อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย เดินหน้าจัดงาน โพรแพ็ค เอเชีย 2023 (ProPak Asia 2023) 14 – 17 มิถุนายน 2566 ณ ไบเทค บางนา ย้ำชัดมั่นใจพร้อมต้อนรับผู้ประกอบการกว่า 42,000 ราย รวมกว่า 800 แบรนด์ เข้า ร่วมงาน พร้อมปรับโฉมการจัดงาน 8 โซน ฉลองครบรอบ 30 ปี เน้นย้ำการเป็นต้นน้ำซอฟท์พาวเวอร์ ด้านอาหารให้เวทีอาหารไทยไปสู่เวทีโลก ผ่านการใช้เทคโนโยลีนวัตกรรมแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ ขับเคลื่อนธุรกิจผ่านบีซีจี โมเดล เพื่อความยั่งยืน
นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ผู้จัดงานโพรแพ็ค เอเชีย 2023 กล่าวว่า ในปีนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ ProPak Asia เดินทางมาถึงปีที่ 30 นับเป็นย่างก้าวที่ ท้าทายและมีอะไรใหม่ๆ ให้น่าติดตามกันตลอดทุกปี งาน ProPak เรามุ่งเน้นการเป็น Connector ที่ไม่ใช่เพียง Exhibition Platform ในการเชื่อมต่อตั้งแต่ต้นน้ำ ทั้งเรื่องของ Processing (กระบวนการผลิต) และ Packaging (บรรจุภัณฑ์) ไปจนถึงปลายน้ำที่เป็นผู้ประกอบการ แต่ในปีนี้สิ่งที่พิเศษคือเรามองเห็นการเปลี่ยนไปของตลาดที่มีเรื่องเทคโนโลยีล้ำสมัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์จากกลุ่ม M-SMEs ไปจนถึงกลุ่มเกษตรกร ที่สามารถพัฒนาในเรื่องของ Packaging จะช่วยเป็นส่วนเสริมคุณภาพของสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ โดยแรงสนับสนุนจากส่วนนี้เอง จะสามารถช่วยผลักดันกลุ่มชุมชน สร้างสินค้าเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมได้ โดยในปีนี้เอง เรามีความร่วมมือกับทาง ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นการนำร่องเฟ้นหาผลิตภัณฑ์ชุมชนมาสู่ตลาดโลก ไม่เพียงแค่นั้น ผู้ประกอบการรายใหญ่ จะได้พบกับ Tech Solutions ในการช่วยตอบโจทย์ในมุมธุรกิจ เรียกว่ามางานเดียวครบจบ
นางสาวรุ้งเพชร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้น ภายในงานปีนี้ เรายังเน้นธีมหลัก เรื่องของ 4S อาทิ Supple Chain, Safety, Security และ Sustainability ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งทางตรงและทางอ้อม ผ่าน 8 โซนหลักของเรา ได้แก่ 1) Processing Tech Asia 2) Packaging Tech Asia 3) Drink Tech Asia 4) Pharma Tech Asia 5) Lab&Test Asia 6) Packaging Solution Asia 7) Coding, Marking&Labelling Asia และ 8) Coldchain, Logistics, Warehousing&Factory Asia โดยไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้ในปีนี้ ได้แก่
- Investment Clinic ที่เป็นความร่วมมือกับทาง BOI เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ, SMEs, สตาร์ทอัพหน้าใหม่ ได้มาปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินในแง่การลงทุน ในการวางแผนการขยายธุรกิจ Scale up และพัฒนาธุรกิจ
- Post-Harvest Tech Zone ด้วยความร่วมมือกับ ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จะมาโชว์การประยุกต์ใช้เทคนิคต่างๆ ในการจัดเก็บผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร รวมถึงกระบวนการตลอด ไม่ว่าจะเป็น การเก็บ แพคเกจจิ้ง การจำหน่าย ฯลฯ
- Lab & Test Theatre ความร่วมมือกับ INNOLAB เชิญให้ทุกคนเข้ามาร่วมชม แล็บเทคโนโลยีสำหรับอาหาร เครื่องดื่ม ยา รวมไปถึงเพอซันแนลแคร์
ฝั่งหน่วยงานภาครัฐ ได้รับเกียรติจาก ดร.พัชทรา มณีสินธ์ รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เราเป็นพันธมิตรที่ร่วมสนับสนุนการจัดงาน ProPak Asia มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ได้ร่วมนำผลงานวิจัย และงานบริการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาแสดงในธีม TISTR Total Solutions เสริมแกร่งให้ผู้ประกอบการด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างครบวงจร ก้าวเดินในอุตสาหกรรมได้อย่างเข้มแข็ง มีมาตรฐานสากล แข่งขันได้ในตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งโชว์ผลงานวิจัยและบริการอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น ด้านเกษตร อาหาร สุขภาพและการแพทย์ บรรจุภัณฑ์ และวิจัยและพัฒนาเพื่อนำวัสดุแปรกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้ วว. ยังให้บริการทดสอบบรรจุภัณฑ์ เช่น วัสดุบรรจุภัณฑ์ (กระดาษ พลาสติก โลหะ) Biodegradable Material Test บรรจุภัณฑ์ขนส่ง บรรจุภัณฑ์ขายปลีก บรรจุภัณฑ์สินค้าอันตราย Performance Test ตลอดจนการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เช่น ออกแบบฉลาก และบรรจุภัณฑ์
ด้านฝั่งผู้ประกอบการที่มาร่วมตอกย้ำการเข้าร่วมภายในงาน ProPak Asia 2023 นำโดย ดร.องอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ได้เล่าถึง เทรนด์อาหารแห่งอนาคตภายในงานแถลงข่าวครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า อาหารแห่งอนาคต จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มนุษย์จะมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้น การมีอาหารมารองรับให้เพียงพอ ไม่เพียงแค่เรื่องจำนวนแต่ยังรวมไปถึงอาหารนั้นต้องมีคุณค่าต่อสุขภาพของผู้บริโภคด้วย ซึ่งสิ่งนี้เองถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ นอกจากนั้น ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงในการทำธุรกิจอาหารของทุกที่ ซึ่งถ้าเราไม่ขยับตัวอาจจะถูก Disruption ได้ในอนาคต จากจุดนี้เอง ทางซันสวีทมีการพัฒนาในแง่ R&D (การทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์) แสวงหาสิ่งใหม่ๆ โดยใช้ความรู้ เทคโนโลยี และทรานสฟอร์มเมชั่น นอกจากนั้น ต้องปรับไปถึง Innovation Food Products ให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการในตลาดโลก ถือว่าเพิ่มสูงขึ้น จากเหตุการณ์ความมั่นคงต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสทางการตลาดในการส่งออก โดยในส่วนของบริษัทเองเติบโตขึ้นจากเดิมเติบโตถึงร้อยละ 30 โดยผลิตภัณฑ์ที่สามารถเก็บได้นานขึ้นในรูปแบบบรรจุกระป๋อง กลับมามีความต้องการสูงขึ้น
นางสาวกนกนภัส เพชรเรียง ผู้จัดการทั่วไป สำนักกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ กลุ่มธุรกิจเกษตรภัณฑ์ บริษัท เกษตรภัณฑ์อุตสาหกรรม จำกัด กล่าวถึงการใช้ BCG Model ช่วยพัฒนาใน 3 มิติ ด้วยว่า BCG Model ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากพื้นฐานที่แข็งแรงของประเทศไทย และนำมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน พัฒนาต่อยอดเข้าสู่ห่วงโซ่ของการผลิตสินค้าและบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 4 สาขาอุตสาหกรรม ที่เป็น S-Curve ที่มีการเติบโตในอนาคต ในมุมมองของผู้ประกอบการ คิดว่านี่เป็นการพึงพาตัวเองและสร้างการพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะเป็นการใช้จุดแข็งของบ้านเรา