บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เป็นเวลา 5 ปี ในการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาระบบ IoT เทคโนโลยีสารสนเทศ และวิศวกรรม ข้อตกลงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาลไทย

วัตถุประสงค์ของ MOU นี้ คือการอำนวยความสะดวกในการถ่ายทอดความรู้จากบริษัทเอกชนไปยังสถาบันการศึกษาอย่างประสบผลสำเร็จ รวมถึงส่งเสริมให้นักศึกษาพัฒนาความรู้และทักษะผ่านการปฏิบัติงานจริง นอกจากนี้ ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างทั้งสองฝ่าย และพัฒนาศักยภาพของทั้งคณาจารย์และนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ของสถาบัน KMITL อีกด้วย

ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว เดลต้าจะเข้าร่วมในการพัฒนาหลักสูตรของสถาบันเพื่อตอบสนองนโยบายการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศในด้านระบบ IoT เทคโนโลยีสารสนเทศ และวิศวกรรม ทั้งสองฝ่ายจะให้ความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนา และจัดสัมมนาฝึกอบรม ทดสอบ และให้คำแนะนำทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับระบบ IoT เทคโนโลยีสารสนเทศ และวิศวกรรม

เดลต้ามีเป้าหมายระยะสั้นในการจัดตั้งห้องสาธิตที่ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ของ KMITL เพื่ออำนวยความสะดวกในการฝึกอบรมเกี่ยวกับตัวควบคุมห้อง ระบบอัตโนมัติในอาคาร และโซลูชันไมโครดาต้าเซ็นเตอร์ สำหรับเป้าหมายในระยะยาวนั้น เดลต้าจะจัดหาวิศวกรผู้เชี่ยวชาญในการเป็นวิทยากรรับเชิญสำหรับหลักสูตรเฉพาะด้านการใช้งานผลิตภัณฑ์และการตั้งค่าโปรแกรมต่างๆ

นายเคอร์ติส คู ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจระดับภูมิภาคของเดลต้า และนายยงยุทธ ภักดวงจันทร์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายรัฐบาลและกิจสาธารณะ เป็นตัวแทนจากบริษัทเดลต้า และมีรองศาสตราจารย์ ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และรองศาสตราจารย์ นายบุณย์ชนะ ภู่ระหงษ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นตัวแทนจาก KMITL ร่วมลงนามใน MOU ดังกล่าว

นาย เคอร์ติส คู ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจระดับภูมิภาคของเดลต้ากล่าวในโอกาสนี้ว่า “บริษัทรู้สึกตื่นเต้นที่ได้สานต่อความร่วมมืออันแข็งแกร่งที่เรามีกับ KMITL ผ่านการสนับสนุนการพัฒนาระบบ IoT ของประเทศไทยและการศึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ งานนี้ไม่เพียงแต่ยกระดับร่วมมือของเดลต้าต่อการศึกษาระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลและความมุ่งมั่นของเดลต้าในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมอัจฉริยะภายในประเทศ”

ก่อนหน้านี้ เดลต้าได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรมที่ KMITL ซึ่งเป็นสถาบันพันธมิตรของโครงการ เดลต้า ออโตเมชั่น อะคาเดมี (Delta Automation Academy) โดยภายใต้โครงการได้จัดให้มีการฝึกอบรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติล่าสุดและหลักสูตรในการฝึกอบรมนักศึกษาวิศวกรรมไทยโดยใช้อุปกรณ์อัตโนมัติขั้นสูงที่เดลต้ามอบให้ ซึ่งรวมถึงหุ่นยนต์อุตสาหกรรม อุปกรณ์ควบคุมการทำงานทางอิเล็กทรอนิกส์ (Programmable logic controller: PLC) แพลตฟอร์มโต้ตอบระหว่างผู้ใช้และอุปกรณ์อัตโนมัติ (Human machine interface: HMI) และระบบควบคุมเซอร์โว (Servo systems)

โครงการ เดลต้า ออโตเมชัน อะคาเดมี ได้ให้การฝึกอบรมแก่นักศึกษาวิศวกรรมไทยกว่า 800 คนที่ห้องแล็บระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติของเดลต้า (Delta Automation Labs) ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือและธนบุรี

Comments

comments