หลังจากที่ AIS และ ธนาคารกรุงไทย ร่วมกันเปิดตัวโครงการ “พอยท์เพย์” ที่ให้ลูกค้า AIS สามารถใช้คะแนนสะสม มาเป็นส่วนลดเงินสดได้กับร้านค้าถุงเงินที่อยู่ในระบบของธนาคารกรุงไทย ไปเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งได้ผลตอบรับทั้งจากลูกค้าและร้านค้าถุงเงินเป็นจำนวนมาก นับเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประจำวันของลูกค้าและคนไทย อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นการจับจ่ายให้ร้านค้ารายย่อยเกิดรายได้หมุนเวียนอีกด้วย
ล่าสุดภาครัฐได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง กับโครงการคนละครึ่งเฟส 5 เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้การใช้จ่ายของลูกค้ากลับมาคึกคัก ส่งผลให้ยอดการแลกคะแนนของลูกค้าพุ่งกว่า 3 เท่า อีกทั้งยังเพิ่มร้านค้าถุงเงินจาก ร้านอาหารและเครื่องดื่มไปยังกลุ่ม ร้านขายของชำที่ตอนนี้มีจำนวนกว่า500,000 ร้านค้าทั่วประเทศไทย นับเป็นการตอกย้ำเป้าหมายของโครงการที่มุ่งแบ่งเบาภาระของคนไทยและสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับร้านค้ารายย่อย โดยลูกค้าสามารถใช้สิทธิพิเศษแบบ 2 ต่อ คือการใช้คะแนนเอไอเอสพอยท์ไม่จำกัดยอดขั้นต่ำ ทุกๆ 2 คะแนน เท่ากับ 1 บาท ควบคู่ไปกับการใช้สิทธิคนละครึ่ง
นางบุษยา สถิรพิพัฒน์กุล ผู้บริหารหน่วยธุรกิจดูแลลูกค้าและสิทธิประโยชน์ AIS กล่าวว่า “นอกเหนือจากการดีไซน์สิทธิประโยชน์เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานได้หลากหลายตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์แล้ว AISในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลยังมีอีกโครงการอย่าง พอยท์เพย์ ที่นับว่าเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการทำงานเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของคนไทย โดยเรายังคงทำงานร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย อย่างต่อเนื่อง เพื่อเชื่อมต่อร้านค้าถุงเงินให้เข้ามาเป็นร้านค้าที่ลูกค้า AIS สามารถนำคะแนนสะสมมาและแทนเงินสดใช้ชำระค่าสินค้าได้
โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่มีโครงการคนละครึ่งของภาครัฐที่ลูกค้าสามารถใช้คะแนนเอไอเอสพอยท์พ่วงไปกับการใช้สิทธิคนละครึ่งได้ ซึ่งหลังจากโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ที่เริ่มให้ผู้บริโภคใช้สิทธิกันไปเมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา มียอดการแลกคะแนนกับร้านค้าถุงเงินเพิ่มสูงขึ้นกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ จากคะแนนสะสมสามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนไปยังร้านค้าเฉลี่ยเกือบ 10 ล้านบาท ในหนึ่งเดือน คาดการณ์ว่าภายในเดือนนี้จะมียอดการแลกคะแนนสะสมผ่านโครงการพอยท์เพย์สูงถึง 16 ล้านพอยท์ อีกทั้งวันนี้มีร้านค้าถุงเงินเข้าร่วมโครงการไปแล้วรวมกว่า 500,000 ร้านค้า ซึ่งได้ขยายประเภทจากร้านอาหารและเครื่องดื่ม ไปยังกลุ่มร้านขายของชำ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการใช้จ่ายของลูกค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
นางบุษยา กล่าวในช่วงท้ายว่า “โครงการพอยท์เพย์ไม่ใช่แค่การมอบสิทธิประโยชน์ หรือการสนับสนุนร้านค้ารายย่อยเท่านั้น แต่ยังเป็นโครงการระยะยาวที่จะช่วยเป็นการแบ่งเบาภาระของลูกค้าในวันที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงเงินจากภาวะเงินเฟ้อ อีกทั้งยังเป็นการช่วยพยุงกำลังซื้อของคนไทยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบฟันเฟืองเศรษฐกิจต่อไปด้วยการใช้ศักยภาพด้านการเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลของ AIS อีกด้วย”