบไฮบริดสำหรับอนาคต
จากปัญหาและความท้าทายของเอสเอ็มอี ซิสโก้ได้วิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอพิเศษสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ดังนี้:
เทคโนโลยีคลาวด์สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ที่สามารถเริ่มต้นจากการสมัครใช้บริการขนาดย่อม และขยายขนาดเพิ่มเติมในอนาคตได้อย่างสะดวกง่ายดาย:
• Cisco Meraki Fullstack Cloud Manage Network (รองรับการเติบโตของธุรกิจ)
• Cisco Collaboration Webex and Endpoint (รองรับการทำงานร่วมกัน และ Digital Transformation)
• Cisco Cloud Security Umbrella, AMP และ DUO (รองรับด้านความปลอดภัย)
• Cisco SMB Leasing Package เริ่มต้นเพียง 300,000 บาท ผ่อนดอกเบี้ย 0% นาน 5 ปี
เครื่องมือสำหรับธุรกิจขนาดเล็กประกอบด้วย Cisco Meraki ซึ่งเป็นโซลูชั่นไอทีที่จัดการผ่านระบบคลาวด์ ช่วยให้องค์กรธุรกิจสร้างเน็ตเวิร์คแบบ High-density ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย และสามารถตรวจสอบดูแลจากแดชบอร์ดส่วนกลาง และ Cisco Collaboration Webex and Endpoint ในการรองรับการทำงานร่วมกัน และ Digital Transformation รวมถึง Cisco Secure Collaboration ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถสร้างเครือข่ายที่ปลอดภัยเพื่อรองรับการทำงานภายในองค์กรและนอกสถานที่ เอสเอ็มอีจำนวนมากใช้ Cisco Meraki เพื่อสร้างเครือข่ายที่ปลอดภัย ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า และง่ายแก่การบริหารจัดการ
ซิสโก้เชื่อว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ขณะที่เอสเอ็มอีเริ่มตระหนักมากขึ้นว่าการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัลคือ “กุญแจสำคัญ” ที่จะช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในโลกวิถีใหม่