5 มีนาคม 2564 – ทีมโค้ชดีแทค เน็ตทำกิน พร้อมจัดอบรมให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการรวม 150 ร้านค้า จากจำนวนร้านค้าที่แสดงความสนใจกว่า 1,500ร้านค้าทั่วประเทศ ตลอดช่วงเดือนมีนาคม พร้อมติดตามผลและเป็นพี่เลี้ยงไปจนกว่าร้านค้าจะประสบความสำเร็จ สร้างยอดขายบนออนไลน์ได้

 

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในตลาดแรงงาน ธุรกิจกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในอัตราเร่ง เพื่อจับตลาดผู้บริโภคออนไลน์ ทั้งยังเป็นการขยายโอกาสโดยปราศจากข้อจำกัดเดิมๆ ด้วยเหตุนี้ ทำให้ตลาดแรงงานจำเป็นต้องพัฒนาและเปลี่ยนผ่านให้สอดรับกับแนวโน้มเศรษฐกิจและโอกาสทางธุรกิจในอนาคตหลังยุคโควิด-19”

จากข้อมูลการรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการดีแทคเน็ตทำกิน พบว่าประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับ “วิกฤตทักษะดิจิทัล” ประชากรไทยมีความเหลื่อล้ำเชิงทักษะดิจิทัลอย่างมาก ทั้งด้านของวัยและพื้นที่ที่อาศัยอยู่ อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากการขาดความรู้ ในการเข้าถึงตลาดออนไลน์

โควิด-19 เผยชัด “ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล”

นายชารัด กล่าวว่า จากผลการเปิดรับสมัครโครงการดีแทคเน็ตทำกินไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พบว่า มีผู้ให้ความสนใจสมัครท่วมท้นกว่า 1,500 คน โดยส่วนใหญ่มีความต้องการเรียนรู้เพิ่มยอดขายทางออนไลน์ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดอย่างหนัก ยอดขายหดตัวลงไปมาก

  • ร้อยละ 25 ของผู้สมัครเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ ต้องการใช้ทักษะที่มีอยู่ในการหารายได้เพิ่มเติมจากการเกษียณอายุงานก่อนกำหนดหรือต้องการเริ่มอาชีพใหม่หลังจากได้รับผลกระทบเลิกจ้างกระทันหันจากพิษโควิด-19 ทั้งนี้ ทักษะส่วนใหญ่ยังคงเป็นทักษะการผลิตสินค้าอาหาร เบเกอรี่ และขนบขบเคี้ยว ขณะที่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้แก่ สินค้าทางการเกษตร สังฆภัณฑ์และพระเครื่อง เสื้อผ้าและเครื่องประดับ
  • ร้อยละ 33 ของผู้สมัครอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามด้วยภาคเหนือที่ร้อยละ 16.7 ขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ มีอัตราส่วนใกล้เคียงกันที่ร้อยละ 12นอกจากนี้ กว่าร้อยละ 21 ของผู้เข้าสมัครมีอายุมากกว่า 50 ปี โดยมีความต้องการพัฒนาทักษะดิจิทัลและเห็นความสำคัญของการทำธุรกิจออนไลน์
  • กว่าร้อยละ 43 ของผู้สมัคร มีการเปิดร้านค้าออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ แต่ขาดความรู้เพื่อการจัดการอย่างเป็นระบบ ขณะที่ร้อยละ 7.6 มีจำนวนแฟนเพจและบริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพแล้ว แต่ยังต้องการเรียนรู้เทคนิคเพิ่มเติม
  • อย่างไรก็ตาม มีผู้สมัครเพียงร้อยละ 35.3 เท่านั้น ที่มีผลิตภัณฑ์และสินค้าที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์​ มีแหล่งวัตถุดิบพื้นฐานในท้องถิ่น และมีศักยภาพเพื่อนำไปต่อยอดสู่การสร้างแบรนด์บนช่องทางออนไลน์
  • เป็นที่น่าสนใจว่า ผู้สมัครราวร้อยละ 10 เป็นชนพื้นเมืองที่ต้องการต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการสืบทอดจากภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ ตลอดจนสานต่อภูมิปัญญางานฝีมือของชนพื้นเมือง สร้างตัวตนและผูกความสัมพันธ์กับตลาดออนไลน์

“ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ขณะเดียวกัน ประชากรไทยทุกภาคส่วนล้วนมีความต้องการในการเพิ่มพูนทักษะดิจิทัล เพื่อขยายโอกาสและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชนพื้นเมืองและผู้ที่อาศัยตามชายขอบของกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะเห็นได้ว่า การเพิ่มพูนทักษะดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม อันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนสืบไป” นายชารัด กล่าวเสริม

เดินหน้าติดอาวุธดิจิทัล

ทั้งนี้ คณะกรรมการของดีแทคได้ร่วมกันคัดเลือกข้อมูลจากใบสมัครโดยพิจารณาจากความน่าสนใจของประเภทสินค้าและบริการ ความตั้งใจจริงที่จะเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดความรู้ และโอกาสในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพบนตลาดออนไลน์ ซึ่งคัดเลือดเหลือเพียง 150 ราย โดยตลอดเดือนมีนาคมนี้ ทีมโค้ชดีแทคเน็ตทำกิน จะเดินสายเพื่อจัดอบรมให้แก่ผู้ประกอบการในแต่ละภูมิภาค โดยเริ่มต้นจากพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคเหนือตอนบน-ตอนล่าง ภาคอีสาน และภาคใต้ ในหมวดความรู้ดังต่อไปนี้

  1. พื้นฐานการตลาดยุคดิจิทัล ครอบคลุมตั้งแต่การตลาดในปัจจุบัน พฤติกรรมผู้บริโภค กระบวนการตัดสินใจซื้อ และเครื่องมือการทำการตลาดต่างๆ
  2. เรียนรู้แพลทฟอร์มสำหรับการทำการตลาดออนไลน์ เพราะสินค้าดีแค่ไหน แต่นำเสนอผิดที่ ก็เหมือนเลือกรองเท้าผิดข้าง มาเรียนรู้แพลตฟอร์มการตลาดให้เข้ากับสินค้า ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Line, Instagram, YouTube ฯลฯ เพิ่มยอดขายให้ปังกว่าเดิม
  3. การถ่ายภาพเบื้องต้นสำหรับการตลาดออนไลน์ เคล็ดลับควรรู้ก่อนถ่ายภาพ เทคนิคการจัดวางองค์ประกอบเบื้องต้น เทคนิคการถ่ายภาพอาหารและสินค้าสำหรับการขายออนไลน์
  4. การสร้างคอนเทนต์และจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ ให้ผู้ประกอบการรายย่อยเพิ่มความน่าสนใจให้สินค้าด้วยกลยุทธ์การสร้างสรรค์คอนเทนต์เพื่อการสื่อสาร โดยดีแทคได้ร่วมมือกับ “เพจอีจัน” ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาคอนเทนต์ และบริหารเพจตลาดขายสินค้าชื่อดังอย่าง “เพจอีจันตลาดแตก” ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 11 ล้านราย
  5. ปักหมุดธุรกิจติดดาว ครอบคลุมตั้งแต่การโปรโมทร้านด้วยการปักหมุดบนGoogle Maps และการใช้ Google Business เพิ่มความน่าเชื่อถือและสร้างการรับรู้ ซึ่งเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งของการสร้างตัวตนบนโลกดิจิทัล (Digital presence)
  6. คำแนะนำด้านธุรกิจ การปรับปรุงคุณภาพและแพคเกจการนำเสนอสินค้าให้ยิ่งขายดียิ่งขึ้น รวมไปถึง ความรู้สำคัญเกี่ยวกับระบบภาษีการค้าขายอี-คอมเมิร์ซ การบริหารการเงินและวิธีการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อขยายธุรกิจในอนาคต และขั้นตอนการขอมาตรฐานรับรองคุณภาพอาหารและบริการ

หลังจากนั้น ทีมโค้ชจะคอยเป็นพี่เลี้ยง ให้คำปรึกษาและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการลงมือปฏิบัติลองผิดลองถูกจนกระทั่งสามารถหาสูตรสำเร็จในการทำการค้าขายออนไลน์ได้บรรลุผล สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับคัดเลือกให้เข้ารับการอบรม ทางดีแทคจะพิจารณาให้คำแนะนำให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม ได้แก่ ช่วยปักหมุดร้านค้า และแนะนำวิธีการถ่ายรูปอาหารและสินค้า เพื่อนำเสนอสินค้าให้น่าซื้อมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

ติดตามรายละเอียดโครงการ “ดีแทค เน็ตทำกิน” ได้ที่เฟซบุ๊ก ดีแทค เน็ตทำกิน และ Line OA @dtacnetforliving

Comments

comments