จะเป็นอย่างไร ถ้าทุกคนสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เองได้ และสามารถสะสมพลังงานไฟฟ้าไว้เพื่อซื้อขาย กันเองโดยไม่ต้องผ่านคนกลางอย่างโรงงานไฟฟ้า หรือหน่วยงานภาครัฐ หากแต่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย หรือบุคคลทั่วไปก็สามารถทำได้
บทความนี้จึงขอพาไปรู้จักกับ mini REC แพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานรายย่อยที่พัฒนาโดย บล็อคฟินท์ ซึ่งล่าสุดผลงานนี้ได้คว้ารางวัลสตาร์ทอัพด้านดิจิทัลยอดเยี่ยมอันดับที่ 5 จากโครงการ Spark Ignite 2021 – Thailand Start-up Competition ซึ่งจัดขึ้นโดย บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)
ภาพรวมการซื้อขาย RECs
ในปัจจุบัน การซื้อขายพลังงานไฟฟ้าเป็นแบบ Peer to Peer Energy Trading ซึ่งเป็นระบบซื้อขายพลังงานผ่านเทคโนโลยี Blockchain ระหว่างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนกับชุมชน โดยผู้ผลิตจะได้สิทธิ์ใน RECs (Renewable Energy Certificates) หรือที่รู้จักกันในชื่อว่าใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน ที่มีการซื้อขายทั้งแบบซื้อพลังงานสะอาดพร้อม RECs และการซื้อพลังงานแยกออกจาก RECs ก็ทำได้เช่นกัน
จากข้อมูลกองบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก วงจรการซื้อขาย RECs จะประกอบไปด้วยผู้ซื้อ (Participant) ผู้ขาย (Registrant) และ ผู้ให้การรับรอง (Issuer) ซึ่งในบ้านเราคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยปกติการซื้อขายพลังงานจะต้องขายที่ 1 MWh มีค่าเท่ากับ 1 REC เมื่อผู้ซื้อแจ้งความต้องการซื้อไปยังผู้ขายที่ได้รับการรับรองจาก กฟผ. จากนั้น กฟผ. จะต้องทำการตรวจสอบผู้ขายและส่งมอบ REC ที่ผ่านการรับรองแล้ว ให้ผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อจะชำระค่า REC ตรงให้กับผู้ขาย ซึ่งในการซื้อขายจะมีค่าใช้จ่ายแฝงอื่น ๆ ที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ต้องรับผิดชอบในหลักหมื่นปลาย ๆ ได้แก่ ค่าขึ้นทะเบียนโรงไฟฟ้า ค่าต่ออายุการขึ้นทะเบียนโรงไฟฟ้า ค่าธรรมเนียมการรับรอง REC ค่าเปิดบัญชีซื้อ-ขาย ค่าธรรมเนียมรายปี ค่าเปิดบัญชี Redemption และค่า Redemption
mini RECs จะไม่จำกัดการซื้อขายพลังงานเฉพาะหน่วยงานอีกต่อไป
จากข้อกำหนดดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ทำให้การซื้อขาย RECs ในปัจจุบัน ที่นอกจากจะดูเหมือนเป็นธุรกิจที่มีผู้เล่นผูกขาดเพียงไม่กี่เจ้าแล้วนั้น ยังดูจะห่างไกลจาก SMEs หรือประชาชนทั่วไป ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการซื้อขาย RECs ได้ แม้ว่าจะสามารถผลิตได้เอง อีกทั้งข้อจำกัดเรื่องปริมาณไฟฟ้าที่จะผลิตเพื่อซื้อขายกันนั้น หากมีจำนวนน้อยกว่า 1 MWh ก็จะยังไม่สามารถเข้าระบบการซื้อขายในปัจจุบันได้ ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงเกินไป เมื่อเทียบกับปริมาณไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตได้และทำการซื้อขายกัน ทำไมต้องสูญเสียมูลค่าของ RECs ในกลุ่มผู้ผลิต รายย่อยไปถึง 59% ของมูลค่า RECs ที่ผลิตได้ในประเทศไทย
บล็อคฟินท์ (Blockfint) ฟินเทคสตาร์ทอัพ ผู้เชี่ยวชาญการนำบล็อกเชนมาใช้งานในการคิดสร้าง ซอฟท์แวร์ระบบ ได้เล็งเห็นข้อจำกัดดังกล่าว จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Gideon เพื่อตอบโจทย์การซื้อขาย RECs ให้กับผู้ซื้อขายรายย่อย ให้สามารถซื้อ RECs ได้ในหน่วยที่เล็กลง ที่เรียกว่า mini RECs โดยมีหน่วย 100 KwH =1 mini REC
สุทธิพงศ์ กนกากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บล็อคฟินท์ จำกัด (Blockfint) ฟินเทคสตาร์ตอัพ ที่มีความเชี่ยวชาญพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน กล่าวว่า “สำหรับ mini REC เป็นมิติใหม่ในการซื้อขาย RECs สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย และประชาชนทั่วไป ที่สามารถผลิตพลังงานสะอาดที่ปกติจะต้องทิ้ง RECs จำนวนนี้ไปอย่างน่าเสียดาย เพราะมูลค่าไม่ถึง 1 MWh ถือเป็นการสร้างระบบนิเวศใหม่ที่จะเชื่อมโยงผู้บริโภค ผู้ขาย ผู้ซื้อ และพันธมิตร ให้เข้าถึงการซื้อขาย RECs ได้ง่ายขึ้น”
“เราใช้แพลตฟอร์ม Gideon เป็นเครื่องมือในการรวบรวม mini RECs เพื่อให้สามารถซื้อขายได้ทั้ง RECs และ mini RECs อีกทั้งเรายังมองว่า mini RECs ยังสามารถส่งเสริมให้หน่วยงานต่าง ๆ หรือคนทั่วไป หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มได้อีก เช่น การใช้ mini RECs แลกรับส่วนลดสำหรับผลิตภัณฑ์ จากบริษัทพันธมิตรที่ต้องการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในสังคมไทย”
โอกาสการเกิดของ mini RECs จะเป็นได้จริงแค่ไหน ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการซื้อขาย และรวมถึงพันธมิตร ที่ต้องการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในประเทศไทย และพิจารณาโดยยึดประโยชน์ สูงสุด ที่ผู้ผลิตไฟรายย่อย และประชาชนจะได้รับจากการซื้อขาย mini RECs ซึ่งจะทำให้เกิดการตระหนักรู้ การใช้พลังงานสะอาด และส่งเสริมการใช้งานพลังงานสะอาดได้ถึงระดับประชาชนทั่วไปได้อย่างแน่นอน