กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท., พล.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท.,พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 ร่วมกับทีมวิศวกรของ AIS เข้าตรวจค้นจับกุมกลุ่มขบวนการส่งข้อความสั้น (SMS) ในลักษณะลิงก์ปลอม อ้างชื่อเป็นสถาบันการเงิน หลอกดูดเงินผู้เสียหาย โดยจับกุม ผู้ต้องหากับพวก รวม 6 คน ในข้อหา
- ร่วมกัน ทำ มี ใช้ นำเข้า นำออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ตามมาตรา 6 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498
- ร่วมกันตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตตามมาตรา 11 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498
- ร่วมกันใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตอันมีลักษณะที่เป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ตามมาตรา 67(3) ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม, เป็นอั้งยี่หรือซ่องโจรตามประมวลกฎหมายอาญา
โดยเข้าทำการจับกุมกลุ่มขบวนการมิจฉาชีพในครั้งนี้ ได้กระจายกำลังเข้าควบคุมตัวผู้ต้องหาหลายจุด ได้แก่ บริเวณลานจอดรถหน้าร้านสะดวกซื้อในซอยบางแวก 33 บนถนนราชพฤกษ์ในขณะที่รถกำลังแล่นออกไปเพื่อส่งสัญญาณ ตรวจยึดรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) จำนวน 4 คัน พร้อมอุปกรณ์ 4 ชุด
จากข้อมูลพบว่าคนร้ายจะกระทำโดยนำเครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) ใส่ไว้ในรถแล้วขับออกไปยังสถานที่ต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยหากแล่นรถผ่านไปทางใดก็จะส่งสัญญาณไปยังโทรศัพท์มือถือที่อยู่บริเวณใกล้เคียง แล้วส่งข้อความสั้น (SMS) ในลักษณะลิงก์ปลอมอ้างชื่อเป็นสถาบันการเงิน หรือ หน่วยงานต่างๆเป็นต้น โดยหากประชาชนหลงเชื่อและกดลิงก์ดังกล่าว ก็จะถูกให้ติดตั้งแอพพลิเคชั่นควบคุมเครื่องระยะไกล โดยสามารถโอนเงินจากบัญชีธนาคารที่เครื่องโทรศัพท์นั้นติดตั้งแอพพลิเคชั่นประเภท Mobile Banking ทั้งนี้พบข้อมูลจากระบบการรับแจ้งความออนไลน์ในห้วงเดือน เม.ย.–พ.ค.2566 ที่มีการแจ้งความออนไลน์ รวมค่าเสียหาย124,896,689.84 บาท
นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “จากกรณีปัญหามิจฉาชีพละเมิดการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชน ได้สร้างความเดือดร้อน รำคาญ ไปจนถึงความเสียหายต่อทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งปัจจุบันเกิดเพิ่มขึ้นตามลำดับ ดังนั้นในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัล ที่มีเป้าหมายสูงสุดคือ การปกป้องข้อมูลและการใช้งานระบบสื่อสารของลูกค้า ที่ผ่านมานอกเหนือจากการพัฒนาดิจิทัลเซอร์วิสเพื่อช่วยป้องกันภัยไซเบอร์ อาทิ AIS Secure Net , Google Family Link ที่สามารถดูแลการใช้งานโทรศัพท์มือถือให้อยู่บนความปลอดภัยจากสแปม,ฟิชชิ่ง,ไวรัสแล้ว เรายังได้ร่วมทำงานกับภาครัฐ ผ่านบริการสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2565 ที่ผ่านมา”
“อย่างไรก็ตาม อย่างที่ทราบกันว่า มิจฉาชีพเองก็มี การพลิกแพลงรูปแบบการละเมิดเพิ่มเติมขึ้น อย่างกรณี การส่ง SMS จากเครือข่ายปลอมด้วยอุปกรณ์ผิดกฎหมายไปยังมือถือประชาชน ที่เรียกว่า False Base Station (FBS)หรือ Fake Base Station โดยใช้ชื่อผู้ส่ง (Sender name) ปลอมแปลงในนามขององค์กรต่างๆ อาทิ ธนาคาร,บริการประเภทต่างๆ เพื่อหลอกให้ประชาชนที่ได้รับข้อความหลงเชื่อว่าเป็น SMS จากหน่วยงานนั้นๆจริง และล่อลวงให้กดลิงก์, แอดไลน์ และอื่นๆ จนก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งทรัพย์สิน หรือ ข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่ง AIS ในฐานะผู้ให้บริการเครือข่าย ได้ตรวจสอบพบความผิดปกติ และทีมวิศวกร ได้ร่วมทำงานกับฝ่ายความมั่นคงอย่างเต็มกำลังมาแล้วระยะหนึ่ง ในการเฝ้าดูและติดตามพฤติกรรมของมิจฉาชีพตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านเทคโนโลยี Tracking& Monitoringจนสามารถคำนวณเส้นทางการเคลื่อนตัวอย่างละเอียดเพื่อค้นหาให้ถึงตัวแหล่งกบดานของกลุ่มนี้ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภารกิจการทลายแก๊งมิจฉาชีพกลุ่มนี้สำเร็จลงได้”
นายวรุณเทพ กล่าวต่อไปว่า “AIS มุ่งมั่นอย่างยิ่งในการเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจนี้เพราะเป็นหน้าที่หลักของเราเช่นกันในการดูแลความปลอดภัยของประชาชนที่ต้องใช้งานดิจิทัลตลอดเวลา อย่างไรก็ตามภัยจากดิจิทัล ยังคงมีอยู่รอบตัวในหลากหลายรูปแบบ ดังนั้นจึงอยากเตือนประชาชนเมื่อได้รับข้อความทั้งจาก SMS, LINE หรือ ทุกช่องทาง อยากขอให้กรุณาตรวจสอบกับเจ้าของบริการให้ชัดเจน ก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ในส่วนของ AIS เอง ก็จะยังคงเดินหน้าทำงานเพื่อร่วมกับฝ่ายความมั่นคงในการแก้ไข ป้องกัน กรณีนี้อย่างเต็มที่ รวมถึงติดตาม เฝ้าระวังกรณีอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตต่อไป”