ธุรกิจบริการทางการเงิน เป็นหนึ่งในภาคธุรกิจ ที่มีบทบาทสำคัญในการบรรเทาปัญหาความแปรปรวนของสภาพอากาศ โดยในการดำเนินธุรกิจ จะต้องไม่เพียงแค่มุ่งเน้นการสร้างกำไรสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างสมดุลของการสร้างมูลค่าทางธุรกิจและความยั่งยืนไปพร้อมกัน
ในบทความนี้ Sai Mandapaty, Chief Commercial Officer, Muralikrishnan Puthanveedu, Principal Consultant และ Mahima Gupta, Principle Consultant, Product Management บริษัท Thoughtworks บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีระดับโลก ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันการเงินในการขับเคลื่อนความยั่งยืน ซึ่งมีความสำคัญ เพราะส่งผลต่อมนุษยชาติ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ
ในการร่วมมือในเรื่องของความยั่งยืนนั้น ธุรกิจบริการทางการเงิน สามารถเป็นได้ทั้งผู้ดำเนินการ คนกลาง ผู้ลงทุนหรือประเมินผล แต่ความท้าทายที่แท้จริงนั้น คือการเป็นผู้ลงมือทำเอง แม้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของภาคธุรกิจนี้จะยังวัดไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็มีหลักฐานบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจนี้มีโครงการต่างๆ ที่เป็นแนวคิดเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ ESG (Environmental, Social, Corporate Governance) ในขณะที่ก็ยังคงรักษาสมดุลทางธุรกิจไว้ นอกจากนี้ ยังได้เริ่มลงทุนในโครงการด้านความยั่งยืนผ่านกองทุนด้าน ESG ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเป็นหนึ่งในสามของสินทรัพย์ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ไม่มีหน่วยงานใดสามารถรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมได้โดยลำพัง สิ่งที่โลกต้องการตอนนี้คือการร่วมมือกันขององค์กรและอุตสาหกรรมต่างๆ โดยนำเทคโนโลยีและฐานข้อมูลที่มีอยู่มาร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ดียิ่งขึ้น
การดำเนินงานของสถาบันทางการเงินส่งผลต่อความยั่งยืน ทั้งที่เกี่ยวกับมนุษยชาติ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ
ความยั่งยืนของมนุษย์
ในประเทศกำลังพัฒนา บริการด้านการเงินดิจิทัลได้ช่วยให้รัฐบาล สามารถปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพของบริการสาธารณะได้ดียิ่งขึ้น และผู้คนก็เข้าถึงบริการได้มากขึ้นด้วย นโยบายใหม่ของธนาคารทุนสำรองอินเดียที่จูงใจให้ธนาคารต่างๆ ปล่อยเงินกู้แก่หน่วยงานและองค์กรที่หลากหลายขึ้น เช่น โรงงานและบริษัทผู้จัดหาวัคซีน ออกซิเจนและเครื่องช่วยหายใจ ได้ช่วยเพิ่มสภาพคล่องของผู้ให้บริการด้านสุขภาพสูงถึง 6.4 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ จึงช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้คนได้ใช้บริการ รวมทั้งประสิทธิภาพของบริการก็ดีขึ้นด้วย บริการด้านการเงินยังช่วยเพิ่มโอกาสด้านการศึกษา คนหนุ่มสาวจำนวนมากเข้าร่วมกลุ่มออมทรัพย์เพื่อระดมเงินออมและเงินกู้เพื่อการศึกษาของตนเองและพี่น้องในครอบครัว จึงนับเป็นการช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเสริมสร้างทักษะของเยาวชน
ความยั่งยืนทางสังคม
ในปัจจุบันมีผู้ใหญ่กว่า 1.6 ล้านคนทั่วโลกที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินและอีกหลายคนที่ใช้บริการทางการเงินแค่ผิวเผิน ฟินเทคกำลังลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินนี้ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วย ธุรกรรมดิจิทัลที่เข้ามาแทนที่การใช้เงินสดได้ผลักดันการไปถึงเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การใช้บัตรเสมือนยังช่วยลดการใช้พลาสติกและโลหะ และโซลูชันของฟินเทคที่มีต้นทุนต่ำก็ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินในวงกว้างได้
