ครบ 1 ปีภายหลังจากที่ กสทช. ได้เปิดประมูลคลื่นความถี่ 5G ไปเมื่อกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ทันทีที่ได้รับใบอนุญาต AIS ในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคมในไทยเบอร์หนึ่งที่มีลูกค้าใช้งานมากที่สุดก็ได้รีบเอาความถี่แรกคือความถี่ย่าน 2600 MHz มาเปิดให้บริการ 5G ใน mode SA และ NSA อย่างที่บางท่านได้ทดลองทดสอบและใช้งานจริงในชีวิตประจำวันไปแล้ว สำหรับคลื่นถัดมาที่ AIS เข้าไปชำระค่าคลื่นได้แก่ความถี่ต่ำย่าน 700 MHz โดยรอบแรกที่ชำระ จะได้ใช้งานก่อน 10×2 MHz และภายในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้จะได้ความถี่ครบ 15×2 MHz ซึ่งในปัจจุบันได้เริ่มเปิดบริการในพื้นที่ห่างไกลไปในบางส่วนแล้วโดยลักษณะการใช้งานเป็นแบบ DSS คือ 5G และ 4G ในช่วงแรก และในวันนี้ AIS ได้เข้าไปชำระค่าคลื่น ซึ่งเป็นคลื่นความถี่สูง ที่เรียกกันว่า Millimeter wave 26 GHz (band n258) ในปริมาณความจุ 1200 MHz และสามารถเริ่มนำคลื่นดังกล่าวไปใช้งานได้ทันที ในการนำคลื่นต่าง ๆ ไปใช้ จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนซึ่ง AIS ก็ได้ใช้เงินลงทุนมากกว่า 35000 ล้านในปีที่ผ่านมาเพื่อสร้าง Coverage ขยายบริการ 4G และ 5G ไปพร้อม ๆ กัน พร้อมสร้างความร่วมมือกับ Partner ในหลายภาคส่วนเพื่อพัฒนา 5G ให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายได้มากที่สุด ในปีนี้ AIS จะใช้เงินลงทุนเพื่อขยายบริการ 5G ต่อเนื่องอีก 25000-30000 ล้านบาท
การใช้คลื่น 5G แต่ละย่านความถี่มีความสำคัญอย่างไร
ในการให้บริการ 5G ผู้ให้บริการจำเป็นต้องถือครองคลื่นความถี่ให้ครบทุกย่าน เพราะลักษณะ use case หรือการใช้งานมีความแตกต่างกันไป การนำคลื่นความถี่ไปใช้ให้ตรงกับความต้องการหรือพื้นที่การใช้งานมีความสำคัญมากและนี่เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ AIS ประสบความสำเร็จในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด คือการนำคลื่นความถี่ มากระจายสัญญาณให้ลูกค้าในแต่ละ segment ได้ใช้ประโยชน์คลื่นร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ข้อนี้เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ AIS ได้รางวัลต่าง ๆ ในเรื่อง Speed test ในเรื่องการใช้งานที่ไร้รอยต่อ มีปัญหาน้อยกวนใจน้อยที่สุด เพราะเกิดจากการวางแผนและการลงทุนในการใช้คลื่นมาเป็นอย่างดี เราจะเห็นว่าคลื่นที่ AIS มีอยู่มากที่สุดกว่าผู้ให้บริการทุกราย เป็น Super Block ทั้งสิ้น เรียกว่าเต็มผืนของช่วงคลื่นในแต่ละย่าน ไล่ตั้งแต่คลื่น B3 หรือ 1800 MHz ซึ่งมีผลกับการให้บริการ 4G LTE และการเป็น Anchor band ให้ n41 หรือ 5G คลื่นอื่น ๆ ในอนาคตในความจุ 20 MHz ที่ AIS มีนั้นเพียงพอต่อการให้บริการ รวมถึงคลื่น B1 หรือ 2100 MHz ที่มีทั้ง 15 MHz ที่ประมูลมาได้จาก กสทช. และได้จากความร่วมมือกับ TOT อีก 10 MHz และคลื่นต่ำ 900 MHz ก็เต็ม Block 10 MHz นอกจากนี้ยังมี n41 หรือ คลื่น 2600 อีก 100 MHz เต็มผืนเช่นเดียวกัน และคลื่นสำคัญสำหรับภาคอุตสาหกรรมและการนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่หนาแน่นในอนาคตได้แก่คลื่น 26 GHz ซึ่งมีปริมาณถึง 1200 MHz นับเป็น 3 Super Block ที่โดยปกติแล้ว 1 CARRIER สามารถใช้งานได้ 400 MHz เท่ากับว่ารองรับปริมาณการใช้งานได้ถึง 3 CARRIER หรือ 3 Block ซึ่งคลื่นมหาศาลระดับนี้สามารถรองรับปริมาณการใช้งานพร้อม ๆ กันได้เป็นอย่างดี
