ผ่านพ้นไปครบ 1 เดือนพอดีที่ Landscape โฉมหน้าการแข่งขันของผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมไร้สายในไทยนั้นถูกเปลี่ยนไปจากผู้เล่นรายใหญ่ 3 รายเหลือเพียง 2 ราย TelecomLover จะขอสรุปภาพรวมสถานการณ์ทั้งการใช้งานคลื่นความถี่ของทั้ง 2 ค่ายในปัจจุบันว่าผู้ใช้อย่างเราจะได้ประโยชน์ หรือได้รับประสบการณ์การใช้งานเป็นไปในทิศทางอย่างไร
อันดับแรก TRUE + DTAC ภายหลังควบรวมกิจการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ใช้สามารถ “โรมมิ่ง” เครือข่ายระหว่างกันได้ เพราะตามข้อกำหนดกฏระเบียบการประมูลคลื่นความถี่และกติกาต่าง ๆ ไม่ยินยอมให้มีการรวมคลื่นเพื่อใช้เป็นคลื่นใหญ่ คลื่นเดียว อาทิ 1800 หรือ 2100MHz ที่ทั้งสองบริษัทต่างมีคลื่นนี้อยู่ในมือ
ดังนั้น การ “โรมมิ่ง” ภายใต้จำนวนผู้ใช้งานที่สองค่ายมีรวมกัน ไม่ได้ทำให้การใช้งานจะได้ประสบการณ์ที่ดีขึ้นแบบเห็นได้ชัด เหตุเพราะลูกค้าของทั้ง 2 ค่ายยังคงแยกใช้งานปริมาณคลื่นและจำนวนที่เสาที่มีอยู่เท่าเดิม จะมีเพียงข้อดีอย่างเดียวที่ลูกค้าดีแทคจะได้ความเร็ว Download สูงขึ้นจากการใช้งาน 5G ในคลื่นทรู 2600MHz แต่ในภาพรวม ลูกค้าทรูที่ต่อมามีลูกค้าดีแทคโรมมิ่งมาร่วมใช้ Bandwidth 5G คลื่น 2600MHz ที่ทรูยังคงใช้อยู่ในปริมาณเท่าเดิมที่ 50 MHz ทั่วประเทศนั้น ทำให้ประสบการณ์การใช้งานคลื่น 5G ทั้งลูกค้าทรูและดีแทคมีแนวโน้มที่ไม่สดใส เพราะเต็มไปด้วยความแออัดของ traffic 5G นอกจากนี้ ลูกค้าทรูที่ใช้อุปกรณ์ 4G ก็ไม่มีโอกาส “โรมมิ่ง” ไปใช้คลื่นกว้างสุด 2300MHz ของดีแทคที่ให้บริการ 4G+ 3CA 60 MHz ได้ เหตุเพราะคลื่น 2300MHz นั้น ทางดีแทคไม่ใช่เจ้าของสัมปทานหรือเจ้าของคลื่นโดยตรง ดังนั้นลูกค้าทรูเรียกว่าไม่ได้ใช้อะไรที่โรมมิ่งเป็น “High Speed Internet Bandwidth” จากทางดีแทคเลย ยกเว้นการโรมมิ่งตามต่างจังหวัดไปใช้คลื่นต่ำ 700MHz ของดีแทคเพื่ออุดรูรั่ว coverage ที่คลื่นทรูไปไม่ถึงเพียงเท่านั้น
ฝั่ง AIS ล่าสุดประกาศความร่วมมือกับ NT ใช้คลื่น 700MHz ร่วมกัน ซึ่ง AIS มีอยู่เดิม 15×2 = 30 MHz ก็จะได้เพิ่มขึ้นมาอีก 5×2 = 10 MHz รวม 20×2 = 40 MHz เป็น 700MHz แบบ Super Block ผืนใหญ่ที่สุดในไทย ทั้งหมดนี้ AIS เอามาเพิ่ม Bandwidth 5G ในคลื่นต่ำซึ่งประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเลยคือค่า Upload เพราะเป็นการรวมคลื่นเข้าด้วยกัน ไม่ใช่การโรมมิ่ง (คลื่น AIS และ NT