การทำงานแบบไฮบริด (Hybrid Work) ช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพนักงานในไทย รวมไปถึงสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต และประสิทธิภาพในการทำงาน ตามที่ระบุไว้ในรายงานผลการศึกษาทั่วโลกฉบับล่าสุดของซิสโก้ แม้ว่าองค์กรต่างๆ ได้รับประโยชน์จากประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มสูงขึ้นของพนักงาน แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่จะต้องทำเพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อประโยชน์ให้แก่คนทุกกลุ่ม และผนวกรวมรูปแบบการทำงานไฮบริดอย่างกลมกลืน เพื่อยกระดับความพร้อมและปรับปรุงประสบการณ์ของพนักงาน
จากรายงานผลการศึกษาของซิสโก้เกี่ยวกับความพร้อมของพนักงานสำหรับการทำงานแบบไฮบริด (“Employees are ready for hybrid work, are you?”) พบว่า พนักงานในไทย 7 ใน 10คน (70%) เชื่อว่าคุณภาพการทำงานดีขึ้น และพนักงานในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน (71%) รู้สึกว่าประสิทธิภาพการทำงานของตนเองปรับปรุงดีขึ้น ที่สำคัญก็คือ 82% รู้สึกว่าตนเองสามารถทำงานจากที่บ้านตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จเท่ากับการทำงานในออฟฟิศ อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความคิดเห็นของพนักงาน 28,000 คนใน 27 ประเทศ รวมถึงผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 1,050 คนในไทย พบว่า มีพนักงานในไทยเพียง 37% เท่านั้นที่คิดว่าบริษัทของตน ‘มีความพร้อมอย่างมาก‘ สำหรับการทำงานแบบไฮบริดในอนาคต
ทวีวัฒน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทย กล่าวว่า “ช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าปัจจัยสำคัญสำหรับการทำงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่อีกต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับผลงานที่เราทำออกมา ในโลกวิถีใหม่ของการทำงานแบบไฮบริด ทั้งนายจ้างและลูกจ้างขององค์กรต่างๆ ในไทยได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมในหลายๆ ด้าน เช่น พนักงานมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการดำเนินงานโดยรวมขององค์กร อย่างไรก็ตาม การทำงานแบบไฮบริดเป็นมากกว่าการรองรับการกลับเข้าทำงานในออฟฟิศอย่างปลอดภัย กล่าวคือ ผู้บริหารจำเป็นที่จะต้องบ่มเพาะวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อประโยชน์แก่ทุกคน และให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของประสบการณ์ การมีส่วนร่วม และคุณภาพชีวิตของพนักงาน ทั้งยังจะต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายและระบบรักษาความปลอดภัยหรือระบบซีเคียวริตี้ให้ทันสมัย เพื่อนำเสนอประสบการณ์การทำงานที่ปลอดภัย ไร้รอยต่อ และครอบคลุมคนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง นอกจากนั้น ยังจำเป็นต้องมีระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่เหมาะสมสำหรับการตรวจสอบแง่มุมต่างๆ ของระบบไอที รวมถึงการทำความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการใช้งานแอพพลิเคชั่น ระบุและแก้ไขปัญหาในแบบเรียลไทม์ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ราบรื่นสำหรับทุกคน โดยอาศัยความสามารถในการตรวจสอบอย่างทั่วถึง (Full-Stack Observability)”
การทำงานแบบไฮบริดปรับปรุงคุณภาพชีวิตโดยรวมของพนักงาน
การศึกษาของซิสโก้มุ่งตรวจสอบผลกระทบของการทำงานแบบไฮบริดต่อคุณภาพชีวิตใน 5 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ ด้านอารมณ์ การเงิน จิตใจ ร่างกาย และสังคม โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (85%) ระบุว่า การทำงานแบบไฮบริดและการทำงานจากที่บ้านช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของตนในหลากหลายแง่มุม
การทำงานจากที่บ้านช่วยปรับปรุงสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตสำหรับพนักงาน 83% ในประเทศไทย โดยเหตุผลสำคัญคือ ตารางเวลาการทำงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น (54%)และไม่ต้องเดินทางเพื่อไปทำงานหรือมีการเดินทางน้อยลงอย่างมาก (46%) นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 3 ใน 4 (74%) ประหยัดเวลาได้อย่างน้อย 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เมื่อทำงานอยู่ที่บ้าน และกว่า 1 ใน 4 (33%) ประหยัดเวลาได้อย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ผู้ตอบแบบสอบถามในไทยเกือบ 9 ใน 10 คน (87%) ระบุว่า คุณภาพชีวิตด้านการเงินของตนเองปรับปรุงดีขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้กว่า 7,800 ดอลลาร์ (271,159บาท) ต่อปี โดย 84% เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและ/หรือค่าเดินทาง ส่วนอันดับที่สองคือ ค่าอาหารและความบันเทิง ซึ่งอยู่ที่ 64% ทั้งนี้ผู้ตอบแบบสอบถาม 8 ใน 10 คน (81%) เชื่อว่าตนเองจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้ในระยะยาว และหากคิดที่จะเปลี่ยนงาน ก็อาจพิจารณาปัจจัยเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่ายที่ว่านี้ในการตัดสินใจ
