โลกกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาและความท้าทายนานัปการที่บั่นทอนความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของสังคม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ปัญหาคอร์รัปชัน” อันเป็นต้นเหตุของการกัดกร่อนความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ด้วยเหตุนี้ องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ทุกวันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day) เพื่อสร้างการตระหนักรู้และร่วมกันต่อต้านปัญหาคอร์รัปชัน

สำหรับประเทศไทย สถานการณ์การคอร์รัปชันยังคงในอยู่ในระดับ “สูง” อ้างอิงจากรายงานขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International – TI) ระบุว่า ในปี 2564 ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของไทยอยู่ในอันดับที่ 110 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ลดลง 6 อันดับจากปี 2563 ซึ่งรายงานดังกล่าวได้ระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและกลุ่มทุนในภาคเอกชนจัดเป็นตัวแปรสำคัญในการต่อต้านคอร์รัปชันทั่วโลก

ความถูกต้อง-เคารพซึ่งกันและกัน

“ความถูกต้องและการเคารพซึ่งกันและกันถือเป็นคุณค่าสำคัญที่ดีแทคยึดถือ ดังนั้น เราดำเนินธุรกิจโดยยึดมั่นในมาตรฐานจริยธรรมและธรรมาภิบาลสูงสุด ซึ่งรวมถึงในการทำงานกับพันธมิตรและคู่ค้าด้วย การต่อต้านการคอร์รัปชันจึงถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของคนดีแทค” สตีเฟ่น แฮลวิก รักษาการณ์รองประธานเจ้าหน้าบริหาร กลุ่มกิจการองค์กรของดีแทค กล่าว

“ที่ดีแทค เราไม่ทนต่อการคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ (Zero Tolerance) และเราเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องเสมอ” เขาเน้นย้ำ

นอกเหนือจากแนวทางภายใต้หลักธรรมภิบาลของดีแทคแล้ว บริษัทยังมีแนวทางปฏิบัติอีก 2 หมวดใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการคอร์รัปชัน ได้แก่ 1. นโยบายไม่รับของขวัญ หรือ No Gift Policy และ 2. แนวปฏิบัติด้านการสนับสนุนและบริจาค (Sponsorship & Donation)

สำหรับนโยบาย No Gift Policy นั้น ดีแทคไม่อนุญาตให้พนักงาน “ให้” และ “รับ” สิ่งของใดๆ จากบุคคลภายนอกองค์กร เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัทจะตั้งอยู่บนมาตรฐานจริยธรรม ความเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และเป็นมืออาชีพ อย่างไรก็ตาม ด้วยบริบททางวัฒนธรรมและคุณค่าทางสังคมที่แตกต่างกัน บริษัทจึงอนุโลมให้การมอบของขวัญตาม “มารยาทและประเพณีทางธุรกิจ” สามารถกระทำได้ โดยของขวัญนั้นต้องมีโลโก้ดีแทคและมูลค่าไม่สูงกว่าที่กำหนด

“ความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นเป็นตัวแปรที่สำคัญยิ่งในการดำเนินธุรกิจ การรักษาความสัมพันธ์ให้แข็งแกร่งจะก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีทางธุรกิจ และเอื้อให้เกิดวิถีการทำงานที่เป็นไปในเชิงบวก แต่ทั้งนี้ การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ก็ต้องเป็นไปอย่างมืออาชีพ และสอดคล้องกับมาตรฐานทางจริยธรรม” สตีเฟ่นกล่าว ก่อนจะเสริมว่า ที่ผ่านมานโยบาย No Gift Policy นั้นได้รับผลตอบรับเชิงบวกจากทั้งพนักงาน พันธมิตร คู่ค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มอื่นๆ ของเรา โดยพวกเขาบอกว่ารู้สึก “สบายใจ” ในการทำงานกับดีแทค สามารถเจรจาอย่างเปิดเผย และทำงานได้เป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง

ลดความเสี่ยงการทุจริตผ่านการสอบทาน

ในทำนองเดียวกัน การสนับสนุนและบริจาคนั้นจำต้องมีการกำหนดแนวทางและกระบวนการอย่างชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการสนับสนุนและบริจาคที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแท้จริง และไม่ถูกใช้เป็นช่องทางเพื่อการทุจริต ดีแทคมีกระบวนการสอบทาน (Due Diligence) เพื่อประเมินความเสี่ยงของผู้ขอรับบริจาค โดยบริษัทได้มีการกำหนดนิยาม ขั้นตอน และหลักเกณฑ์การประเมินอย่างชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางที่เป็นกลางในการปฏิบัติงานที่ปราศจากอคติและรักษาไว้ซึ่งความโปร่งใส โดยดีแทคจะมีคณะทำงานตรวจสอบทั้งก่อนและหลังการบริจาค เพื่อให้มั่นใจว่าเงินหรือสิ่งของที่บริจาคไปนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้ อาทิ ผู้ขอรับการบริจาคจะต้องจดทะเบียนในนามนิติบุคคล มีการแสดงเจตจำนงของการรับบริจาคอย่างชัดเจน และวัตถุประสงค์ของการบริจาคควรสอดรับกับแนวทางการดำเนินงานขององค์กรและยึดถือคุณค่าที่สอดคล้องกับดีแทค

“กระบวนการสอบทานการสนับสนุนและบริจาคเป็นมาตรฐานของการกำกับกิจการที่ดีขององค์กร สอดรับกับแนวทางสากลที่ต้องการให้เกิดความโปร่งใสและไม่ให้การสนับสนุนและบริจาคเป็นช่องทางในการติดสินบน ทุจริต และคอร์รัปชัน” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรของดีแทค อธิบาย

นอกจากนี้ ดีแทคยังให้ความสำคัญกับกระบวนการ “การแจ้งเบาะแส” (Whistle Blowing) อันถือเป็นหนึ่งในแนวปฏิบัติด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี และยังเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริตผ่าน“การมีส่วนร่วม” ทั้งจากพนักงานและบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผ่านช่องทาง Integrity Hotline ซึ่งที่ผ่านมา กระบวนการแจ้งเบาะแสมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชันภายในองค์กร โดยในปี 2564 มีจำนวนการแจ้งเบาะแสทั้งสิ้น 204 เรื่อง และนำเข้าสู่การพิจารณาโดยอิงจากพยานหลักฐานทั้งสิ้น 52 เรื่อง ซึ่งผลจากการพิจารณามีทั้งการเตือนด้วยวาจา การส่งหนังสือเตือน ไปจนถึงการเลิกจ้าง

แก้ไขคอร์รัปชันจากบนลงล่าง

สตีเฟ่นให้ความเห็นว่า การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธีใหญ่ๆ วิธีการแรกคือ การแก้ไขปัญหาจากบนลงล่างหรือ Top-down ผ่านการบังคับใช้นโยบายและกลไกทางกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามเป็นหลัก ส่วนอีกวิธีคือ การแก้ไขปัญหาจากล่างขึ้นบน หรือ Bottom-up เพราะการป้องกันคอร์รัปชันไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพหากขาดการมีส่วนร่วมทั้งองคาพยพของสังคม ซึ่งนั่นรวมถึงองค์กรเอกชนอย่างดีแทคที่ยึดถือมาตรฐานทางจริยธรรมสูงสุดในการกำหนดแนวนโยบายในองค์กร โดยประกอบหลักการสำคัญ 4 ข้อ ได้แก่ 1. ความถูกต้อง 2. ความรับผิดชอบ 3. ความซื่อสัตย์และโปร่งใส และ 4. ความกล้าในการเปิดเผยสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

“การแก้ไขปัญหาจากล่างขึ้นบนถือเป็นกลไกที่สำคัญอย่างมากในสังคมแห่งประชาธิปไตย ทุกคนในสังคมตระหนักดีว่าคอร์รัปชันเป็นปัญหาสังคม แต่ปัญหานี้จะหมดไปได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยของสังคม เพราะท้ายที่สุดแล้ว คอร์รัปชันไม่ใช่อาชญากรรมที่ปราศจากผู้เสียหาย และคุณภาพชีวิตที่เสียไปคือราคาที่ทุกคนในสังคมต้องจ่ายให้สำหรับการคอร์รัปชัน” สตีเฟ่นทิ้งท้าย

 

Comments

comments