แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจะมีความตระหนักรู้ถึงปัญหาการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์หรือ Cyberbullying มากขึ้น ภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมต่างร่วมมือร่วมใจในการแก้ไขปัญหาผ่านการสื่อสารและการสร้างการรับรู้ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหา Cyberbullying ในอีกทางหนึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการกำหนด “มาตรฐานในการกำกับดูแล” เพื่อเป็น “หลักประกัน” ให้กับผู้ถูกกระทำ พร้อมกับสร้างแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน
ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ดำเนินการวิจัย กล่าวว่า ศูนย์วิจัยได้ร่วมทำงานกับดีแทค เพื่อออกแบบพื้นที่ปลอดภัยและเปิดกว้างสำหรับเยาวชนในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาไซเบอร์บูลลี่ ในแคมแปญ #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา และเพื่อให้การออกแบบ “ข้อปฏิบัติร่วมเพื่อหยุดการไซเบอร์บูลลี่” ครอบคลุมประเด็นต่างๆ นำไปสู่การเป็นแก่นตั้งต้นของการแลกเปลี่ยนผ่านแพลตฟอร์ม Jam Ideation ผ่านการสำรวจความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจต่อสถานการณ์ การตระหนักถึงความสำคัญ และการจัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้นของกลุ่มเป้าหมายผ่านประสบการณ์จริง โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกด้วยรูปแบบคำถามไร้โครงสร้าง (Unstructured interview) เป็นคำถามปลายเปิด สร้างบรรยากาศให้เกิดการเปิดใจ เพื่อให้ได้มาซึ่งอินไซท์ที่แท้จริง
ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์ สามารถสรุปอินไซท์ที่น่าสนใจด้วยกัน 10 ข้อ ได้แก่
- เด็ก Gen Z นิยาม Cyberbullying ว่าเป็น “พฤติกรรมการโพสต์ให้ร้ายผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย กระจายข่าวสารทางลบเพื่อให้เกิดความอับอาย ดูถูก กดให้ต่ำต้อย โดยที่ผู้กระทำอาจเจตนาหรือไม่เจตนาก็ได้” ซึ่งรวมไปถึงการแสดงความเห็น การกดไลค์ กดแชร์ และการแคปไปโพสต์ต่อ และด้วยความซับซ้อนของโลกออนไลน์ทำให้การปกปิดตัวตนกระทำได้ง่าย ส่งผลให้ “ระดับ” ความรุนแรงจึงเกิดขึ้นได้ “มากกว่าและง่ายกว่า”
- เมื่อพูดถึง Cyberbullying พบว่า การโพสต์ดูถูกเหยียดหยาม (เรื่องภาพลักษณ์ เพศ ฐานะ เชื้อชาติ ศาสนา รสนิยม และความคิดเห็น เป็นเหตุการณ์ที่เด็ก Gen Z เผชิญมากที่สุดเป็นอันดับแรก ตามด้วย การโพสต์วิจารณ์รูปร่างผู้อื่น (Body shaming) นอกจากนี้ ยังพบว่า อิทธิพลของคนดังบนโลกออนไลน์ทำให้เกิดการเปรียบเทียบจนเกิดพฤติกรรมการกดตัวเองหรือบุคคลอื่นให้ต่ำต้อยลงเพื่อเอาชนะ ตัวอย่างเช่น มาตรฐานความงาม (Beauty standard)
- เด็ก Gen Z มองว่าการวิจารณ์รูปร่างผู้อื่นหรือ Body shaming เช่น สีผิว รูปร่าง หน้าตา ถือเป็นการกระทำที่มีความรุนแรงมากที่สุด ตามด้วย การเหยียดเพศและรสนิยมทางเพศ การเหยียดปมด้อยต่างๆ เช่น ฐานะ การศึกษา ความคิดเห็น รสนิยม และความชอบส่วนบุคคล นอกจากนี้ ยังพบการข่มขู่คุกคามทางเพศ (Sexual harassment) ผ่านออนไลน์ การถูกกลั่นแกล้งจากบัญชีปลอม (Fake account) หรือภาษาวัยรุ่นเรียกกันว่า “แอคหลุม”และที่สำคัญ ยังพบปัญหา Cyberbullying จากสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย
- Instagram เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เด็ก Gen Z นิยมใช้งานมากที่สุด โดยใช้เพื่อโพสต์รูปที่มีความเป็นส่วนตัว ส่วน Facebook ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 จุดประสงค์ของการใช้คือการโพสต์รูปทั่วไป โพสต์ข้อความ ติดตามข่าวสาร และแชร์ข้อมูลที่น่าสนใจจากเพจต่างๆ ขณะที่ Twitter / YouTube / TikTok ได้รับความนิยมรองลงมา ใช้เพื่อติดตามกระแสบนโลกออนไลน์ ติดตาม YouTuber ที่ชื่นชอบ และอัพโหลดคลิปต่างๆ