เช่น การวิเคราะห์ที่ช่วยอนุมัติเงินกู้สำหรับกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงบริการด้านการเงินและคนที่ไม่มีประวัติเครดิตผ่านโมเดลธุรกิจ เช่น ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (Buy Now Pay Later)
ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม
ธนาคารพยายามลงทุนในโครงการใหม่ๆ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ธนาคาร De Volksbank ในเนเธอร์แลนด์ตั้งเป้าลดคาร์บอนโดยการให้ความรู้แก่ลูกค้าเกี่ยวกับทางเลือกในการประหยัดพลังงานและการติดฉนวนกันความร้อนภายในบ้าน ตอนนี้ธนาคารทั่วโลกกำลังกำหนดพอร์ตสินเชื่อและการลงทุนเพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050
สถาบันทางการเงินยังสนับสนุนตลาดซื้อขายสำหรับกิจกรรมดังกล่าวด้วย ยกตัวอย่างเช่น มีการปล่อยก๊าซคาร์บอน (เช่น การปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรม) ในพื้นที่หนึ่ง มาเป็นการสะสมคาร์บอนไว้อีกที่หนึ่ง (เช่น ป่าฝน) เป็นการสร้างตลาดที่กิจกรรมต่างๆ ดังกล่าวถูกนำมาหักล้างกัน
ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ
ธนาคารเพื่อการลงทุนยุโรปและธนาคารโลกได้ออกตราสารหนี้สีเขียวในปี 2007 และ 2008ตามลำดับ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต่อมาสถาบันทางการเงินอีกหลายแห่งก็ได้ปฏิบัติตาม ทำให้นักลงทุนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้มีส่วนร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามที่ตั้งใจ
เพื่อก้าวข้ามความท้าทาย และริเริ่มดำเนินการโครงการด้านความยั่งยืนต่อไป องค์กรต้องมีกลยุทธ์ระยะยาวที่ผ่านการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน โดยองค์กรด้านการเงินสามารถนำเทคโนโลยีมาปรับเปลี่ยนให้บริการมีความยั่งยืนมากขึ้นได้ ดังนี้
การใช้นวัตกรรมผลิตภัณฑ์: มีผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์มากมาย เช่น Donor Advised Funds ที่ให้เงินสนับสนุนแก่ลูกค้า เพื่อเป็นทุนสำหรับกิจกรรมที่พัฒนาความยั่งยืนผ่านโครงการการกุศลต่างๆ
บรรษัทภิบาล: เพื่อให้ความยั่งยืนและการเติบโตสมดุลกัน สถาบันทางการเงินอย่าง Credit Suisse จึงสร้างแนวทางการจัดการความเสี่ยงขึ้น และบริษัทอื่นๆ อีกหลายแห่งก็กำลังจัดตั้งกลุ่มเพื่อให้คำแนะนำ ซึ่งรายงานตรงต่อคณะกรรมการเพื่อให้ความยั่งยืนเป็นประเด็นสำคัญอันดับแรก
อิทธิพลของระบบ: องค์กรอย่าง JP Morgan กำลังตั้งเป้าหมายความเข้มข้นของคาร์บอนสำหรับลูกค้าในภาคธุรกิจที่มีความสำคัญ เพื่อให้ลูกค้าพิจารณาเรื่องความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางธุรกิจ
อิทธิพลของชุมชน: องค์กรอย่าง Thoughtworks ซึ่งประเด็นเรื่องความยั่งยืนเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลัก กำลังผลิตคู่มือเพื่อสนับสนุนลูกค้าในการเริ่มต้นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และไปให้ถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งหลายที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกัน
เทคโนโลยีและข้อมูล: องค์กรต้องรวบรวม ทำความเข้าใจ วิเคราะห์และผนวกข้อมูลทั่วไป ที่จะมีผลต่อผลที่ได้ทางการเงิน แพลตฟอร์มข้อมูลและโมเดลระบบที่เหมาะสมจะทำให้ขั้นตอนนี้ง่ายขึ้น การใช้เทคโนโลยีโอเพ่นซอร์สจะทำให้ข้อมูลมีความเท่าเทียมกันและทุกคนสามารถเข้าถึงได้
นโยบาย: ผลรายงานความยั่งยืนในยุโรปของ International Sustainability Standards Board และ European Financial Reporting Advisory Group (EFRAG) ได้ช่วยสร้างมาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน