รายงานการเดินทางอย่างยั่งยืนประจำปี 2566 ของ Booking.com ที่รวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากความคิดเห็นของผู้เดินทางกว่า 33,000 คนจาก 35 ประเทศ พบว่าผู้เดินทางรู้สึกลังเลใจ เมื่อต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง กับการพิจารณาเลือกตัวเลือกการเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้น โดย 84% ของผู้เดินทางชาวไทยมองว่า ผู้คนต้องเริ่มทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาโลกของเราตั้งแต่วันนี้ และเลือกตัวเลือกการเดินทางที่ยั่งยืนมากขึ้นเพื่อปกป้องโลกให้กับคนรุ่นใหม่ ส่วน 42% คิดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมจะแย่ลงในอีก 6 เดือนข้างหน้า และเกือบครึ่งหนึ่ง (46%) เชื่อว่าวิกฤตค่าครองชีพจะแย่ลง ส่งผลให้ผู้คนไม่แน่ใจว่าควรให้ความสำคัญกับเรื่องใดเป็นอันดับแรก เมื่อต้องพยายามหาสมดุลระหว่างสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นเรื่องสำคัญ กับความจำเป็นในชีวิตประจำวัน

การเดินทางอย่างยั่งยืนมาถึงทางแยก 

อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ผู้เดินทางกำลังกังวลอยู่กับความคิดที่ว่าพวกเขาต้องเลือกระหว่างความยั่งยืนกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ยิ่งไปกว่านั้นผู้เดินทางกำลังมองหาตัวเลือกด้านการเดินทางอย่างยั่งยืนที่คุ้มค่ามากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต้องการสิ่งแลกเปลี่ยนเพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเมื่อต้องพิจารณาเลือกตัวเลือกรักษ์โลกเหล่านั้น ซึ่งสิ่งแลกเปลี่ยนในที่นี้หมายรวมถึงค่าตอบแทนเพื่อจูงใจในรูปแบบต่าง ๆ จากผู้ให้บริการด้านการเดินทางด้วยเช่นกัน

  • 92% ของผู้เดินทางชาวไทยต้องการเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ขณะที่ 87% กล่าวว่าวิกฤตพลังงานโลกและค่าครองชีพที่สูงขึ้นกำลังส่งผลกระทบต่อการวางแผนการใช้จ่ายของพวกเขา
  • 53% ของผู้เดินทางชาวไทยเชื่อว่าตัวเลือกการเดินทางอย่างยั่งยืนนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป โดยผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มนี้มองว่า การเดินทางและความยั่งยืนอาจไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนนัก เมื่อต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และวิกฤตพลังงาน
  • 71% ของผู้เดินทางชาวไทยในปัจจุบันยินดีจ่ายมากขึ้น เพื่อเลือกตัวเลือกการเดินทางที่มีการรับรองแนวทางด้านความยั่งยืน โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนั้นก็เพื่อให้มั่นใจว่าตนเองได้ลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มนี้มองว่า ตัวเลือกการเดินทางอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องหันมาใส่ใจมากขึ้น
  • 45% ต้องการส่วนลดและข้อเสนอที่จูงใจด้านราคา เมื่อพิจารณาถึงตัวเลือกการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • 45% ได้รับแรงจูงใจในการเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้นจากคะแนนสะสม ซึ่งสามารถนำไปแลกรับสิทธิพิเศษหรือส่วนลดต่าง ๆ ได้ผ่านแพลตฟอร์มหรือช่องทางของผู้ให้บริการด้านการเดินทาง

ก้าวข้ามอุปสรรคเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

อุปสรรคของผู้เดินทางไม่ได้มีเพียงแต่เรื่องค่าใช้จ่ายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอและไม่มีตัวเลือกที่มากพอ นอกจากนี้อุปสรรคต่อการเดินทางอย่างยั่งยืนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงที่ผ่านมา

  • ผู้เดินทางชาวไทย 70% มองว่า ตัวเลือกการเดินทางอย่างยั่งยืนยังมีไม่เพียงพอ ขณะที่ 83% ต้องการให้บริษัทด้านการเดินทาง เสนอตัวเลือกรักษ์โลก หรือตัวเลือกการเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้น
  • 54% ของผู้เดินทางไม่รู้ว่าจะหาตัวเลือกการเดินทางอย่างยั่งยืนได้จากที่ใด
  • 86% มองหาประสบการณ์การท่องเที่ยวที่นำเสนอวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้อย่างแท้จริง ขณะที่ 55% ไม่รู้ว่าจะหาทัวร์และกิจกรรมเหล่านี้ได้อย่างไรหรือจากที่ใด ที่จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าพวกเขาสามารถคืนกำไรจากการท่องเที่ยวให้ชุมชนท้องถิ่นได้

 

นำความยั่งยืนจากที่บ้าน ไปสู่วันหยุดพักผ่อน

ข้อมูลข่าวสารยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนพฤติกรรมของผู้เดินทางชาวไทย โดย 78% เผยว่าข่าวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงที่ผ่านมากระตุ้นให้พวกเขาหันมาใส่ใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ผู้เดินทางยังได้ปรับเปลี่ยนความตั้งใจไปสู่การลงมือทำ โดยเริ่มจากก้าวเล็ก ๆ ที่บ้าน และนำพฤติกรรมหรือแนวทางด้านความยั่งยืนที่พวกเขาปรับใช้จากที่บ้าน มาปฏิบัติตามเมื่อออกเดินทางด้วยเช่นกัน เพื่อเป้าหมายในการขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืน

  • 91% ของผู้เดินทางชาวไทยยืนยันว่าการเดินทางอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขา
  • 72% ปิดเครื่องปรับอากาศเมื่อไม่ได้อยู่ในที่พัก (เพิ่มขึ้น 34% จากปี 2565)
  • 43% ใช้ผ้าขนหนูผืนเดิมซ้ำหลายครั้งระหว่างเข้าพัก
  • 58% ใช้กระติกน้ำส่วนตัวหรือขวดน้ำที่ใช้ซ้ำได้ในที่พัก
  • 76% ปิดไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อไม่ได้อยู่ในที่พัก
  • 51% แยกขยะเพื่อรีไซเคิลเมื่อเดินทางท่องเที่ยว
  • 43% วางแผนการเที่ยวชมสถานที่หรือจุดหมายปลายทางที่สามารถเดิน ปั่นจักรยาน หรือใช้บริการขนส่งสาธารณะได้
  • 54% นิยมซื้อสินค้าที่ระลึกในร้านค้าอิสระ ร้านค้าชุมชนขนาดเล็ก ระหว่างไปพักผ่อนช่วงวันหยุด

แวดวงการเดินทางต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริง เพื่อสร้างความไว้วางใจ

ท่ามกลางความวิตกกังวลที่มากขึ้นในเรื่องของเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้เดินทางได้กลายเป็นผู้บริโภคที่รับผิดชอบมากขึ้น เราจึงเห็นผู้เดินทางในปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้วิธีการแบบใหม่ในการออกเดินทางท่องเที่ยว และแสวงหาวันหยุดพักผ่อนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุด ซึ่งส่งผลให้พวกเขามองหาการรับรองมาตรฐานด้านความยั่งยืนที่เชื่อถือได้ที่ครอบคลุมตัวเลือกการเดินทางทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นตอนการจอง ดังนั้น อุตสาหกรรมการเดินทางจึงต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น

  • 40% มักจะมองหาแบรนด์ที่มีการดำเนินงานโดยยึดหลักความยั่งยืน หรือสนับสนุนเรื่องความยั่งยืน
  • 82% สนใจที่จะค้นหาเพิ่มเติมว่าเหตุใดตัวเลือกนั้น ๆ จึงได้รับการยอมรับว่ามีความยั่งยืนมากกว่าตัวเลือกอื่น เช่น หลอดไฟ LED ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และห้องน้ำที่ใช้ระบบโถสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ ซึ่งช่วยส่งเสริมการเข้าพักอย่างยั่งยืนได้มากยิ่งขึ้น
  • 81% ต้องการทำให้จุดหมายปลายทางที่พวกเขาเคยไปเยือนนั้นดีขึ้นกว่าที่เคย
  • 85% จะรู้สึกดีกับการเข้าพักมากขึ้น หากทราบว่าที่พักนั้น ๆ ได้รับใบรับรองหรือป้ายสัญลักษณ์สำหรับมาตรฐานด้านความยั่งยืน
  • 79% อยากให้มีตัวกรองที่สามารถคัดเฉพาะที่พักที่ได้รับใบรับรอง หรือป้ายสัญลักษณ์สำหรับมาตรฐานด้านความยั่งยืนในการจองครั้งถัดไป
  • อย่างไรก็ดี ผู้เดินทางชาวไทย 45% ในปัจจุบันไม่ได้ไว้วางใจว่าตัวเลือกการเดินทางที่ได้รับรองว่ามีมาตรฐานด้านความยั่งยืนจะเป็นตัวเลือกที่ยั่งยืนมากกว่าตัวเลือกอื่น ๆ อย่างแท้จริง

ช่วยให้การเดินทางอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน

หลังจากการครบรอบหนึ่งปี โปรแกรมการเดินทางอย่างยั่งยืน ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา Booking.com ได้เพิ่มการพัฒนาใหม่ ๆ และฟีเจอร์ใหม่เข้ามาในโปรแกรม ได้แก่

  • ในปัจจุบันมีที่พักมากกว่า 500,000 แห่งทั่วโลกได้รับป้ายสัญลักษณ์ “ที่พักสำหรับเดินทางอย่างยั่งยืน” บน Booking.com เพื่อรับรองและยกย่องแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ยึดหลักความยั่งยืนของแต่ละที่พัก
  • ผู้เดินทางสามารถกรองผลการค้นหารถเช่าได้อย่างง่ายดาย เพื่อค้นหารถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริดสำหรับการเดินทางครั้งต่อไปได้อย่างรวดเร็ว ครอบคลุม 110 ประเทศ
  • ผู้เดินทางสามารถค้นหา และจองตัวเลือกแท็กซี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้แล้วใน 95 เมืองทั่วโลก โดยสามารถตรวจสอบได้จากป้ายสัญลักษณ์ 100% Electric’ ในหน้าผลการค้นหา
  • เร็ว ๆ นี้ ผู้เดินทางจะได้เห็นการติดแท็กสำหรับตัวเลือกไฟล์ทบิน ที่จะแสดงให้ผู้เดินทางเห็นถึงข้อมูลเปรียบเทียบ ว่าเส้นทางการบินหรือสายการบินไหนนำเสนอตัวเลือกที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่า เพื่อแสดงให้เห็นข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากเที่ยวบินอย่างโปร่งใส และสามารถเปรียบเทียบปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของแต่ละตัวเลือกได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น
  • ผู้เดินทางสามารถจองบัตรโดยสารของบริการขนส่งสาธารณะ ได้ใน 47 เมืองทั่วโลก รวมถึงในกรุงเทพฯหลังจากจองที่พักเรียบร้อยแล้ว

นางสาวมิเชล เกา ผู้จัดการประจำภูมิภาคประจำกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงของ Booking.com กล่าวว่า “ท่ามกลางความวิตกกังวลในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับความไม่แน่นอนทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเดินทางท่องเที่ยวสามารถเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนไปสู่อนาคตที่ดีกว่า เราได้รับฟังความคิดเห็น สังเกตความเปลี่ยนแปลง และร่วมมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก และสำรวจทุกแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางเพื่อสนับสนุนผู้เดินทาง ซึ่งสามารถสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมได้ในเวลาเดียวกัน การเดินทางอย่างยั่งยืนถือเป็นการลงทุนเพื่อโลก เราจึงมุ่งมั่นผลักดันเพื่อทำให้การเดินทางอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะอยู่จุดใดก็ตามบนเส้นทางนี้”

Comments

comments