AIS ได้รับรางวัลที่ 1 ระดับประเทศไทย จากเวทีระดับทั่วโลกที่คัดเลือกองค์กรที่มีความโดดเด่นในด้านต่างๆIDC’s Future Enterprise Awards 2022 ในสาขา “Special Award for Sustainability” โดย AIS เป็นองค์กรแรกและองค์กรเดียวในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่ได้รับรางวัลในสาขานี้ สะท้อนการทำงานเชิงรุกที่มุ่งดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการ “อุ่นใจไซเบอร์” ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความปลอดภัยด้านการใช้งานดิจิทัลให้กับคนไทย โดยที่ผ่านมา AIS ได้ริเริ่มเป็นแกนกลางของสังคมด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะยกระดับทักษะของประชาชนสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลที่รู้เท่าทันภัยไซเบอร์ ผ่านการพัฒนาเครื่องมือด้านเทคโนโลยี ในรูปแบบของบริการดิจิทัลที่ช่วยป้องกัน คัดสรรการใช้งานออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียอย่างปลอดภัย และการสร้างภูมิปัญญา การตระหนักรู้ เพื่อส่งเสริมและสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยรู้เท่าทัน พร้อมอยู่กับโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “การทำงานด้านความยั่งยืนของ AIS มุ่งเน้นไปที่การสร้างเครือข่ายผ่านการใช้พลังของภาคส่วนต่างๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสังคม ให้เป็นสังคมแห่งการใช้งานดิจิทัลเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์ ปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อคนไทย โดยเราดำเนินนโยบายดังกล่าวผ่านโครงการ เอไอเอส อุ่นใจไซเบอร์มาตั้งแต่ปี 2562 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมทักษะดิจิทัลให้ประชาชนคนไทยทุกเพศทุกวัย มีความอุ่นใจจากการใช้งานในโลกไซเบอร์ เพราะวันนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้งานอินเทอร์เน็ต มีทั้งข้อดีที่เป็นประโยชน์ และในขณะเดียวกันก็อาจมีข้อเสียที่อาจสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นได้หากไม่รู้เท่าทัน”

รางวัลในสาขา Special Award for Sustainability หรือ รางวัลองค์กรด้านความยั่งยืน เป็นหนึ่งในรางวัลจากทั้งหมด 14 สาขา ในเวที IDC’s Future Enterprise Awards 2022 จัดขึ้นโดย International Data Corporation หรือ IDC ผู้ให้บริการข้อมูลตลาด บริการให้คำปรึกษา และกิจกรรมชั้นนำระดับโลก โดยในปีนี้มีโครงการที่ได้เข้าร่วมมากกว่า 1,000 โครงการ จาก 700 องค์กรทั่วโลก สำหรับประเทศไทยมีมากกว่า 50 องค์กรที่ส่งข้อมูลเข้าประกวดเพื่อร่วมแข่งขันในสาขาต่างๆ ซึ่ง AIS เป็นองค์กรแรกและองค์กรเดียวในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่ได้รับรางวัลในสาขา Special Award for Sustainability จากโครงการอุ่นใจไซเบอร์

“ต้องขอขอบคุณ IDC ที่มองเห็นคุณค่าที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของพวกเรา ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ และสังคม โดยวันนี้โครงการอุ่นใจไซเบอร์ ได้ถูกขยายผลออกไปในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสร้างความปลอดภัยด้านการใช้งานอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ล่าสุดก็ได้ยกระดับจากองค์ความรู้สู่หลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ครั้งแรกของไทย ที่ได้รับรองจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตรการศึกษาไทย ซึ่งที่เป็นการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ยกระดับการเรียนการสอนในยุคดิจิทัล เพื่อปกป้องภัยไซเบอร์ สร้างภูมิคุ้มกันการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลยุคใหม่ตั้งแต่เด็กและเยาวชนไปจนถึงคนทั่วไป” นางสายชล กล่าวทิ้งท้าย

Comments

comments