บุคลากรที่สมดุล (Balanced Workforce) ถือเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ การได้มุมมองที่หลากหลายจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพที่ดีขึ้นในการแก้ไขปัญหา รวมถึงความก้าวหน้าทางนวัตกรรม
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี (TMT) มักถูกมองว่าขาดความสมดุลทางบุคลากร โดยเฉพาะในแง่เพศสภาวะ โดยรายงานฉบับหนึ่งของ Deloitte Insights ระบุว่าสัดส่วนของผู้หญิงในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกนั้นคิดเป็นเพียงราว 25 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีขนาดเล็กกว่าอาจประสบความท้าทายกว่ามากในการเพิ่มและรักษาความหลากหลายทางเพศภายในองค์กร โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากร การขาดซึ่งกระบวนการจ้างงานที่ส่งเสริมความหลากหลายในระดับองค์กร และการขาดการรายงานข้อมูลด้านความหลากหลายของบุคลากร
ที่ดีแทค เราพบว่า “ผู้หญิง” เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้ามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวัน “สตรีสากล” หรือ International Women’s Day 2022 และส่งเสริมคุณค่าความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมของทุกคน dtacblog จึงขอนำทุกคนมา #BreakTheBias ผ่านการพูดคุยกับ 3 หญิงเก่งแห่งกลุ่มงานเทคโนโลยี ผู้อยู่เบื้องหลังหลากหลายนวัตกรรมของดีแทค
ทีมที่สมดุลนำมาซึ่งนวัตกรรม
ไพลิน อิทธิวัฒนกุล – หนูลิน, ปิยนุช ชัยพรแก้ว – นุช, ดร.ธิดา พงศ์สงวนสิน – พลอย คือกำลังสำคัญของทีม Data Analytics แห่งเทคโนโลยีกรุ๊ป นำมาสู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับโครงข่ายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านการใช้ดาต้า รวมถึงเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานโครงข่าย จากการรวบรวมข้อมูลสถานีฐานทั่วประเทศ ภายใต้จุดมุ่งหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี2573
ไพลินมีหน้าที่หลักในการวิเคราะห์ข้อมูล ส่วนปิยนุชและ ธิดานั้นรับหน้าที่สำคัญในการพัฒนาโมเดล Machine Learning เพื่อตรวจจับจุดบกพร่องของโครงข่าย ทำให้การซ่อมแซมเกิดขึ้นอย่างทันการณ์ ตลอดจนคาดการณ์แนวโน้มNet Promoter Score (NPS) หรือเครื่องมือที่ใช้วัดความพึงพอใจของลูกค้าต่อบริการโครงข่าย ทำให้สามารถป้องกันปัญหาได้ดีและแม่นยำมากขึ้น
“งานส่วนใหญ่ของทีมจะเป็นงานที่เกี่ยวกับดาต้า ซึ่งการมีส่วนผสมของทีมงานที่มีความหลากหลายจะช่วยเติมเต็มจุดแข็งซึ่งกันและกันได้ดีมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงจะมีความละเอียดลออค่อนข้างมาก คิดเยอะ ซึ่งจุดนี้ช่วยเสริมให้เกิดการวิเคราะห์ที่ดี เนื่องจากงาน Data analytics จะต้องมีการตั้งสมมติฐาน เพื่อให้สามารถหาคำตอบที่สงสัย แล้วหาอินไซต์จากข้อมูลนั้นๆ ออกมา นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดมากขึ้น” ไพลินอธิบาย
วัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกคน
อย่างไรก็ตาม หากมองภาพใหญ่กว่าเรื่องเพศสภาพแล้ว สิ่งสำคัญคือเรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้าง ส่งเสริมให้เคารพซึ่งกันและกัน และการมีส่วนร่วมของทุกคน ซึ่งที่ดีแทค ประเด็นดังกล่าวเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และสะท้อนอยู่ในวัฒนธรรมและ DNA ขององค์กร
“ครั้งหนึ่งมีโอกาสได้เดินทางไปลงพื้นที่ เพื่อสำรวจติดตั้งเสาสัญญาณ ภาพในหัวคิดว่าคนทำงานภาคสนามจะต้องเป็นผู้ชายแน่ๆ เพราะต้องทำงานตากแดดร้อนๆ แต่พอถึงพื้นที่จริงๆ กลับเป็นพี่ผู้หญิง ขึ้นมอเตอร์ไซค์ทำรังวัด ทะมัดทะแมงมากจริงๆ ทำให้รู้สึกเลยว่าเรื่องเพศสภาวะไม่ได้เป็นปัญหากับการทำงานที่ดีแทคเลย” ไพลินเล่า
ทั้งสามทำงานร่วมกับสมาชิกในทีมที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานเลย ธิดา บอกว่า สมาชิกในทีมยึดหลักการทำงานพฤติกรรม 4 ประการของดีแทค (dtac behaviors) เป็นแนวปฏิบัติในการทำงาน ได้แก่ Always Explore (การเรียนรู้อยู่เสมอ), Create Together (การสร้างสรรค์ร่วมกัน), Keep Promises (การรักษาสัญญา) และ Be Respectful (การให้ความเคารพซึ่งกันและกัน) ดังนั้น สมาชิกในทีมจะยึดที่ผลของการดำเนินงาน และเคารพในสิทธิและความคิดเห็นของแต่ละบุคคล
การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์แรงงานสายเทคโนโลยี
ทั้งสามคนฉายภาพการเปลี่ยนผ่านสายงานเทคโนโลยีในมิติทางเพศว่า ปัจจุบันสายงานวิศวกรรมมีความเปิดกว้างมากขึ้น จากในอดีต คนอาจมองว่าผู้หญิงเรียนสู้ผู้ชายไม่ได้เนื่องจากปัจจัยทางกายภาพ ตลอดจนค่านิยมทางสังคม ทำให้ผู้หญิงที่เรียนในคณะวิศวกรรมมีสัดส่วนที่น้อย แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผู้หญิงได้แสดงให้เห็นว่าปัจจัยทางกายภาพไม่ได้มีผลต่อการศึกษาในคณะวิศวกรรมและการทำงานในสายงานที่ถูกมองว่าชายเป็นใหญ่ (male dominance) อย่างอุตสาหกรรมเทคโนโลยี
“เรามีเพื่อนที่ไปประจำตามนิคมอุตสาหกรรมหรือโรงปูนมากขึ้น คนในก็เรียกเพื่อนผู้หญิงเราว่านายช่าง ทุกคนทำงานให้เกียรติซึ่งกันและกัน โดยไม่มีอคติทางเพศเข้ามาเป็นอุปสรรคเลย จึงอาจบอกได้ว่า สังคมไทยมีพลวัฒน์ต่อการเปิดกว้างทางเพศในสนามแรงงานมากขึ้น ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่น่าสนใจอย่างยิ่ง” ปิยนุชกล่าว
นอกจากการเปิดกว้างในสนามแรงงานแล้ว การสร้างสภาพแวดล้อมภายในองค์กรที่เอื้อต่อการเติบโตของผู้หญิงก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ อย่างที่ดีแทคนั้นมีนโยบายลาคลอด 6 เดือนโดยยังได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน ทำให้พนักงานหญิงนั้นสามารถรักษาสมดุลระหว่างบทบาทความเป็นแม่และความสำเร็จในการทำงาน
“การมีสมาชิกที่มีความหลากหลายอยูในทีม ทำให้เราสามารถใช้จุดแข็งของสมาชิกแต่ละคนได้และเกิดเป็นภาพความลงตัวพอดี นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ทุกคน (Inclusive innovation) และเข้าใจความต้องการลูกค้าอย่างแท้จริง” ปิยนุชทิ้งทาย