จากโฟกัสกรุ๊ป ที่ทาง กสทช. จัดขึ้นเพื่อฟังผลกระทบในด้านต่าง ๆ เป็นรอบที่ 3 ซึ่งทาง TelecomLover ได้นำเสนอบทสรุปไปเมื่อคราวก่อน วันนี้เราจะนำอัตราค่าบริการที่ใช้อยู่จริงในปัจจุบัน มาเปรียบเทียบกับโมเดลสูตรคำนวณ ผลกระทบจากการศึกษาของ กสทช. ในโฟกัสกรุ๊ปรอบที่ 3 เพื่อดู ว่าราคาค่าบริการจะพุ่งไปเท่าไหร่ หากเกิดดีลควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคเกิดขึ้นจริง ๆ
จากการที่ ดร. ประถมพงศ์ ศรีนวล เศรษฐกรเชี่ยวชาญ กสทช. ได้นำเสนอการวิเคราะห์ผลกระทบการควบรวมที่มีต่อเศรษฐกิจโดยรวม พบว่า ในภาพรวม อัตราค่าบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งหมดทั้งบริการแบบเติมเงินและรายเดือน ประมาณการผลกระทบจากการรวมธุรกิจ พบแนวโน้มที่การรวมกิจการจะมีผลต่อราคาคือ
1 กรณีไม่มีการฮั้วกัน ราคาจะเพิ่มขึ้นในช่วง 2.03-19.53%
2 กรณีฮั้วกันในระดับต่ำ ราคาจะเพิ่มขึ้นในช่วง 12.57-39.81%
3 กรณีฮั้วกันในระดับสูง ราคาเพิ่มขึ้นในช่วง 49.30-244.50%
เมื่อนำตัวเลขที่ได้ มาเปรียบเทียบกับอัตราเหมาจ่ายรายเดือนในปัจจุบัน ซึ่งทั้ง 2 ค่ายที่ให้บริการอยู่ ก็มีอัตราค่าบริการที่เท่ากัน หรือคล้ายกันในทุกรายละเอียด มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยในด้านสิทธิประโยชน์ ซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญ แต่จุดพีคที่สร้างผลกระทบกับผู้บริโภคสูงสุดคือค่าใช้บริการที่เพิ่มขึ้น ที่หากปล่อยให้มีการควบรวมแล้ว และเกิดการทำราคาตามที่ทาง กสทช. ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศศึกษามาอย่างละเอียด อัตราค่าบริการมีแนวโน้มใน 3 ระดับดังนี้
ไม่มีการฮั้วกัน เพิ่มเล็กน้อย 2.03% ถึง 19.53% โดยเน็ตไม่อั้นความเร็วสูงสุดจะไปเริ่มที่เดือนละ 1223 ถึง 1433 บาทจากเดิมที่จ่ายเพียง 1199 บาท
มีการฮั้วกันเล็กน้อย ค่าบริการจะเพิ่มขึ้นราว 12.57% ถึง 39.81% ทำให้ค่าใช้บริการเน็ตแบบจำกัดปริมาณที่เดิมเริ่มต้นจาก 699 บาทจะกลายเป็นเริ่มต้นที่ 786 ถึง 977 บาทต่อเดือน
มีการฮั้วกันอย่างหนักหน่วง คือเรียกว่าโกยได้โกยเอา ค่าบริการพุ่งกระฉูดขึ้น 49.30% ถึง 244.50% เรียกว่าปล้นกันเลยทีเดียว เดิมที่จ่ายแค่ 1199 ได้ใช้เน็ตไม่อั้นความเร็วสูงสุดก็เตรียมจ่ายเริ่ม 1790 จนถึงระดับเดือนละ 4130 เลยทีเดียว
ถามว่า ทำไม GDP จะย่ำแย่ ก็เกิดจากค่าบริการที่ฮั้วกันหรือจะเรียกว่าปล้นก็คงไม่ผิด เป็นสาเหตุให้ประชาชนหรือลูกค้าค่ายมือถือลดการใช้งาน หรือเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานให้ถูกลงกว่าเดิมมาก จากที่เคยจ่าย 1199 ต้องมาจ่าย 1790 แบบนี้หลายคนส่ายหน้าหนี แล้วก็พากันลดค่าใช้จ่าย นั่นหมายถึงการลดการใช้งานลงไป ก็จะไม่เกิดกิจกรรมและการลงทุน กระทบเป็นห่วงโซ่ไปตาม ๆ กัน
นอกจากอัตราค่าบริการที่จะแพงขึ้นในทุกกรณีแล้ว คุณภาพการใช้งานก็จะย่ำแย่ตามลงไปด้วยเพราะเกิดจากการลดต้นทุนที่ซ้ำซ้อน ทั้งในเรื่องค่าเช่าเสาสัญญาณที่เป็นค่าใช้จ่ายหลักของค่ายมือถือแล้ว ยังลดค่าเช่าสำนักงานบริการหรือช้อปให้น้อยลง รวมถึงเล้าน์หรือคลับต่าง ๆที่มีไว้ให้ลูกค้าพรี่เมี่ยมก็จะมีคนแชร์ใช้เพิ่มขึ้นจากการรวมลูกค้าระหว่าง 2 ค่ายเดิมมาเป็นค่ายเดียว และที่สำคัญสุดคือการแข่งขันหรือลงทุนทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นแบบที่เห็นในปัจจุบัน เพราะไม่มีความจำเป็นแล้วที่จะเรียกลูกค้าด้วยนวัตกรรมหรือคุณภาพการใช้งาน เหตุจากการแข่งขันทางด้านราคานั้นไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ไม่ต้องทำให้ดีที่สุด ของที่มีอยู่ก็ขายได้ ดังนั้นมีแต่แนวโน้มที่แย่ลง
โดยสรุป หากรู้เช่นนี้ว่าความเสี่ยงที่ค่าบริการจะสูงขึ้น ไม่ว่าจะฮั้วน้อย ฮั้วมาก ทางหน่วยงานที่กำกับดูแลก็ได้นำเสนอผลกระทบที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนมากถึงขนาดนี้แล้ว ยังจะต้องให้ประชาชนหรือผู้บริโภค ต้องไปลุ้นเสี่ยงดวงกับอนาคต ว่าการควบรวมระหว่างทรูกับดีแทค จะเกิดผลกระทบเกิดขึ้นจริงตามนี้หรือไม่ แล้วถ้าเกิดผลกระทบดังกล่าวขึ้นจริง ประชาชนจะต้องเดือดร้อนสักเท่าไหร่กับค่าอัตราบริการที่หยุดไม่อยู่ หรือต้องไปลุ้นพึ่งศักยภาพ กสทช. ในอนาคตว่าจะควบคุมราคาได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงสามารถคาดเดาหรือทราบดีในปัจจุบัน ว่าแนวโน้มว่าจะพุ่งขึ้นสูงลิบแค่ไหน ท่านจะลงมาควบคุมได้จริง ๆ หรือครับ?