พันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) เปิดเผยเกี่ยวกับการเข้าร่วมประมูลใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่ผ่านมาว่า NT ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการตามนโยบายภาครัฐและดำเนินการธุรกิจดาวเทียมในเชิงพาณิชย์ รวมถึงได้รับมอบหมายเป็นผู้บริหารดาวเทียมของชาติ ได้เข้าร่วมการประมูลซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีและนโยบายคณะกรรมการกิจการอวกาศแห่งชาติ โดย NT ได้รับสิทธิ์ 1 วงโคจรคือ วงโคจรชุดที่ 4 ( 126E ) ซึ่งสามารถให้บริการครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และทะเลจีนใต้ ในราคา 9.076 ล้านบาท ขณะที่ยังสามารถคงสิทธิ์ความจุ 400 Mbps และสิทธิ์ในการบริหารจัดการช่องสัญญาณดาวเทียมในวงโคจร 119.5E ของภาครัฐไว้ (ซึ่ง กสทช. จะกำหนดต่อไปว่าเป็นหน่วยงานใดเป็นผู้บริหารความจุ 400Mbps ต่อไป) จากการพิจารณาไม่เข้าร่วมประมูลวงโคจรชุดที่ 3 (119.5E และ 120E) เนื่องจากตามเงื่อนไขของ กสทช. การเข้าประมูลวงโคจรชุดดังกล่าว หากมีหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมประมูล จะส่งผลให้ภาครัฐเสียสิทธิ์ในการได้รับการจัดสรรความจุ จำนวน 400 Mbps หรือ อย่างน้อย 1 Transponder อีกทั้งยังเกิดความเสี่ยงด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีของการควบคุมดาวเทียม ซึ่งการเข้าประมูลครั้งนี้ NT ได้พิจารณาการเข้าประมูลวงโคจรดังกล่าวบนพื้นฐานของความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุดขององค์กรและประเทศชาติ
สำหรับวงโคจร 126E ที่ประมูลได้นี้จะทำให้ NT เพิ่มศักยภาพธุรกิจบริการดาวเทียมได้อย่างเต็มรูปแบบทั้งทางเทคโนโลยี และบุคลากรเป็นการส่งเสริมกิจการอวกาศ และเป็นการรักษาวงโคจรของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับการปรับโครงสร้างองค์กรล่าสุดของ NT ที่เพิ่มการจัดตั้งสายงานดาวเทียมและโครงข่าย เพื่อดำเนินภารกิจด้านดาวเทียม ทั้งการบริหารจัดการและการสนับสนุนการขาย บริการสื่อสารผ่านดาวเทียม เกตเวย์และสถานีภาคพื้นดิน รองรับการก้าวสู่ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรรอบโลกระดับต่ำ Low Earth Orbit (LEO) และดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้า (GEO) โดยจะส่งผลให้การให้โครงข่ายโทรคมนาคมของ NT มีทั้งทางภาคพื้นดิน ใต้น้ำ และในอวกาศ

นอกจากนี้ วงโคจรที่ กสทช. นำมาใช้ในการประมูลในครั้งนี้ เป็นวงโคจรสำหรับการดำเนินการเชิงพาณิชย์ มิใช่วงโคจรดาวเทียมเพื่อความมั่นคง ส่วนการใช้งานด้านความมั่นคง บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ จะประสานงานกับ กสทช. เพื่อให้ได้มาซึ่งวงโคจรสำหรับวัตถุประสงค์ดังกล่าว
NT ตระหนักดีถึงความสำคัญของการพัฒนากิจการดาวเทียมสื่อสารของประเทศ และพิจารณาความเป็นไปได้ทางธุรกิจและความคุ้มค่าในการลงทุนประกอบกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการควบคุมและบริหารจัดการดาวเทียมให้สอดคล้องกับนโยบายดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ รวมทั้งใช้วงโคจรนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในภาพรวมของประเทศในหลากหลายมิติ อาทิ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร สาธารณสุข ตลอดจนการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจ และสังคม ต่อไป

Comments

comments