สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) หรือ National Cyber Security Agency : NCSA ชู 6 หลักสูตร ในโครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์(Intensive Cybersecurity Capacity Building Program) ระยะที่ 1 เพื่อยกระดับศักยภาพบุคลการด้านไซเบอร์ตามแนวทางมาตรฐานสากล

พลเอก ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกกำลังพัฒนาไปสู่ยุคดิจิทัล ทำให้ภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยแนวทางในการแก้ปัญหาประกอบด้วย 3 ประการ คือ People Process Technology ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือ People หรือคน เพราะหากคนมีความตระหนักรู้ มีความรู้ความสามารถในการแก้ปัญหา จะช่วยลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์มิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ

สกมช. ในฐานะหน่วยงานที่ขับเคลื่อนประเทศตาม พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ได้ดำเนินโครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Intensive Cybersecurity Capacity Building Program) ระยะที่ 1 ระหว่างปี 2564-2565 เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้ประเทศไทยก้าวล้ำไปสู่โลกดิจิทัลได้อย่างมั่นคง มีความพร้อมในการป้องกันรับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรจำนวน 2,250 คน

นาวาอากาศเอก อมร ชมเชย รองเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า ภายใต้โครงการฯ มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการสอบใบประกาศนียบัตรและใบรับรองความเชี่ยวชาญไซเบอร์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการยกระดับศักยภาพบุคลากรด้านไซเบอร์ของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ การจัดทำหลักสูตรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในระดับพื้นฐานและระดับผู้เชี่ยวชาญ ได้ดำเนินการสอดคล้องตามแนวทางมาตรฐาน NICE ซึ่งเป็นมาตรฐานในการพัฒนาบุคลการด้าน Cybersecurity และแนวคิดสมรรถนะวิชาชีพ (Competency-based) ซึ่งประกอบด้วย องค์ประกอบ KSA ได้แก่ องค์ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) และความสามารถ (Abilities) ที่เกี่ยวข้องด้าน Cybersecurity

ทั้งนี้ประกอบด้วย 6 หลักสูตร (รายละเอียดในเอกสารแนบ) โดยในแต่ละหลักสูตรมีเนื้อหาสอดคล้องกับหลักสูตรประกาศนียบัตรระดับสากล เพื่อให้มีความรู้เทียบเท่ากับบุคลากรของประเทศที่ได้รับการยอมรับ รวมทั้งเพื่อสร้างความพร้อมในการเข้าสู่การสอบใบประกาศนียบัตรระดับสากลต่อไป

ยกตัวอย่างความสอดคล้องของหลักสูตรเพื่อเตรียมความพร้อมในการสอบใบประกาศนียบัตรสากลมี ดังนี้

  • หลักสูตรด้านความมั่นคงปลอดภัยระดับพื้นฐาน มีความสอดคล้องต่อการเตรียมความพร้อมเพื่อการสอบใบประกาศนียบัตรสากล EC-Council Security Specialist (ECSS) ของสถาบัน EC-Council
  • หลักสูตรด้านความมั่นคงปลอดภัยระดับผู้เชี่ยวชาญ มีความสอดคล้องต่อการเตรียมความพร้อมในการสอบใบประกาศนียบัตรสากล Security+ ของสถาบัน CompTIA
  • หลักสูตรด้านความมั่นคงปลอดภัยระดับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีความสอดคล้องต่อการเตรียมความพร้อมเพื่อการสอบประกาศนียบัตร CISSP (Certified Information Systems Security Professional) ของสถาบัน (ISC)2

โดยเป้าหมายหลักของโครงการฯ ต้องการให้เกิดผลลัพธ์สำคัญที่จะบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ในการฝึกทักษะ ยกระดับศักยภาพ และขีดความสามารถของบุคลการด้านไซเบอร์ของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII : Critical Information Infrastructure)  และหน่วยสำคัญ ๆ ของประเทศ ให้มีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานสากล ทัดเทียมกับการพัฒนาด้านนี้ของประเทศอื่นในภูมิภาค

ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) หรือ National Cyber Security Agency : NCSA ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ระเบียบ มาตรการ มาตรฐานขั้นต่ำ แนวทางปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สำหรับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เป็นหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ มิให้เกิดผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน ตลอดจนความมั่นคงของรัฐ และ ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยประสานงาน เฝ้าระวัง รับมือและแก้ไขภัยคุกคามทางไซเบอร์ เมื่อมีเหตุภัยคุกคามเกิดขึ้น อย่างมีนัยสำคัญให้หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศดำเนินการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคาม และรายงานต่อสำนักงานและหน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแลโดยเร็ว และสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากพบการโจมตีทางไซเบอร์ สามารถติดต่อและส่งเอกสารได้ที่ ncert@ncsa.or.th หรือ โทร. 0-2141-6885

Comments

comments