มูลนิธิชัยพัฒนา ดีแทค และเนคเทค ร่วมลงนามความร่วมมือโครงการวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ กรณีศึกษาเห็ดหลินจือ ระยะที่ 2 ในโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา ต.โป่งน้ำร้อน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่  นำเทคโนโลยี 5G พร้อม IoT และ Machine Leaning เดินหน้าพัฒนาการเกษตรแม่นยำต่อไป หลังประสบความสำเร็จเพาะเห็ดหลินจือในฤดูหนาวอุณหภูมิเลขตัวเดียวสำเร็จ มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรไทยให้สามารถนำเทคโนโลยีไปใช้ในการบริหารจัดการสำหรับการเพาะปลูกในโรงเรือน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในครั้งนี้เป็นความต่อเนื่องตั้งแต่การทดลองครั้งแรกในฤดูหนาวปี พ.ศ. 2562 ทุกฝ่ายได้ร่วมกันพัฒนาการทดลองและอุปกรณ์ควบคุมสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนให้สามารถสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนได้มีความใกล้เคียงสภาพแวดล้อมจริงมากยิ่งขึ้น ดังนั้นความร่วมมืออย่างในครั้งนี้จะเป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งในเชิงวิชาการและเทคโนโลยีด้านการผลิต อันจะนำไปสู่การปฏิรูปเทคโนโลยี (technology disruption) เพื่อเตรียมรับปรับตัวล่วงหน้าสู่สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง (Smart Farming) ด้วยการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาบริหารจัดการในโรงเรือนขยายผลสู่เกษตรกรต่อไปในอนาคต ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เกษตรกรในยุคดิจิทัล เพื่อประโยชน์สุขและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”

นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ดีแทคพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง เพื่อนำเทคโนโลยีมาร่วมพัฒนากลุ่มเกษตรกรให้อยู่ดีกินดี นำไปสู่ความมั่นคงของประเทศ อันเป็น ‘ชัยชนะแห่งการพัฒนาที่แท้จริง’ โดยความร่วมมือดังกล่าว ได้ก้าวสู่ปีที่ 4 และนำเทคโนโลยี 5G ที่มีความแม่นยำสูงมาใช้ในการศึกษาเชิงลึกการเติบโตสายพันธุ์เห็ดหลินจือเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด โดยความร่วมมือที่ผ่านมาได้สามารถประสบความสำเร็จในการเพาะเห็ดหลินจือในฤดูหนาวอุณหภูมิเลขตัวเดียวสำเร็จ รวมทั้งเราได้นำเทคโนโลยี IoT เซนเซอร์ กล้องบันทึกภาพ และเครื่องมือตรวจวัดค่าต่างๆ ที่จำเป็นร่วมกับเนคเทค สวทช. มาสู่การวิจัยในโครงการฯ ซึ่งเราพบกว่าเห็ดหลินจือมีลักษณะทางชีวภาพที่พิเศษและค่อนข้างอ่อนไหวง่ายกับสภาพแวดล้อม เราจะต่อยอดโครงการวิจัยด้วยการนำเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญด้านโซลูชัน Machine learning และ Artificial intelligence หรือ AI และระบบคลาวด์ เข้ามาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวิจัย และเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นในโรงเรือนมาวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ สู่การหาค่าพารามิเตอร์กลางที่แม่นยำ มุ่งเป้าหมายสู่การเพิ่มผลผลิตเห็ดหลินจืออย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มศักยภาพให้แก่เกษตรกรในยุคดิจิทัล”

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) กล่าวว่า “โครงการความร่วมมือทางด้านวิจัยที่เกิดขึ้นในระยะที่ 2 นี้ ถือเป็นอีกหมุดหมายสำคัญของการเตรียมพร้อมงานวิจัยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะแห่งอนาคต สร้างให้เกิดระบบนิเวศ (Ecosystem) ของการใช้เทคโนโลยีที่ก่อประโยชน์ต่อภาคเกษตรกรรม สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในพื้นที่ของตัวเอง หรือเป็นต้นแบบสำหรับผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ เรายังได้ผนึกกำลังจากหน่วยงานภายใน สวทช. คือ ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand) เข้าร่วมทำการศึกษาวิจัย โดยทดสอบปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสมในตู้ควบคุมการเจริญเติบโตของพืชหรือ Growth Chamber ซึ่งสามารถจำลองสภาพแวดล้อมที่ต้องการ ร่วมกับนำข้อมูลเซนเซอร์และภาพที่ได้เก็บบันทึกไว้มาวิเคราะห์ร่วมกับเทคโนโลยี AI วางแผนการทดลองเพื่อค้นหาสูตรการผลิตที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าให้น้อยที่สุด และจะนำสูตรการผลิตที่ค้นพบนี้ ไปประยุกต์ใช้ในโรงเรือนเพาะเห็ดหลินจือขนาดใหญ่ต่อไป”

ความร่วมมือโครงการวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ กรณีศึกษาเห็ดหลินจือ ระยะที่2 คือ พันธกิจครั้งสำคัญที่มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ลงพื้นที่ศึกษาและวิจัย เมื่อ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 จากความร่วมมือในระยะที่ 1 จนมาถึงวันนี้ และความร่วมมือครั้งใหม่ที่จะมีขึ้นยังมุ่งมั่นก้าวไปข้างหน้าสำหรับความร่วมมืออย่างต่อเนื่องอีก 3 ปี และจะมีต่อเนื่องต่อไป เพื่อหลอมรวมสู่เป้าหมายที่สำคัญที่ยิ่งใหญ่ คือ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีอันจะนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศในที่สุด

Comments

comments