ได้แก่ 1. ความหลากหลายทางชีวภาพ 2. ความหลากหลายทางวัฒนธรรม บวกกับองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อยกระดับให้ผลิตภัณฑ์ดียิ่งขึ้น สิ่งที่จะได้รับลำดับแรกคือ เราจะมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันในเชิงนวัตกรรม นวัตกรรมสร้างการเปลี่ยนแปลง เมื่อการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ศักยภาพที่มากยิ่งขึ้น รายได้ก็เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายรวมถึงเป้าหมายการพัฒนาแห่งความยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติอีกด้วยถ้าเราทำได้ ก็จะสามารถนำประเทศก้าวไปสู่ผู้นำในด้านต่างๆทั้ง 4อุตสาหกรรม S-Curve ได้ และไม่ว่าจะมีปัจจัยภายนอก การเปลี่ยนแปลงของสภาพอาการ การขาดแคลนในด้านพลังงาน หรือแม้กระทั่งการขาดแคลนอาหาร ถ้าเราสามารถใช้โมเดล BCG ได้ เชื่อว่าเราจะต้านปัญหาต่างๆได้
นายกรัณย์ เตชะเสน ประธานกรรมการ บริษัท เว็กซ์เซล แพ็ค จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวโน้มเทรนด์ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ว่าการเปลี่ยนแปลงลักษณะประชากรและไลฟ์สไตล์ที่เอื้อต่อการใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น รวมทั้งบรรจุภัณฑ์มีแนวโน้มจะมีฟังก์ชั่นที่เพิ่มความสะดวกสบายกับผู้ใช้งานทุกขั้นตอน ผู้บริโภคหันมามุ่งเน้นใช้ผลิตภัณฑ์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น เป็นปัจจัยที่อาจมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการเติบโตของโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์ทางเลือกอื่นๆ เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุน้อยลง นำกลับมาใช้งานใหม่ และรีไซเคิลได้ง่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า รวมไปถึงการเติบโตของอีคอมเมิร์ซและโมเดลการขายผ่านช่องทางต่างๆ ของร้านค้า เป็นปัจจัยการเติบโตของตลาดบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคที่สำคัญ
สอดคล้องกับความคิดเห็นจาก คุณธีรพล นิมิตรวานิช ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฎิบัติการ บริษัท เอกาโกลบอล จำกัด ที่กล่าวว่า บรรจุภัณฑ์มีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้บริโภค ต่อพฤษติกรรมการบริโภค กระบวนการในการตัดสินใจซื้อ อาทิ เป็นจุดสนใจของผู้บริโภค เตะตา และ ดึงดูดความสนใจ ในผลิตภัณฑ์ รวมถึงสร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วม บรรจุภัณฑ์สามารถเสริมสร้างความผูกผันร่วม ระหว่างผู้บริโภคกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ เป็นอย่างดี รวมถึงยังสามารถให้ข้อมูลของสินค้าประโยชน์ของสินค้าแก่ผู้บริโภค เฉกเช่น คุณลักษณะ การใช้ประโยชน์ และส่งเสริมมูลค่าของ แบรนด์ นำมาซี่งความปลอดภัย ความคงทนในสินค้า และมีอิทธิพลต่อความเข้าใจของผู้บริโภคต่อสินค้าที่ได้รับว่ามีไม่ได้รับความเสียหาย และคงสภาพตามที่ต้องการและคาดหวัง
สำหรับการจัดงาน โพรแพ็ค เอเชีย 2023 (ProPak Asia 2023) งานแสดงสินค้าและนวัตกรรมในกระบวนการผลิต แปรรูป และบรรจุภัณฑ์ ครั้งที่ 30 เตรียมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 17 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงาน Pre-Registered ได้ที่ www.propakasia.com