นั้นติดกัน) ดังนั้นลูกค้า AIS ที่ใช้งาน 5G โดยเฉพาะ ตามต่างจังหวัดหรือภูมิประเทศที่ไม่ใช่ตัวเมือง และลูกค้าที่มือถือ support 5G CA ก็จะได้ประโยชน์จากความร่วมมือนี้โดยตรง และล่าสุด ลูกค้า AIS ที่ใช้ iPhone 14 Series ที่มีซิมและแพ็กเกจที่รองรับ 5G สามารถใช้งาน 5G ความหน่วงต่ำหรือ Stand Alone (SA) ได้แล้วบน iOs 16.4 ขึ้นไป ก็ยิ่งเป็นการผ่อนคลายให้ traffic หรือการจราจร 4G ของ AIS ว่างลงไปเยอะ ทำให้ลูกค้าที่มีเครื่องที่ไม่รองรับ 5G พลอยได้ใช้คลื่น 4G ที่ว่างมากขึ้น ทำให้ประสบการณ์การใช้งานบนเครือข่ายที่เรียกว่าใช้คลื่นความถี่ได้โคตรคุ้ม
วัดขุมพลังคลื่นความถี่ของทั้ง 2 ค่ายให้บริการปัจจุบัน
เมื่อพิจารณาจากปริมาณคลื่นที่มีอยู่ในมือของ 2 ค่ายใหญ่ รวมปริมาณความถี่ที่ทุกค่ายไปมีความร่วมมือกับ NT แล้ว จะเห็นได้ว่า AIS ยังคงครองแชมป์ผู้ให้บริการที่มีคลื่นความถี่ครบทุกย่าน สูง กลาง และต่ำ และมีปริมาณ Bandwidth รวมกันมากที่สุดคือ 1460 MHz ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับแผนการใช้คลื่นสูง mmWave และ คลื่นต่ำ 700MHz ที่เพิ่งประกาศเมื่อเร็วๆนี้ เป็นสัญญาณบวก หรือแนวโน้มที่สดใสสำหรับชาว AIS ที่จะใช้งานแล้วได้ประสบการณ์ที่ดีขึ้นจากอานิสงค์ของ 5G Coverage ที่ไปไหนก็ใช้ได้ และปริมาณคลื่น 5G ที่นำมาใช้ก็มากเพียงพอไม่ต้องแย่งกันแม้พื้นที่ที่มีการใช้งานสูง
ในส่วนของทรู ความถี่ในมือทั้งหมดรวมกันได้ 1350 MHz จะเห็นว่า ทรูเมื่อรวมกับดีแทค มีคลื่น 4G ที่กระจัดกระจาย ไม่เป็นก้อนใหญ่ อย่าง 1800MHz ก็แยกกันเป็น 30+10 MHz แบบนี้ลูกค้าไม่ได้ประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้นเลย เพราะยังคงแยกทั้งคลื่นและปริมาณอยู่ ในขณะที่คลื่น 5G ก็ยังคงใช้งานอยู่ในปริมาณเท่าเดิม นั่นคือ 2600MHz จำนวน 90 MHz ซึ่งทรูแบ่งมาเปิด 5G เพียง 50 MHz และแบ่งมาใช้ TRUE4G ใช้อีก 40 MHz ส่วนคลื่น 700MHz จำนวน 20×2 หรือ 40 MHz ก็เป็นการแยกกันใช้เหมือนคลื่น 4G เหตุเพราะ 700MHz ของดีแทคและทรูนั้นรวมคลื่นไม่ได้ ในส่วนของคลื่น mmWave ปัจจุบันก็ยังไม่มีการประกาศออกมาว่าจะนำมาให้ลูกค้าใช้งานได้เมื่อไร อย่างไร ดังนั้นเมื่อจำนวนลูกค้าทรูและดีแทครวมกันมาแชร์ใช้ช่องสัญญาณ 5G แบบ “โรมมิ่ง” ประสบการณ์ของลูกค้าที่รุมใช้สัญญาณจากเสาและคลื่นเดียวกันมีความแออัดด้วยคลื่นที่มีอยู่เท่าเดิม จึงไม่ได้ความเร็วที่สูงขึ้น และที่สำคัญยังมีการใช้งาน 5G แบบ SA ที่ค่อนข้างต่ำซึ่งปัจจุบันมีเพียงลูกค้าทรูกลุ่มเล็ก ๆ ที่สามารถเข้าถึง SA ในพื้นที่ๆจำกัด ส่วนลูกค้าดีแทคก็ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการ SA ได้ในทุกคลื่นแม้โรมมิ่งมาใช้ TRUE5G ก็ตาม