- Cyberbullying เกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัย 1. ปัจจัยภายใน ได้แก่ ความสนุก การล้อเล่น ความต้องการมีตัวตนหรืออยู่เหนือผู้อื่น รวมถึงการมีทัศนคติ ความคิดเห็น และรสนิยมที่แตกต่างจากผู้อื่น และ 2. ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ค่านิยมของสังคมผิดๆ ที่ปฏิบัติและรับรู้กันมาช้านาน เช่น มาตรฐานความงาม นอกจากนี้ ยังรวมถึงอคติจากบุคคลอื่น เช่น อคติทางเพศ ขณะที่แพลตฟอร์มออนไลน์เอื้อให้เกิดการแกล้งกันได้ง่ายมากขึ้น
- สาเหตุของการเกิด Cyberbullying สามารถจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม 1. กลุ่มผู้กระทำ (Actors) เกิดจากแรงจูงใจแบบปัจเจกบุคคล เช่น การไม่ชอบหน้าเป็นการส่วนตัว ความสนุก อยากแกล้ง 2. กลุ่มผู้ถูกกระทำ (Victims) มีสาเหตุมาจากการ “แปลกแยก” จากมาตรฐานของสังคม ถูกตัดสินใจจากโซเชียลมีเดียเพียงด้านเดียว การไม่เข้าพวก รสนิยมทางเพศที่แตกต่าง และ 3. บุคคลที่สาม (Bystanders) เข้ามาร่วมวงแห่งการกลั่นแกล้งเพียงเพราะการกระทำนั้นไม่ต้องรับผิดชอบ ต้องการช่วยเพื่อน
- เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบของการกลั่นแกล้ง พบว่าเหยื่อมีความมั่นใจน้อยลง รู้สึกหดหู่และมีความกังวลใจเป็นอย่างมาก เกิดความหวาดระแวง เว้นระยะห่างจากสังคม จนเป็นสาเหตุหนึ่งของการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ทำร้ายตนเอง และมีความรู้สึกต้องการฆ่าตัวตาย
- เมื่อเหยื่อถูกกระทำ ส่วนใหญ่เลือกที่จะเพิกเฉย ไม่ตอบโต้ ซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นกับประสบการณ์และวุฒิภาวะ ขณะที่การตอบโต้แบบซึ่งหน้าส่วนใหญ่จะเกิดในกลุ่มที่อายุน้อย ประสบการณ์ไม่มาก
- อย่างไรก็ตาม เมื่อประสบเหตุการณ์ขึ้น เหยื่อมักเลือกที่จะปรึกษาเพื่อนสนิทเป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นเสมือน “พื้นที่ปลอดภัย” รู้สึกดีขึ้นเมื่อได้ระบายความรู้สึก รับฟังมากกว่าตัดสิน ขณะที่อันดับ 2 เป็นการจัดการกับความรู้สึกด้วยตัวเอง ซึ่งคนกลุ่มนี้มักเป็น LGBTQ+ ส่วนอันดับที่ 3 คือการเลือกปรึกษาพ่อแม่ เพื่อต้องการกำลังใจ แต่ส่วนใหญ่มักถูกเพิกเฉย
- เมื่อพิจารณาถึงการแก้ไขปัญหา เด็ก Gen Z มักเลือกที่การแก้ไขจากทัศนคติของตัวเองเป็นอันดับแรก โดยเน้นที่การสร้างค่านิยมใหม่ ปลูกฝังและส่งเสริมการให้เกียรติและเคารพความแตกต่าง คิดก่อนกระทำ ตลอดให้ส่งกำลังใจและเสริมแรงบวกให้ผู้อื่น อันดับ 2 คือการสร้างการรับรู้ให้สังคม สร้างบรรทัดฐานทางสังคมที่ไม่เอื้อให้เกิดการกลั่นแกล้ง กำหนดแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวกับ Cyberbullying ที่นำไปใช้ได้จริง เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกระทำได้มีส่วนในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ขณะที่อันดับ 3 มองว่ารัฐควรออกมาตรการลงโทษผู้กระทำและการเยียวยาผู้ถูกกระทำผ่านกระบวนการทางกฎหมาย การใช้วินัยเชิงบวกในการปรับพฤติกรรม การมีพื้นที่ให้รับฟังและแลกเปลี่ยนประสบการณ์
วันนี้ dtac Safe Internet มุ่งแก้ไขปัญหาไซเบอร์บูลลี่แบบองค์รวม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนโดยเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ร่วมออกไอเดีย เสนอแนวทางเพื่อ #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา ผ่านแพลตฟอร์มที่ได้รับการออกแบบในรูปแบบ JAM Ideation ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยและเปิดโอกาสให้มีการแสดงออกอย่างเท่าเทียมกัน ต้อนรับเยาวชนให้เข้าไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเข้มข้นต่อเนื่องเป็นเวลา 72 ชั่วโมง เริ่มเปิดแจมตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน เวลา 20.00 น. ถึงวันที่ 28 มิถุนายน เวลา 20.00 น. ที่ https://www.safeinternetlab.com/brave