นอกเหนือจากภารกิจในการมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อคนไทยแล้ว AIS ยังมีอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัล หรือ Digital Literacy ให้สังคม ลูกค้า และประชาชนทุกกลุ่ม รู้เท่าทันภัยด้านไซเบอร์หลากหลายรูปแบบที่อาจเกิดตามมาจากการใช้งานบนอินเทอร์เน็ต สื่อโซเชียล ในฐานะผู้นำตลาด AIS ยังคงทำงานอย่างสอดประสาน ผ่านความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลาย ทั้งภาครัฐ และเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งสร้างมาตรฐานดัชนีชี้วัดทักษะดิจิทัลให้กับคนไทย รวมถึงการพัฒนาหลักสูตร อุ่นใจไซเบอร์ บนแพลตฟอร์มที่ให้คนไทยสามารถเข้ามาเรียนรู้วัดระดับการรับมือกับภัยไซเบอร์รูปแบบต่างๆ
เพื่อเป็นการขยายผลเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ในการรับมือกับภัยไซเบอร์ไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มNext Gen ด้วยกลยุทธ์ Edutainment ที่ต้องการสร้างรูปแบบการนำเสนอที่แปลกใหม่ สร้างสรรค์ ทำให้เป็นที่มาของการทำงานร่วมกับ “จอยลดา” แพลตฟอร์มนิยายแชทชั้นนำที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 10 ล้านดาวน์โหลด ในการใช้ศักยภาพความแข็งแกร่งร่วมกันทั้งด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี ของ AIS และ การสร้าง Storytelling จากภัยไซเบอร์ในรูปแบบนิยายแชท 7 เรื่อง ที่สะท้อนถึง 7 ทักษะหลักที่คนไทยควรรู้ในยุคไซเบอร์ ภายใต้แคมเปญ Let’s Level up ฝ่าภารกิจอัปเลเวล ความรู้ สู่สุขภาวะดิจิทัลที่ดี
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS อธิบายว่า การสร้างความปลอดภัยด้านการใช้งาน สร้างเสริมภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ และป้องกันความเสี่ยงจากการใช้งานอินเทอร์เน็ต และเสริมทักษะความฉลาดทางดิจิทัล หรือ Digital Literacy ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจของ AIS ในฐานะผู้ให้บริการโครงข่าย และผู้นำด้านบริการดิจิทัล ผ่านโครงการ AIS อุ่นใจไซเบอร์ ที่มี 2 แนวทางการทำงานหลัก คือ
1.) การสร้างองค์ความรู้ ปลูกจิตสำนึก ส่งเสริมทักษะการรับมือทางดิจิทัลให้รับรู้ถึงอันตรายและผลกระทบของอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีแบบใช้ผิดวิธี ซึ่งเราได้ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลายและต่อเนื่อง อย่างการทำงานร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และกรมสุขภาพจิต มาร่วมกันพัฒนาหลักสูตรส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองดิจิทัลที่รับรองโดย กระทรวงศึกษาธิการ นับเป็นหลักสูตรด้านดิจิทัลครั้งแรกของประเทศ ทำให้เราได้นำพาสังคมไทยให้ก้าวไปอีกขั้นด้วยการสร้างมาตรฐานของการเรียนรู้ การวัดระดับทักษะดิจิทัล
2.) การป้องกันภัยไซเบอร์ด้วยการพัฒนาเครื่องมือด้านเทคโนโลยี บริการดิจิทัล อาทิ AIS Secure Net, Google Family Link และล่าสุดบริการสายด่วน 1185 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน AIS Spam Report Center
นางสายชล อธิบายต่อไปอีกว่า “ในปีที่ผ่านมาเราได้จัดกิจกรรมประกวดแผนสื่อสารการตลาด ร่วมกับคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จากผลการศึกษาของน้องๆ มีผลการศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการรับสื่อของคนรุ่นใหม่ ที่ช่องทางโซเชียลมีเดียอาจไม่ใช่สื่อชนิดเดียวที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ ยังมีแพลตฟอร์มใหม่ๆ อีกหลากหลายตามการใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ อย่าง จอยลดา ก็นับว่าหนึ่งในเป็นแพลตฟอร์มนิยายแชทยอดนิยม ซึ่งสอดคล้องกับความตั้งใจของเราในการถ่ายทอดเนื้อหาของหลักสูตรดังกล่าวด้วยรูปแบบวิธีการใหม่ๆ แบบ Edutainment ที่นำเนื้อหาด้านวิชาการมาปรับให้น่าสนใจเข้าใจง่าย ทำให้เราได้เริ่มต้นทำงานร่วมกับ จอยลดา ในการนำเนื้อหาจากหลักสูตรออกมาแปลงเป็นเนื้อหานิยายแชทครั้งแรกในไทย โดยเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวปัญหาภัยไซเบอร์ วิธีการรับมือ และทักษะหลักที่คนไทยควรรู้ ออกมาเป็น 7 เรื่อง บนแพลตฟอร์มของจอยลดา”