AIS นำคลื่น 26 GHz ไปใช้งานด้านใด
ด้วยคุณสมบัติของคลื่น 26 GHz นั้นถือได้ว่าตอบโจทย์การดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรมได้ดีที่สุด ซึ่งการออกแบบในการให้บริการ 5G ตามมาตราฐานสากลนั้นมีการให้ความสำคัญกับลักษณะการใช้งานของคลื่นสูง หรือ mmWave ในเชิงธุรกิจอุตสาหกรรมมากกว่าการนำไปใช้กับลูกค้าทั่วไปหรือ end user เพราะปริมาณความจุ หรือ Bandwidth ที่มีอยู่มหาศาลนั้นสอดคล้องและเหมาะสมกับการทำงานของเครื่องจักรในโรงงาน ไม่ว่าจะเป็น Machine to Machine หรือ Machine to Human รวมถึงระบบ censor ต่าง ๆ ที่ถูกติดตั้งในแต่ละหน้าที่ของการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการรับส่งข้อมูลแบบ real time แบบพร้อม ๆ กันเป็นหลักร้อย หรือพันชิ้นได้อย่างแม่นยำ ซึ่งการใช้คลื่นอื่น ๆ อย่าง n41 หรือ 2600 MHz ก็ดี คลื่น Wi-Fi ความถี่ 5-6 GHz ก็ดีนั้นไม่เพียงพอ และอาจทำให้เกิดการรบกวนและเกิดความผิดพลาดส่งผลเสียหายในการทำงานของหุ่นยนต์ที่เรียกว่าเป็นระบบ AUTOMATION ได้
จากการที่ 26 GHz เป็นย่านความถี่สูงและมีปริมาณแบนด์วิธมากที่สุด มีความสามารถในการรองรับการใช้งานได้มหาศาล (Massive Capacity) จึงทำให้ลงเครือข่ายได้อย่างเฉพาะเจาะจงคุม Coverage ในพื้นที่ของแต่ละโรงงานอย่างไม่ต้องกังวลเรื่องการกวนกันของคลื่นสัญญาณไม่ต้องไปแชร์ทรัพยากรกับคลื่น mass หรือคลื่นส่วนรวม (Indoor/Outdoor isolation) อีกทั้งยังสามารถออกแบบเครือข่ายได้อย่างสอดรับกับลักษณะธุรกิจที่แตกต่างกันของแต่ละโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Private Network) และจุดเด่นที่สำคัญคือมีความหน่วงที่ต่ำมาก (Ultra Low Latency) สามารถตอบสนองการทำงานของอุปกรณ์ในสายพานการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคลื่น 26 GHz ความจุ 1200 MHz มีระดับความเร็วของการส่ง Data ไร้สายเสมือนวิ่งอยู่บนสายไฟเบอร์ได้ (fibre-like) มีความคล่องตัวในการติดตั้งสถานีฐานได้ง่ายดายและรวดเร็ว เพราะอุปกรณ์มีขนาดเล็ก (simple deployment)
5G Private Network คลื่น 26 GHz มีความสำคัญอย่างไร
ในแต่ละอุตสาหกรรมมีความต้องการใช้งานเฉพาะด้านที่แตกต่างกัน 5G เป็นเทคโนโลยีที่ถูกเขียนมาเพื่ออุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น LOW LATENCY หรือ iOT เพราะการทำงานของ robot ต้องการความแม่นยำในการทำงานเป็น centimeter ดังนั้นใน road map ของ 5G ก็ระบุการใช้งานสำหรับอุตสาหกรรมเป็นการเฉพาะเอาไว้ด้วย ดังนั้นการออกแบบเครือข่ายสำหรับโรงงานให้สามารถตอบรับความต้องการ โดย AIS มีคลื่นมากพอ และไร้การรบกวน ความสามารถของ mmWave สามารถคุม Coverage ได้ง่าย ทำให้เราสามารถกำหนดจุด spot ของ Coverage Area ได้ และสามารถกำหนดระบบความปลอดภัยของข้อมูลได้เพราะใช้อุปกรณ์ในระดับ Cellular Grade หรือ Carrier Grade Equipment ที่มีความน่าเชื่อถือและไว้ใจได้มากกว่า Home Use Grade บางโรงงานอาจจะใช้ Wi-Fi ไปติด เป็น Unlicensed band ที่อาจถูกรบกวนได้ และอุปกรณ์ก็เป็นแค่ enterprise grade ซึ่งมีผลต่อระดับความปลอดภัย ดังนั้น AIS ก็จะนำ 5G Private Network เข้าไปออกแบบและให้บริการเพื่อตอบโจทก์เหล่านี้ได้ดีที่สุด
ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมที่ AIS มีอยู่ในปัจจุบัน
ตลอดปี 2563 AIS เดินหน้าผนึกผู้นำอุตสาหกรรมหลายรูปแบบในระดับประเทศ เช่น สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง ในการร่วมทุนตั้งบริษัท สห แอดวานซ์ เน็ทเวอร์ค พัฒนาด้าน ICT Infrastructure และเทคโนโลยี 5G, อมตะ คอร์ปอเรชัน ร่วมพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City), สวนอุตสาหกรรมบางกะดี พัฒนาสวนอุตสาหกรรมอัจฉริยะ, สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ในการยกระดับภาคการผลิต และ ปตท. ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี 5G สร้างนวัตกรรม Unmanned ภายในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ล่าสุดได้ร่วมกับ เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ (SNC) ผู้ผลิตกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของประเทศในพื้นที่ EEC นำเทคโนโลยี 5G คลื่น 26 GHz มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตภายในโรงงาน มีการประยุกต์ใช้ใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. 5G AGV เป็นการใช้ 5G ควบคุม และสั่งการรถ AGV (Automated Guided Vehicles) ที่ใช้สำหรับการขนส่งชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับสายการผลิตภายในโรงงาน และระหว่างโรงงาน เพื่อให้การขนส่งชิ้นส่วนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิตให้โรงงาน 2. 5G Smart Robot เป็นการใช้ 5G ควบคุม สั่งการ ในส่วนของ แขนกลหุ่นยนต์ (Robot) ที่ใช้งานในส่วนสายการผลิตที่เกี่ยวข้องเช่น Press, Brazing, CNC, Heat& Cool และ Assembly line เป็นต้น โดยเทคโนโลยี 5G จะนำมาช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดจากคน (Human error) และช่วยสร้างความปลอดภัย, ลดการเกิดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นกับคนได้ 3. 5G Active Dashboard การประยุกต์ใช้งาน 5G ในการเชื่อมต่อระหว่าง Server และ Machine เพื่อให้สามารถ Monitoring สายการผลิตต่างๆ นำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้โรงงานเป็น Smart factory ได้อย่างแท้จริง
บทสรุป สำหรับ 1200 MHz Super Block กับความคุ้มค่าในการใช้งานคลื่น 26 GHz
จากภาพรวมทั้งหมด เราจะเห็นได้ว่า AIS ได้วางแผนในการนำคลื่นความถี่มีอยู่ ทั้งคลื่นที่มีอยู่เดิม และคลื่นที่ได้จากการประมูลล่าสุด นำมาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามลักษณะการใช้งานของคลื่นต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนสำหรับคลื่น 26 GHz ก็คือภาคอุตสาหกรรม ได้ถูกยกระดับให้เพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยเพิ่มผลผลิตและทำให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำลง นิคมอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ EEC สามารถนำไปใช้งานได้ทันที ติดตั้งง่าย รองรับการใช้งานได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าธุรกิจ โรงงาน จะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ด้วยคลื่นความถี่ขนาด Bandwidth 1200 MHz เป็น 3 เท่า หรือ 3 CARRIER มีความเพียงพอในการใช้งานระยะยาวที่จะนำ 5G Private Network มาให้บริการ ทั้งหมดนี้สนับสนุนให้เกิดความแข่งแกร่งในโครงสร้างพื้นฐานทาง Digital ของประเทศ ขยายขีดความสามารถของอุตสาหกรรมและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยไปพร้อม ๆ กัน โดยสิ่งที่ AIS กำลังทำหรือนำมาให้บริการ เราจะเห็นว่า benefit ที่ได้นั้นสอดคล้องและเป็นไปตาม Roadmap วิวัฒนาการของการขับเคลื่อนโดยใช้เทคโนโลยี 5G ในแต่ละยุค ตรงตามแบบฉบับที่ 3GPP ได้กำหนดเป็นแม่แบบไว้ได้ครบถ้วนทุกประการ