AI/Robotics for All เปิดงาน AI Robotics for All Expo 2022 “ในวันที่ AI ขับเคลื่อนสังคมไทย” โชว์ความก้าวหน้าของโครงการฯ และนำเสนอผลงานการพัฒนาโครงการปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ฝีมือคนไทย ที่ไปไกลเกินคาด หลายผลงานสิ่งประดิษฐ์ ได้เข้ามาช่วยให้การใช้ชีวิตของคนไทย สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และยังต่อยอดสู่การคิดค้นสิ่งใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยมี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เกียรติเป็นประธานการเปิดงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารโครงการ AI Robotics for ALL ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ผมในฐานะรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมที่จะส่งเสริมและผลักดันการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรา ไม่ใช่เพียงเป็นเรื่องทางวิชาการเท่านั้น และอย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่า ปัจจุบันเราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า AI หรือปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ เป็นเทคโนโลยีที่ใกล้ตัวเราเข้ามาเรื่อย ๆ และมีการพัฒนาที่ก้าวกระโดดไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ซึ่งจากงานเทศกาล ‘บางกอกวิทยา’ หรือ เทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของ กทม. ที่จัดขึ้นตลอดเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พบว่า ถ้าเราสามารถทําวิทยาศาสตร์ให้เป็นเรื่องที่สนุกและเข้าถึงได้ ผู้คนก็พร้อมเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

จึงยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ได้ให้การสนับสนุนคณะอาจารย์และนักวิจัยจากหลายสถาบันการศึกษา ในการทำโครงการ AI/Robotics for All เพื่อพัฒนาคนไทยในทุกระดับให้มีความรู้เท่าทันหรือมีความสามารถด้าน AI และหุ่นยนต์ ตั้งแต่การสร้างความตระหนักรู้ด้าน AI ให้กับคนทั่วไป การส่งเสริมผู้ใช้งาน องค์กรหรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่สนใจนำ AI และหุ่นยนต์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์  ไปจนถึงการพัฒนาและส่งเสริมนักพัฒนาและนักวิจัยขั้นสูง เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

งาน AI/Robotics for All Expo 2022 ในวันนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่เปิดโอกาสให้คนไทยสามารถเข้ามาชมผลงาน AI และหุ่นยนต์ เรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ พร้อมทั้งร่วมสนุกกับกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานนี้จะช่วยสร้างมีความเข้าใจและจุดประกายให้ทุกภาคส่วนได้หันมาเห็นความสำคัญของ AI และหุ่นยนต์มากขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อเป็นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป”

AI/Robotics for All โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)  ภายใต้สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยมีคณะดำเนินงานวิจัย ประกอบด้วยอาจารย์และนักวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SIIT) สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (FIBO) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU) และสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย (TRS)

ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) กล่าวว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI และหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทใกล้ตัวเรามากขึ้น เช่น ในการซื้อของออนไลน์จะมีการเก็บข้อมูลของลูกค้าไว้ AI จะนำข้อมูลเหล่านี้มาประมวลหาความสนใจของผู้ซื้อ และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้ามีแนวโน้มจะซื้อต่อได้ถูกต้อง ดังนั้นการพัฒนาคนให้มีความรู้ ทักษะ และความสามารถด้าน AI และหุ่นยนต์จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน และอาชีพทั้งในปัจจุบันและอนาคต ด้วยเหตุนี้เอง บพค. ภายใต้สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จึงได้ให้การสนับสนุนชุดโครงการ AI/Robotics for All หรือ ชุดโครงการปัญญาประดิษฐ์ / วิทยาการหุ่นยนต์สำหรับทุกคน ผ่านการขับเคลื่อน 5 โครงการย่อย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้าน AI ให้กับคนทั่วไป, สร้างผู้ใช้งานระบบ AI เชิงบูรณาการได้ตรงกับความต้องการของหน่วยงาน, สร้างนักพัฒนาระบบ AI และหุ่นยนต์ที่มีความเชี่ยวชาญป้อนสู่ตลาดแรงงาน, สร้างนักวิจัยพัฒนาขั้นสูง เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ทางด้านAI และหุ่นยนต์ และส่งเสริมองค์กรหรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่สนใจนำ AI และหุ่นยนต์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์

ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปเร็วขนาดไหน สิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อมรับมือ พัฒนาคน และสร้างองค์ความรู้ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง สอวช. โดย บพค. จึงเร่งพัฒนาคน และสร้างความตระหนักรู้ ถึงความสำคัญของเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์ แก่คนทุกระดับ ทั้ง เยาวชน ผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา นักวิจัย ไปจนถึงประชาชนทั่วไป เพราะเชื่อว่าคนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใด และสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก

โครงการ AI/Robotics for All ประกอบด้วย 5 โครงการย่อย ดังต่อไปนี้

  1. AI ไทยสามารถ ที่มุ่งเน้นให้เกิดกระแสด้านปัญญาประดิษฐ์สำหรับสาธารณะ สร้างการตระหนักรู้ในสังคมให้เกิดความเข้าใจด้านปัญญาประดิษฐ์ให้กับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยี AI ที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวัน เพื่อต่อยอดสู่ความยั่งยืนในการนำเทคโนโลยี AI มาใช้เป็นฐานการขับเคลื่อนสังคม โดยภายในงานจะมีการนำเสนอ ผลการประกวดโปสเตอร์ AI จะเป็นอย่างไรในอนาคต?, กิจกรรม AI ใครก็(ใช้)ได้ และการแข่งขัน science communication ด้าน AI
  2. AI@SCHOOL หรือ KidBright เป็นโครงการส่งเสริมการเรียนปัญญาประดิษฐ์ในโรงเรียน กระตุ้นให้เกิดการสอนวิทยาศาสตร์ การวิเคราะห์ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับประเทศ เข้าใจกระบวนการทำงานของวิทยาศาสตร์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้ โดยภายในงานการแสดง KidBright on Stage และผลงานสถานีอุตุน้อย
  3. หุ่นยนต์ KidBright AI และSuper AI Engineer เป็นโครงการที่มุ่งเน้นพัฒนาให้เกิดสร้าง นวัตกร/วิศวกร/นักวิจัย/วิสาหกิจเริ่มต้น ด้านปัญญาประดิษฐ์ โดยมุ่งเน้นด้านสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยเพื่อป้อนเข้าสู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยภายในงานจะมี กิจกรรม Hackathon and Idea Pitching โจทย์ด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพ และ Super AI Startup Talk เป็นการเสวนาของ Startup
  4. FIBO Robotics for All เป็นโครงการที่มีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อพัฒนาบุคลากรในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับนักเรียน นักศึกษา อาจารย์ นักวิจัย บริษัท และประชาชนทั่วไป ให้เกิดความตระหนักและมีความรู้เกี่ยวกับความสำคัญและประโยชน์ของวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สามารถลดความเลื่อมล้ำทางการศึกษาทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์ได้ง่ายผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความร่วมมือในเชิงเทคโนโลยีระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน โดยภายในงานจะมีการนำเสนอ 3D Modeling and Printing Contest 2022, Metaverse for smart factory contest 2022 และ Chess robot, service robot, Tele3D printing
  5. SMART AGRICULTURALROBOT CONTEST โครงการแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการเกษตรอัจฉริยะ มุ่งเน้นในการส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาได้มีความสนใจทางด้านการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติและระบบปัญญาประดิษฐ์ สำหรับการเกษตรอัจฉริยะ แก้ปัญหาที่ได้จากภาคการเกษตร ให้ดีขึ้นจากเดิม และลดการนำเข้าเครื่องมือเกษตรราคาสูงจากต่างประเทศ พร้อมให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างผู้เข้าแข่งขันด้วยกัน ช่วยสนับสนุนแหล่งทุนเพื่อต่อยอดเข้าสู่การผลิตหุ่นยนต์เชิงพาณิชย์ต่อไป โดยภายในงานมีหุ่นยนต์ทางการเกษตรหลากหลายรายการให้ทุกท่านได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด รวมถึงหุ่นยนต์การแก้ปัญหาด้านการจราจร

ติดตามโครงการ AI/Robotics for All ต่าง ๆ และข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ https://www.aiforall.or.th/article/activity/airoboticsforall-expo2022/

Comments

comments