นอกจากนั้น ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 8 ใน 10 คน (83%) เชื่อว่าตนเองมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้นเนื่องจากการทำงานจากที่บ้าน และผู้ตอบแบบสอบถามในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันนี้ (78%)ระบุว่าการทำงานแบบไฮบริดส่งผลดีต่อนิสัยการกินของตนเอง
ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (84%) ชี้ว่า การทำงานจากที่บ้านช่วยปรับปรุงความสัมพันธ์ในครอบครัว และเกือบ 2 ใน 3 (64%) ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ แน่นแฟ้นมากขึ้น
ความไว้ใจและความโปร่งใสคือกุญแจสู่ความสำเร็จสำหรับการทำงานแบบไฮบริดในอนาคต
69% ของพนักงานในไทยที่ต้องการให้มีรูปแบบการทำงานแบบผสมผสานระหว่างการทำงานที่บ้านและที่ออฟฟิศ เชื่อว่าการทำงานในอนาคตจะเป็นรูปแบบไฮบริด ขณะที่ 21% เชื่อว่าจะเป็นการทำงานจากที่บ้านทั้งหมด และ 9% เชื่อว่าจะเป็นการทำงานในออฟฟิศทั้งหมด
อย่างไรก็ดี มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับประเด็นที่ว่ารูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันอาจส่งผลกระทบต่อการมีส่วนร่วมและการเข้าถึงของคนทุกกลุ่ม โดยผู้ตอบแบบสอบถามในไทยเกือบ 3 ใน 4(73%) เชื่อว่า พฤติกรรมการบริหารงานแบบจู้จี้จุกจิกและคอยจับผิด (Micromanaging) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากการทำงานจากที่บ้านและการทำงานแบบไฮบริด ที่จริงแล้ว การที่ผู้จัดการไม่ไว้ใจว่าพนักงานจะตั้งใจทำงานนับเป็นปัญหาที่บั่นทอนขวัญกำลังใจในการทำงานของพนักงาน
อานุพัม เตรฮาน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบุคลากรและชุมชนของซิสโก้ ประจำภูมิภาค APJC กล่าวว่า “ความไว้ใจกลายเป็นองค์ประกอบหลักสำหรับการทำงานแบบไฮบริดในโลกวิถีใหม่ ควบคู่ไปกับการบริหารงานอย่างยืดหยุ่นและมีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ใต้บังคับบัญชา ผลการศึกษาล่าสุดของเราชี้ว่ามีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่จะต้องทำเพื่อให้สามารถรองรับการทำงานแบบไฮบริดได้อย่างราบรื่นและสมบูรณ์สำหรับพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกคน โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่โลกของการทำงานรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของพนักงาน ผู้บริหารและองค์กรต่างๆ จะต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากร โดยจะต้องรับฟังความเห็น สร้างความไว้วางใจ และบริหารงานด้วยความเห็นอกเห็นใจ ความยืดหยุ่น และความยุติธรรม”
ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีจะยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการรองรับบุคลากรที่มีความหลากหลายมากขึ้นและทำงานอยู่ตามที่ต่างๆ ในอนาคต ผู้ตอบแบบสอบถาม 3 ใน 4 (75%) เชื่อว่า ปัญหาในการเชื่อมต่อที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนับเป็นอุปสรรคที่จำกัดกรอบอาชีพการงานสำหรับพนักงานที่ทำงานจากที่บ้าน ด้วยเหตุนี้ 89% จึงกล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายมีความสำคัญอย่างมากสำหรับประสบการณ์การทำงานจากที่บ้านอย่างไร้รอยต่อ แต่ราว 22% ระบุว่า บริษัทของตนยังคงต้องการโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายที่เหมาะสม
ผู้ตอบแบบสอบถามในไทย 8 ใน 10 คนเชื่อว่า ไซเบอร์ซีเคียวริตี้มีความสำคัญอย่างมากสำหรับการทำงานแบบไฮบริดอย่างปลอดภัย ขณะที่ 75% กล่าวว่า ในปัจจุบันองค์กรของตนมีความสามารถและโปรโตคอลที่เหมาะสมอยู่แล้ว และมีเพียง 76% เท่านั้นที่คิดว่าพนักงานทุกคนในบริษัทของตนเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงทางไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานแบบไฮบริด และ 79%คิดว่าผู้บริหารส่วนงานธุรกิจมีความคุ้นเคยเกี่ยวกับความเสี่ยงดังกล่าว
ฮวน ฮวด คู ผู้อำนวยการฝ่ายไซเบอร์ซีเคียวริตี้ของซิสโก้ ประจำภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า “เทคโนโลยีคือเครื่องมือสำคัญที่จะรองรับการขยายตัวของสถานที่ทำงานแบบไฮบริด โดยจะต้องอยู่บนพื้นฐานของระบบรักษาความปลอดภัยแบบครบวงจร องค์กรต่างๆ ควรให้ความสำคัญกับเรื่องของการรักษาความปลอดภัยที่แข็งแกร่ง เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในทุกๆ ด้าน และตรวจสอบให้แน่ใจว่าไซเบอร์ซีเคียวริตี้คือองค์ประกอบหลักของสถาปัตยกรรมด้านเทคโนโลยีขององค์กร ทุกวันนี้มีช่องทางการโจมตีเพิ่มมากขึ้น เพราะมีผู้ใช้และอุปกรณ์จำนวนมากเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นขององค์กร ด้วยเหตุนี้องค์กรจึงต้องยกระดับการรักษาความปลอดภัยและการเฝ้าระวัง ควบคู่ไปกับการรองรับการเข้าถึงที่ปลอดภัย และการปกป้องเครือข่ายอย่างครอบคลุม ตั้งแต่อุปกรณ์ปลายทางไปจนถึงระบบคลาวด์”
อ่าน: 1,350
Comments
comments