รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา ติดตามความสำเร็จโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในชุมชน พร้อมมอบหมาย ดีป้า เร่งจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีดิจิทัลในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลจากดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย เพื่อเป็นส่วนช่วยในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ รองรับชีวิตวิถีใหม่ พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ก่อนก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ต่อไป
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ลงพื้นที่ติดตามความสำเร็จของ โครงการส่งเสริมเทคโนโลยีในการเฝ้าระวังพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ของ สมาคมประมงพื้นบ้านชายฝั่งอ่าวไทยอำเภอสทิงพระ ในจังหวัดสงขลา ที่ประยุกต์ใช้ระบบติดตามเรือประมง (GPS Tracker) จำนวน 20 ลำ ซึ่งผสมผสานระหว่างจุดพิกัดบอกตำแหน่งด้วยดาวเทียม (GPS) ร่วมกับสัญญาณอินเตอร์เน็ตจากเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายตามแผนปฏิบัติการสากลว่าด้วยการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม โดยสามารถลดต้นทุนในการทำประมง และเพิ่มรายได้เฉลี่ย 20%
นายชัยวุฒิ เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลฯ มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน รวมไปถึงภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ชุมชน และสังคม ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ รองรับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ก่อนก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ (Smart City) โดยหนึ่งในกลไกสำคัญคือ กิจกรรมส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนเมืองเศรษฐกิจอัจฉริยะต้นแบบ (Smart Economy Showcase) จังหวัดสงขลา ซึ่งจัดโดย ดีป้า ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ร้านค้ารายย่อย หาบเร่ แผงลอย ได้พบกับดิจิทัลสตาร์ทอัพ พร้อมรับคำปรึกษา เรียนรู้วิธีการใช้งาน และเลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พร้อมกันนี้ยังได้มอบหมายให้ ดีป้า เร่งจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีดิจิทัลในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ และได้มาตรฐานจากเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยที่ขึ้นทะเบียนผู้ให้บริการดิจิทัล (Digital Provider) กับ ดีป้า เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยการขับเคลื่อนของทีมงาน ดีป้า สาขาภาคใต้ตอนล่าง ที่ปักหมุดพร้อมให้คำปรึกษา แนะนำในจังหวัดสงขลา
ด้าน ดร.ณัฐพล กล่าวว่า นอกเหนือจากโครงการข้างต้นแล้ว ดีป้า ยังคำนึงถึงผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่เกษตรกรทั่วประเทศกำลังประสบ โดยเฉพาะฝนที่ตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดน้ำท่วม ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ยังผลให้ราคาพืชผักสูงขึ้น ซึ่ง ดีป้า ได้ส่งเสริมให้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหม่อนผลแปรรูปกลุ่มใต้ร่มบุญ ในอำเภอหาดใหญ่ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Smart Farm ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกนอกฤดูกาล ลดปัญหาราคาพืชผลสูง อันเนื่องมาจากผลผลิตขาดตลาด สร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรกว่า 20% หรือคิดเป็นมูลค่า 99,504 บาทต่อปี อีกทั้งช่วยลดต้นทุน ไม่น้อยกว่า 15% คิดเป็นเม็ดเงินราว 16,992 บาทต่อปี
นอกจากนี้ ดีป้า ยังได้ร่วมมือกับ บริษัท ซีพีเอส เวเธอร์ จำกัด และ บริษัท ซีพีเอส อะกริ จำกัด พัฒนาแอปพลิเคชัน ‘ฟ้าฝน’ ผู้ช่วยพยากรณ์อากาศล่วงหน้า 7 วัน ซึ่งผู้ใช้งานสามารถดูความเคลื่อนไหวของสภาพอากาศผ่านดาวเทียมที่มีความละเอียดและแม่นยำ พร้อมตั้งค่าเพื่อรับการแจ้งเตือนพายุ ฝน ลม และความเปลี่ยนแปลงฉับพลันของอุณหภูมิได้แบบรายแปลง รายพิกัด เพื่อนำมาวางแผนป้องกันและรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น
“ดีป้า พร้อมทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงประชาชนในพื้นที่จังหวัดสงขลารวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศในการขับเคลื่อนจังหวัดสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ โดยส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจากเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพ และผ่านการทดสอบความเป็นไปได้จริง (Proof of Concept: POC) มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาของเมือง ตอบสนองความต้องการของประชาชน พัฒนาเมืองตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการข้อมูลเมือง (City Data Platform) เพื่อนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขของภาคประชาชนอย่างยั่งยืน” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว