สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) และหน่วยบริหารและจัดการทุน พร้อมด้วยหน่วยงานร่วมจัด รวม 17 หน่วยงาน แถลงถึงความพร้อมในการจัดงาน “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย TRIUP Fair 2022” ซึ่งเป็นการจัดครั้งแรกของประเทศไทย กับกิจกรรมเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ที่จะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยปลดล็อกความเป็นเจ้าของและผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ ให้เกิดการต่อยอด และการใช้งานได้จริง เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดดในทุกๆ ด้าน โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 เมษายน 2565 เวลา 10.00 – 18.00 น. ณ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่าน มิตรทาวน์
ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดเผยว่า “ประเทศของเรากำลังเข้าสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม แต่ยังพบอุปสรรคและเป็นปัญหามานานนับ 10 ปี ที่ทำให้ผลงานวิจัยไม่ได้รับการต่อยอดและนำไปใช้ได้จริง ดังนั้นการมี พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 จะช่วยปลดล็อกความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากงบประมาณสนับสนุนของภาครัฐจนเป็นผลสำเร็จ โดยรัฐที่มีหน้าที่ในการให้ทุนสนับสนุน ผู้รับทุนหรือนักวิจัยมีสิทธิเป็นเจ้าของผลงาน กำหนดหลักเกณฑ์ในการโอนความเป็นเจ้าของผลงาน ส่วนผู้ที่ต้องการนำงานวิจัยไปใช้ ต้องเสนอเงื่อนไขการนำไปใช้และค่าตอบแทนให้แก่เจ้าของผลงาน เจ้าของผลงานต้องบริหารและสร้างประโยชน์จริงจากผลงาน และต้องรายงานให้ผู้ให้ทุนทราบ และภาครัฐอาจจะดึงผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จำเป็นมาใช้ประโยชน์ได้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่ง พ.ร.บ.นี้จะทำให้งานวิจัยถูกนำไปใช้ได้ง่ายมากขึ้น นำไปสู่การเสริมสร้าง เพิ่มขีดความสามารถพัฒนาให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี ตลอดจนภาคการผลิต ทำให้เศรศฐกิจของประเทศเติบโตและประชากรมีรายได้สูงขึ้น”
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า “ไฮไลท์สำคัญในงานได้แก่ พิธีมอบรางวัล Prime Minister’s TRIUP Awards for Research Utilization with High Impact หรือรางวัลผลงานวิจัยแห่งชาติที่มีผลกระทบสูงประจำปี 2565 ที่คัดสรรมาจากจำนวนผลงานที่ส่งเข้าประกวด 119 โครงการ เพื่อยกย่องและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีจากงานวิจัยที่พัฒนาขึ้นในประเทศไทย จนสามารถสร้างผลกระทบสูงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จำนวน 2 รางวัล จาก 2 สาขา โดยผู้ได้รับรางวัลจะได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินสดมูลค่า 5 แสนบาท และยังมีรางวัลดีเด่น สาขาละ 2รางวัล รวมเงินรางวัลทั้งสิ้นมูลค่า 1,400,000 บาท อีกทั้งยังมีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง สกสว.และหน่วยงานพันธมิตร 6 หน่วยงานสำคัญในประเทศ เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบและกลไกการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงพื้นที่ รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานในการวิจัยและการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้ประโยชน์ และยังมีพิธีลงนามความร่วมมือ เรื่อง “Smart city for digital healthcare, security, and safety” กับ NAVER CLOUD CO., LTD. REPUBLIC OF KOREA” โดยมีเป้าหมายเพื่อตอกย้ำว่างานวิจัยของไทยไม่ด้อยไปกว่าชาติอื่น และทุกหน่วยงานภาคีแสดงความพร้อมสนับสนุนและเห็นคุณค่าของงานวิจัยไทยอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงเรื่องส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ภายในงานจึงจัดกิจกรรมที่หลากหลายและเหมาะสมกับความต้องการของผู้ร่วมงาน ประกอบด้วย 1) โซนแนะนำ TRIUP Act และกลไกส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัย 2) โซนตลาดทรัพย์สินทางปัญญา ที่พร้อมเจรจาเพื่อขออนุญาตใช้สิทธิ 3) โซนคลินิกให้คำปรึกษาทรัพย์สินทางปัญญาและกฎระเบียบ 4) โซนนโยบายส่งเสริม ววน. 5) โซนแผน ววน. และโปรแกรมการให้ทุน สำหรับผู้สนใจเรื่องแผนและงบประมาณหรือทุนสนับสนุน 6) โซนร้านค้านวัตกรรม สำหรับประชาชนทั่วไปได้เห็นตัวอย่างของนวัตกรรมจากการวิจัยที่ออกสู่ตลาดแล้ว 7) โซนแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม สะท้อนว่าเราจะก้าวตามทันประเทศอื่นด้านงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยแบ่งธีมจัดแสดงผลงานออกเป็น 5 ธีม ได้แก่ ผลงานเด่นทางการแพทย์ อย่าง N95 Mask, ชุดตรวจหาแอนติเจน, นวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศแบบผลิตออกซิเจนบวก – ลบ และตรวจยีน “มะเร็งเต้านม” เป็นต้น ธีม AI เช่น แพลตฟอร์มรักษาความปลอดภัยของเมือง ธีมอาหารมูลค่าสูง เช่น การสร้างศักยภาพอุตสาหกรรมด้านสารให้กลิ่นรสในประเทศไทย ธีมเศรษฐกิจฐานราก เช่น น้ำเพื่อการเกษตร…ด้วยระบบน้ำหยดสำหรับมันสำปะหลังและอ้อย และธีมสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบวินิจฉัยและเครื่องมือประเมินการทำงานของโรงงานผลิตความเย็นสำหรับระบบปรับอากาศในเมืองอัจฉริยะ
และยังมี 8) โซนสินเชื่อเพื่อนวัตกรรม 9) โซนเทรนนิ่ง 10) โซนเจรจาธุรกิจ รวมไปถึง 11) โซนเวทีกลาง ที่มีการเสวนาหัวข้อต่างๆ ในหลากหลายมุมโดยวิทยากรมากความรู้ความสามารถกว่า 20 ท่าน ใน 7 เวที อาทิ เสวนา “Journey to Commercialization : การปลดล็อคการใช้ประโยชน์งานวิจัย สู่ตลาด” ตลอดจนเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริงที่ประสบความสำเร็จ กรณีของการวิจัยสู่ละครโทรทัศน์ อย่าง ละครเจ้าพระยาสู่อิระวดี และการสร้างรถไฟฟ้ารางเบาที่แสดงศักยภาพของนักวิจัยไทยซึ่งเป็นเรื่องใหม่และเป็นโชว์เคส ประสบการณ์งานวิจัยที่ทุกคนสนใจเป็นอย่างมาก
สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงาน “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย TRIUP Fair 2022” ตั้งแต่วันที่ 4-6 เมษายน 2565 เวลา 10.00-18.00 น. ณ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่าน มิตรทาวน์