นอกจากดูเรื่องการใช้ความถี่แล้ว สิ่งสำคัญไม่แพ้กันที่จะทำให้ประสบการณ์การใช้งานดีขึ้นคือ ความครอบคลุมของสัญญาณ ในด้านความครอบคลุม Coverage 5G ทรูและดีแทค ถูกวางเป้าหมาย ประกาศให้ครอบคลุม 98% ทั่วประเทศได้ก็ต้องรออีก 3 ปี (2569) ในขณะที่ปัจจุบัน(2566) AIS มี 5G ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ 87% , กรุงเทพมหานคร 100% , และพื้นที่ EEC 100% พร้อมทั้งเป็นเครือข่าย 5G SA ที่ใหญ่ที่สุดเกือบ 100% คือใช้ SA ล้วน ๆ ได้เกือบทุกที่โดยไม่ต้องพึ่งพา 4G หากผู้ใช้มีอุปกรณ์ 5G ที่รองรับ
โดยสรุป การใช้งานเครือข่ายใหญ่ทั้ง 2 เครือข่ายพิจารณาจากคลื่นความถี่ในปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว ฝั่ง AIS มีความถี่รวมสูงสุด 1460 MHz มากกว่าฝั่ง TRUE ที่รวมหมดแล้วมีอยู่ 1350 MHz นอกจากคลื่นที่ทรูมีน้อยกว่าแล้ว การใช้คลื่นก็มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทาง AIS จะมีคลื่นก้อนใหญ่ เป็น Super Block เต็มผืนในคลื่น 700MHz , 1800MHz และ 2600 MHz ซึ่งจุดเด่นของ Super Block คือ Speed Download และ Upload มาเต็ม มาครบ ไม่ต้องซอยเสา ซอยคลื่นให้กระจัดกระจายมาก รองรับการใช้งานพร้อมกันได้ปริมาณมากแบบไม่ติดขัด ไม่ต้องใช้การโรมมิ่งสัญญาณซี่งถือเป็นข้อด้อยหรือจุดอ่อนของการใช้งานแบบข้ามเครือข่ายที่สุ่มเสี่ยงทำให้การใช้งานไม่ราบเรียบ (ลองนึกภาพดูว่า ลูกค้าทรู มีอยู่ XX ล้านราย แต่จู่ๆมีลูกค้าดีแทคกว่า XX ล้านราย มาร่วมใช้งานคลื่นที่มีปริมาณเท่าเดิม ย่อมทำให้ประสบการณ์ใช้งานของลูกค้าทรูเปลี่ยนไปได้ ซึ่งข้อมูลในกลุ่ม TelecomLover ได้มีหลาย ๆ เคสที่เป็นแบบนั้น) ให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ “คลื่นมีเท่าเดิม แต่ลูกค้าแออัดเพิ่มมากขึ้น”
นอกจากเรื่องการใช้คลื่นที่เป็นตัวชี้วัดคุณภาพ ประสิทธิภาพการใช้งานแล้ว ความครอบคลุมของสัญญาณ และการใช้เทคโนโลยีรวมถึงวิสัยทัศน์ในการนำคลื่นที่มีอยู่ออกไปใช้ประโยชน์อย่างไรให้การใช้งานสามารถตอบโจทก์ความต้องการของลูกค้าได้สูงสุดนั้น แสดงถึงความเป็นผู้นำเบอร์ #1 ตัวจริงมากกว่าที่จะไปวัดกันที่จำนวนผู้ใช้บริการหรือไม่ ผู้อ่านคงต้องเป็นผู้ตัดสินเอง