กลุ่มทรู รายงานผลการดำเนินงาน มีรายได้รวมจำนวน 33,797 ล้านบาทและรายได้จากการให้บริการจำนวน 26,648 ล้านบาทในไตรมาสสองของปี 2564 หนุนโดยฐานผู้ใช้บริการที่เติบโตต่อเนื่องทั้งธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ บรอดแบนด์และดิจิทัล ขณะที่รายได้จากทรูวิชั่นส์ปรับลดลงจากผลกระทบของเศรษฐกิจและ COVID-19 ทรูมูฟ เอช ยังเติบโตได้สูงกว่าอุตสาหกรรม มีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 จากไตรมาสก่อนหน้า เทียบกับภาพรวมอุตสาหกรรมที่ทิศทางของรายได้ทรงตัวถึงลดลงหากไม่รวมทรูมูฟ เอช (ลดลงร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อนและร้อยละ 1.8 จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน) นอกจากนี้ การมุ่งเน้นบริหารต้นทุนและเพิ่ม productivity อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวมลดลงร้อยละ 11 จากไตรมาสก่อนและร้อยละ 8 จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน ผลักดันให้ EBITDA เติบโตร้อยละ 4.5 จากไตรมาสก่อนและร้อยละ 12.5 จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนเป็น 14,687 ล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี (EBIT) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 จากไตรมาสก่อนและร้อยละ 35.4 จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนเป็น 3,620 ล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2564

ทั้งนี้ จุดแข็งของกลุ่มทรูด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและโทรคมนาคมคุณภาพสูงอย่าง 5G, NB-IoT, คลาวด์ และ FTTx รวมถึงคอนเทนต์ยอดนิยมและสื่อดิจิทัลที่ครบครันจาก TrueID ภายใต้ True Digital Group ซึ่งเป็น Super App รองรับทุกความต้องการของผู้ใช้งาน ทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าและสร้างรายได้ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดเสมอมา โดยเติบโตร้อยละ 77 จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน และร้อยละ 15 จากไตรมาสก่อน พร้อมด้วยบริการสตรีมมิ่งพรีเมียมคอนเทนต์จาก TrueVisions NOW ตลอดจนการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและมีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนให้กลุ่มทรูเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในยุคใหม่ที่การใช้งานดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “แม้ในสถานการณ์ COVID-19 ที่เป็นช่วงเวลาท้าทายนี้  ก็ยังมีหลายปัจจัยพื้นฐานสำคัญของกลุ่มทรูที่เป็นโอกาสให้กลุ่มทรูสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุกกระบวนการเพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้า ทำให้เพิ่มความพึงพอใจและสามารถขยายฐานลูกค้าคุณภาพของกลุ่มทรูได้อย่างแข็งแกร่ง ทั้งในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ บรอดแบนด์และดิจิทัลในไตรมาสสองที่ผ่านมา อีกทั้งความมุ่งมั่นที่จะขยายและเพิ่มประสิทธิภาพของเครือข่ายโทรคมนาคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชาวไทยมั่นใจในการใช้บริการได้อย่างมีคุณภาพโดยเฉพาะช่วงที่ต้องทำงานและเรียนที่บ้าน ขณะเดียวกันเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพสูงที่กลุ่มทรูให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 นี้ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนภาคส่วนอย่างโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามที่สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยให้ประเทศก้าวผ่านวิกฤตนี้ด้วย นอกจากนี้ กลุ่มทรู ยังให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนไทยในยุคนี้ มีการส่งมอบนวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มความสุขและความสะดวกให้กับคนไทย อาทิ แพลตฟอร์มโซลูชันผสานเทคโนโลยีคลาวด์ “True Virtual World” แพลตฟอร์มด้านสุขภาพ Teleclinic และ True Health เสริมทัพทีมแพทย์ รวมถึงการสรรหาคอนเทนต์คุณภาพชั้นนำที่หลากหลายมารวมไว้ใน TrueID และ TrueVisions นอกจากนี้ ยังเดินหน้านำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าในทุกกลุ่มแบบ end-to-end มากยิ่งขึ้น ผ่านระบบนิเวศและแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมครบทุกสินค้าและบริการคุณภาพสูงของกลุ่มทรู คอนเทนต์และสื่อดิจิทัล เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย การใช้ AI และวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Analytics) ผนึกกำลังของทั้งทรูดิจิทัลและ EGG Digital ด้วยความชำนาญด้านการตลาดดิจิทัลโดยเฉพาะ เพื่อนำเสนอสินค้า บริการและสิทธิประโยชน์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและภาคธุรกิจได้อย่างตรงจุด ตลอดจนการบำรุงรักษาเชิงรุก พร้อมบริหารความสัมพันธ์และเพิ่ม engagement ของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การผสานความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีช่องทางการขายและจัดจำหน่ายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้เพิ่มความเข้าใจลูกค้า สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอให้เข้ากับสภาวะตลาดในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งความพร้อมและครบครันเรื่องช่องทางออนไลน์และดิจิทัลในการให้บริการและการขาย ทำให้สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การทำธุรกรรมออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเร่งให้กลุ่มทรูเติบโตด้วยฐานะทางการเงินที่มั่นคง และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของเราจะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในเร็ววัน”

นางสาวยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่ม ด้านการเงิน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กลุ่มทรูมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในไตรมาสสองที่ผ่านมา ด้วยความมุ่งมั่นบริหารค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ยังสามารถรักษาระดับรายได้ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่ส่งผลในวงกว้างอย่างรวดเร็ว โดยสามารถรักษาระดับการเติบโตของ EBITDA และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี (EBIT) ในอัตราแบบเลขสองหลักจากปีก่อน ในขณะที่ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในระหว่างไตรมาส กระทบต่อผลกำไรของบริษัท ทั้งนี้ กลุ่มทรูจะเดินหน้าปรับโครงสร้างต้นทุนและรักษาวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัดเพื่อเพิ่ม productivity และผลตอบแทนจากการลงทุน มุ่งสู่การสร้างผลกำไรได้อย่างยั่นยืน พร้อมรากฐานที่มั่นคงให้สามารถปรับตัวและรองรับความท้าทายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต”

ทรูมูฟ เอช มีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิประมาณ 488,700 รายในไตรมาส 2 ทำให้รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ1.2 จากไตรมาสก่อนเป็น 20,171 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมมีรายได้ที่ทรงตัวหรือลดลง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ซึ่งขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ใช้บริการโดยเฉพาะในระบบเติมเงินมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น โดยทรูมูฟ เอช มุ่งเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการด้วยแพ็กเกจที่คุ้มค่า ผสานคอนเทนต์และสิทธิประโยชน์หลากหลาย เพื่อช่วยสนับสนุนและลดผลกระทบต่อกลุ่มผู้ใช้บริการดังกล่าวได้มากขึ้น สำหรับกลุ่มลูกค้าระบบรายเดือน ทรูมูฟ เอช ยังคงเติบโตและมีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิประมาณ 352,300 ราย หนุนโดยผู้ใช้งาน 5G บนระบบทรูมูฟ เอช ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 จากไตรมาสก่อนเป็น 1 ล้านราย ผ่านเครือข่าย 5G ที่มอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีและครอบคลุมสูงสุดทั่วประเทศ ทำให้ฐานลูกค้ารวมเพิ่มขึ้นเป็น 31.7 ล้านราย ในขณะเดียวกัน กลุ่มทรูมุ่งสร้างการเติบโตจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมเกมส์ ร่วมกับ Bifrost Cloud ผู้ให้บริการเทคโนโลยีคลาวด์ระดับโลกจากประเทศจีน เปิดให้บริการ “True 5G Cloud Gaming by Netboom” ในประเทศไทยบนเครือข่าย True 5G พลิกโฉมจาก PC สเปกสูง หรือ คอนโซล ลงบนสมาร์ทโฟน สามารถเล่นได้แบบทุกที่ทุกเวลา นอกจากนี้ ยังเดินหน้าสร้างระบบนิเวศ 5G และผสานความร่วมมือกับภาคธุรกิจต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตและการใช้งาน 5G ในประเทศมากยิ่งขึ้น โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับมิตซูบิชิ อีเล็คทริค และเลิศวิลัย ในการสร้างต้นแบบ 5G Smart Factory ผ่านเครือข่าย True 5G Private Network ที่ให้การรับส่งข้อมูลความเร็วสูง รวมถึงความเสถียรและความปลอดภัย  อีกทั้งยังได้ลงนามความร่วมมือ KT Corporation ผู้นำด้านบริการโทรคมนาคมของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ 5G รายแรกของโลก ในการร่วมพัฒนานวัตกรรมบริการดิจิทัล อาทิ Enterprise LTE/5G และ Giga Eyes ซึ่งจะนำมาต่อยอดการให้บริการในปัจจุบันของทรูให้ทันสมัยและตอบโจทย์ลูกค้าทั้งลูกค้าองค์กร และลูกค้าทั่วไปได้มากยิ่งขึ้น

ทรูออนไลน์ มีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิ 105,000 ราย ขยายฐานผู้ใช้บริการเป็น 4.4 ล้านราย หนุนรายได้จากการให้บริการบรอดแบนด์เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากไตรมาส 2 ของปีก่อนและร้อยละ 2 จากไตรมาสก่อนหน้าเป็น 7,317 ล้านบาท การเติบโตที่แข็งแกร่งนี้เป็นผลจากการใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกในการบำรุงรักษาเชิงรุกและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่คุ้มค่าและมีคุณภาพสูงอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้สะท้อนความเป็นแบรนด์ในใจผู้บริโภคและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ การันตีจากรางวัลชนะเลิศ สาขาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 และเป็นแบรนด์จากประเทศไทยเพียงรายเดียว จาก World Branding Awards ประเทศอังกฤษ ทรูออนไลน์ มุ่งเพิ่มประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้าด้วยนวัตกรรมดีไวซ์ อาทิ True Gigatex Fiber PRO เราเตอร์ WiFi6 ล่าสุด ซึ่งมาพร้อม WiFi Chipset ใหม่ที่เพิ่มประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูลได้เร็วกว่าและแรงกว่า ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ลดจุดอับสัญญาณและตัดสัญญาณรบกวน ทั้งยังมีเทคโนโลยี Band Steering เลือกสัญญาณที่ดีที่สุดให้แบบอัตโนมัติ นอกจากนี้ ทรูออนไลน์ยังเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้าผ่าน TrueID TV และแพลตฟอร์ม True Virtual World พร้อมด้วย VLEARN VWORK และ VLIVE ตอบโจทย์ความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตบ้านที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการทำงาน เรียนออนไลน์และรับชมความบันเทิงที่บ้าน