นายศาสตรา วิริยะเจริญธรรม กรรมการผู้จัดการ จอยลดา อธิบายเสริมว่า “เรารู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ AIS อุ่นใจไซเบอร์ เพราะปัญหาจากภัยไซเบอร์ในทุกวันนี้ยิ่งสร้างผลกระทบให้กับผู้คนในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ เราในฐานะแพลตฟอร์มที่เป็นส่วนหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ที่มีผู้ใช้งานรวมมากกว่า 10ล้านดาวน์โหลด อีกทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เราต้องการให้คอมมูนิตี้ของจอยลดาเป็นพื้นที่สำหรับการเสพเรื่องราวที่สร้างสรรค์ และปลอดภัยสำหรับกลุ่มผู้ใช้งาน จากความร่วมมือกับ AIS ในครั้งนี้เราได้ใช้ขีดความสามารถของแพลตฟอร์ม รวมถึงดึงกลุ่มนักเขียนและ Content Creator มาร่วมกันครีเอทเรื่องราวจากเนื้อหาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ให้เป็นนิยายแชท 7 เรื่อง ที่สะท้อนให้เห็นถึงภัยไซเบอร์ด้านต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านได้รับทั้งความสนุกจากเนื้อหาของนิยาย และประโยชน์ที่ได้รับถึงแนวทางการรับมือเมื่อเจอกับภัยไซเบอร์ เพราะในท้ายที่สุดเราต้องการที่จะทำให้คอมมูนิตี้ของจอยลดามีส่วนช่วยทำให้ปัญหาสังคมโดยเฉพาะภัยไซเบอร์ลดลงได้จากศักยภาพของเรา”
สำหรับความร่วมมือระหว่าง AIS อุ่นใจไซเบอร์ และจอยลดา ในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอเนื้อหาสาระความรู้ในเรื่องภัยไซเบอร์จากหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” สร้างสรรค์ออกมาเป็นนิยายแชท รวม 7 เรื่อง ที่สะท้อนปัญหา 7 ด้านและ 7 ทักษะที่ควรรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์ โดยนักเขียนยอดนิยมจากจอยลดา ดังนี้
- Cyber Balance ทักษะการจัดสรรหน้าจอ
- Cyber Security การจัดการความปลอดภัยทางไซเบอร์ส่วนบุคคล
- Cyber Ability ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ
- Cyber Safety การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์
- Cyber Identification อัตลักษณ์พลเมืองไซเบอร์ / Cyber Empathy มารยาททางไซเบอร์
- Cyber Rights การจัดการความเป็นส่วนตัว
- Cyber Communication ร่องรอยบนโลกออนไลน์
โดยเนื้อหาทั้งหมดจะถูกสร้างสรรค์ให้สนุก เข้าใจง่าย ตามสไตล์ของจอยลดา ซึ่งจะทำการเผยแพร่บนแอปพลิเคชัน “Joylada” และทาง Microsite (joylada.com/aisxjoylada) นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมมากมาย เพื่อสร้างเสริมความรู้และทักษะการใช้งานบนโลกออนไลน์อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย อาทิ ทุกการอ่านของทุกคนจะช่วยสมทบทุนบริจาคให้แก่ “มูลนิธิสายเด็ก 1387” ภายใต้แคมเปญ Let’s Level up ฝ่าภารกิจอัปเลเวลความรู้ สู่สุขภาวะดิจิทัลที่ดี
นางสายชล กล่าวในช่วงท้ายว่า “เราไม่หยุดที่จะตั้งคำถามเพื่อหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อทำให้คนไทยมีทักษะดิจิทัล เข้าใจ รู้เท่าทัน ภัยไซเบอร์ โดยยังคงมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์เพื่อขยายผลองค์ความรู้และเครื่องมือที่มีไปยังคนไทยทุกกลุ่ม รวมถึงวันนี้ AIS ยังเดินหน้าขยับเป้าหมายด้านการส่งเสริมทักษะดิจิทัล หรือ Digital Literacy ให้มีมาตรฐานใหม่ และมีดัชนีชี้วัดที่บ่งบอกถึงระดับทักษะการรับมือภัยไซเบอร์ที่จับต้องได้ ซึ่งกระบวนการทำงานในลักษะนี้จะทำให้ภารกิจการส่งเสริมทักษะดิจิทัลเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน”