บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดทำรายงานภาพรวมข้อมูลและสถิติการใช้งาน แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในภาคธุรกิจกว่า 2,000 แบรนด์ชั้นนำ จาก 20 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2565 โดยนำเสนอผ่าน 2 มุมมอง ได้แก่ ภาพรวมของการใช้งานโซเชียลมีเดีย 4 แพลตฟอร์ม (Facebook, Twitter, Instagram, และ YouTube) เช่น การเคลื่อนไหวระหว่างปี, อุตสาหกรรมที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์สูง และบทวิเคราะห์เจาะลึกการใช้งานของอุตสาหกรรมที่โดดเด่นในแต่ละแพลตฟอร์ม โดยรายงานนี้จะเป็นประโยชน์แก่นักการตลาดหรือเจ้าของธุรกิจ ให้นำไปต่อยอดเพื่อวางกลยุทธ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป
โดย ไวซ์ไซท์ ขอสรุป 10 ข้อมูลและสถิติการใช้งานโซเชียลมีเดียของภาคธุรกิจในปี 2565 ดังนี้
- ในปี 2565 มีเอ็นเกจเมนต์จากบัญชีทางการ (Official Account) ของแบรนด์ทั้งสิ้น 389 ล้านครั้ง จาก 3.1 ล้านโพสต์ โดย 3 กลุ่มธุรกิจที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์ สูงสุด คือ ธุรกิจบริการอาหารและคาเฟ่ (Restaurant), ธุรกิจอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง (Construction Material) และธุรกิจแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายสินค้า (Marketplace & E-Commerce Platform)
- กลุ่มธุรกิจที่เอ็นเกจเมนต์เติบโตสูงสุด คือ ธุรกิจการโรงแรมและตัวแทนบริษัทนำเที่ยว (Hospitality & Travel Agency) และธุรกิจห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้า (Shopping Center & Department Store)
- กลุ่มธุรกิจที่โดดเด่นมากที่สุดบน Facebook คือ ธุรกิจอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง (Construction Material) และธุรกิจบริการอาหารและคาเฟ่ (Restaurant), บน Twitter คือ ธุรกิจแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายสินค้า (Marketplace & E-Commerce Platform), ส่วน Instagram คือ ธุรกิจบริการอาหารและคาเฟ่ (Restaurant) และ YouTube คือ ธุรกิจเครื่องดื่ม (Beverage)
- สำหรับกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจคือ ธุรกิจบริการอาหารและคาเฟ่ (Restaurant) ที่เริ่มเข้ามาครองพื้นที่บน Instagram มากขึ้น (+61%) ในขณะที่บน YouTube เป็นธุรกิจทองคำและอัญมณี (Gold & Jewelry), ธุรกิจตกแต่งบ้าน (Home & Decoration) และธุรกิจบริการอาหารและคาเฟ่ (Restaurant) ก็มีการเติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก
- 99% ของแบรนด์ยังคงใช้ Facebook เป็นแพลตฟอร์มหลักในการสื่อสาร แต่มีสัดส่วนการใช้ Twitter และ Instagram เพิ่มขึ้นกว่า 5%
- เอ็นเกจเมนต์ของบัญชีทางการบน Facebook มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่จำนวนโพสต์เพิ่มขึ้น ส่วนเอ็นเกจเมนต์ของบัญชีทางการบน Twitter มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวนโพสต์มีความสม่ำเสมอ ส่วนเอ็นเกจเมนต์ของบัญชีทางการบน Instagram มีจำนวนที่ลดลง ขณะที่จำนวนโพสต์มีความสม่ำเสมอ และยอดเข้าชมของบัญชีทางการบน YouTube มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวนโพสต์มีความสม่ำเสมอ
7. โดยรวมแบรนด์มีบัญชีทางการอย่างน้อยสองแพลตฟอร์มขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วน 84% ของแบรนด์ทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้น 2% จากปี 2564 ส่วนมากแบรนด์มีบัญชีทางการอย่างน้อย 2 แพลตฟอร์มคิดเป็น 37% รองลงมาคือมีบัญชีทางการอย่างน้อย 3 แพลตฟอร์มคิดเป็น 27%, มีบัญชีทางการอย่างน้อย 4 แพลตฟอร์มคิดเป็น 20% และมีบัญชีทางการอย่างน้อย 1 แพลตฟอร์มคิดเป็น 16%
8. ในส่วนของช่วงเวลาการโพสต์ แบรนด์มักมีการโพสต์ตามเวลาทำการ (Working Hours) คือ ในวันจันทร์ – ศุกร์ โดยเฉพาะช่วง 2-3 ชั่วโมงก่อนพักเที่ยง และก่อนเลิกงาน ส่วนเสาร์-อาทิตย์ เน้นโพสต์ช่วงครึ่งเช้า
9. วิดีโอบน YouTube ที่ผู้บริโภคมักกด like ส่วนมากจะเป็นวิดีโอที่มีความยาว 5-20 นาที มีเนื้อหาน่าติดตาม ไม่ว่าจะเป็นรายการที่รวมศิลปิน ดนตรี หรือโฆษณาที่มีเรื่องราวคล้ายภาพยนตร์
10. แบรนด์เน้นใช้รูปภาพมากกว่าวิดีโอบนช่องทาง Instagram ในส่วนของโพสต์ที่ได้รับยอด Love สูง ส่วนมากจะเกี่ยวกับอาหาร หรือการเตรียมอาหารและโพสต์กิจกรรมแจกรางวัลที่ร่วมกับพรีเซนเตอร์
ผู้ที่สนใจรายงานภาพรวมการใช้งานโซเชียลมีเดียเชิงธุรกิจในปี 2565 สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ฟรีที่ https://store.wisesight.com/product/business-usage-2022/
____________________________________________________________________________________________________
รายชื่อนักวิเคราะห์ข้อมูล
- ถิรนัย เกียรติพิมล
- มิณฑรา สุวรรณกูฏ