ทรูวิชั่นส์ มีรายได้จากการให้บริการ 2,381 ล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2564 โดยสัดส่วนรายได้จากการสมัครรับชมคอนเทนต์เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 61.5 ของรายได้จากการให้บริการ เทียบกับร้อยละ 60.8 ในไตรมาสก่อน ธุรกิจของทรูวิชั่นส์ได้รับผลกระทบจากการสถานการณ์ COVID-19 โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าโรงแรม การระมัดระวังในการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น และการจัดอีเวนท์บันเทิงที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ทรูวิชั่นส์เล็งเห็นศักยภาพการเติบโตในตลาด OTT และมุ่งสร้างรายได้ทั้งจากคอนเทนต์ยอดนิยมจากต่างประเทศและในประเทศ พร้อมตอกย้ำความแข็งแกร่งในฐานะผู้นำคอนเทนต์กีฬาชั้นนำ King of Sports ที่มีหลากหลายประเภทกีฬาที่ครบมากสุดในไทย อีกทั้งยังให้บริการในรูปแบบคอนเทนต์สตรีมมิ่ง TrueVisions NOW ซึ่งทรูวิชั่นส์เชื่อว่าพัฒนาการเหล่านี้จะช่วยเพิ่มรายได้และขยายฐานลูกค้าให้เติบโตจากกว่า 3.7 ล้านราย ณ สิ้นไตรมาส 2 อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความผูกพันที่เหนียวแน่นยิ่งขึ้นเพราะลูกค้าสามารถเพิ่มการรับชมคอนเทนต์ได้แบบทุกที่ ทุกเวลาผ่านแพลตฟอร์มที่หลากหลายของกลุ่มทรู

ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ขยายระบบนิเวศและสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ในไตรมาส 2 ปี 2564 ทรูไอดี ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสื่อดิจิทัลสามารถสร้างรายได้ที่เติบโตร้อยละ 77 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2563 และร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2564 อีกทั้ง มีจำนวนผู้ใช้งานรายเดือนเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 25 ล้านคน และมียอดรับชมคอนเทนต์วีดิโอต่อเดือนโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นที่ 265 ล้านครั้งต่อเดือน ประกอบกับการเพิ่มความแข็งแกร่งคอนเทนต์ในทรูไอดีแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มียอดจำนวนการซื้อคอนเทนต์ด้านบันเทิงเพื่อรับชมภายในแอปพลิเคชันเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ในขณะที่คอนเทนต์ด้านกีฬารวมถึงพรีเมียร์ลีกอังกฤษ เพิ่มขึ้น 3.3 เท่า จากไตรมาส 2 ปี 2563 นอกจากนี้ ทรูไอดียังขยายผลิตภัณฑ์สื่อดิจิทัล โดยเปิดตัว ทรูไอดีพลัสซึ่งเป็นบริการออนไลน์ในรูปแบบสมัครสมาชิกเพื่อรับชมคอนเทนต์วีดิโอตามความต้องการทุกที่และทุกเวลาบนแพลตฟอร์มของทรูไอดี ทั้งแอปพลิเคชัน เวบไซต์ และกล่องโทรทัศน์ ขณะเดียวกัน ทรูไอดี ทีวี มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยมียอดสูงถึง 2.5 ล้านกล่อง สำหรับด้านลูกค้าองค์กร กลุ่มธุรกิจดิจิทัลโซลูชัน มีรายได้เติบโตสูงถึงร้อยละ 29 จากไตรมาส 1 ปี 2564 และร้อยละ 15 จากไตรมาส 2 ปีก่อนหน้า ด้วยการขยายโซลูชันที่ให้บริการและเชื่อมต่ออุปกรณ์เซ็นเซอร์ IoT ได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีการนำเสนอแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน ทรู โดรน อย่างเป็นทางการ โดยเป็นการนำโดรนมาใช้ในการฉีดพ่นทางการเกษตร ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายสำหรับเกษตรกร นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบ True Smart Energy Management เพื่อช่วยการบริหารพลังงานและลดค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าองค์กร โดยจากการทดสอบสามารถช่วยประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายได้ถึงร้อยละ 10 ต่อเดือน

หมายเหตุ:

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวมไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย

Comments

comments