ผลงานวิจัยอิสระที่สนับสนุนโดยอาลีบาบา กรุ๊ป พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ (73%) ต้องการดำเนินชีวิตด้วยแนวทางที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย (87%) แต่ต้องพบอุปสรรคสำคัญด้านค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไปและความไม่สะดวกด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าที่เน้นความยั่งยืน
“The Sustainability Trends Report 2023” เป็นงานวิจัยที่สำรวจผู้บริโภคมากกว่า 14,000 รายจากตลาด 14 แห่งในเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง การวิจัยพบว่าความสะดวกด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าที่เน้นความยั่งยืน (53%) และค่าใช้จ่ายที่รับได้ (33%) มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคให้ดำเนินไปตามวิถีความยั่งยืน และธุรกิจต่าง ๆ ก็สามารถช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ 38% ผู้ของบริโภคเชื่อว่าความสนใจส่วนบุคคลเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดความสนใจเรื่องความ “ยั่งยืน” ของสินค้าที่ธุรกิจต่าง ๆ นำเสนอ มีเพียง 15% ที่เชื่อคำกล่าวอ้างทั้งหมดที่เกี่ยวกับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ ดังนั้นธุรกิจต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้ผู้บริโภคไว้วางใจ โดยเฉพาะผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในตลาดยุโรป
นายหลิว เว่ย หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ด้าน ESG ของอาลีบาบา กรุ๊ป กล่าวว่า “ในฐานะที่อาลีบาบาเป็นบริษัทด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม เรามีจุดยืนที่เป็นเอกลักษณ์และให้คำมั่นที่จะจัดการความท้าทายที่เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างสิ่งที่พูดกับสิ่งที่ทำได้จริงในทางปฏิบัติ (say-do gap) ด้วยการลดอุปสรรคที่จะกระทบต่อความสะดวกด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าที่เน้นความยั่งยืน เพิ่มทางเลือกด้านความยั่งยืนให้มากขึ้น และปรับปรุงซัพพลายเชนต่าง ๆ เพื่อให้คงราคาที่สมเหตุสมผลให้กับผู้บริโภค เพราะการบริโภคอย่างยั่งยืนมีความสำคัญมากต่อสิ่งแวดล้อม และในขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสที่ยิ่งใหญ่ให้ธุรกิจ รวมถึงเศรษฐกิจดิจิทัลในภาพรวม เพื่อการพัฒนาที่ยืนยาวไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนให้กับทุกฝ่าย”
อาลีบาบาเผยแพร่รายงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ฉบับล่าสุดเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม และเป็นครั้งแรกที่เปิดเผยความคืบหน้าของกระบวนการลดคาร์บอนใน Scope 3+ นับจากเริ่มบุกเบิกแนวคิดนี้ในปี 2564 เพื่อขยายคำมั่นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ครอบคลุมระบบนิเวศทั้งหมดของบริษัทฯ
รายงาน ESG ล่าสุดนี้ยังเผยให้เห็นข้อมูลจากแพลตฟอร์มบัญชีแยกประเภทคาร์บอนของอาลีบาบาที่ระบุว่ามีผู้บริโภค 187 ล้านคนเข้าร่วมกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในช่วง 12 เดือน (นับถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566) โดยมีสินค้า 1.91 ล้านรายการจากแบรนด์ 409 แห่งที่นำเสนอบน Tmall และ Taobao ผ่านโปรแกรมสินค้าคาร์บอนต่ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2566)
ผู้บริโภคที่อยู่ในตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ยินดีเรียนรู้วิธีซื้อของออนไลน์ด้วยวิถียั่งยืนมากขึ้น
ผู้บริโภคทั่วโลกยอมรับการใช้ชีวิตด้วยวิถีความยั่งยืนมากขึ้น แต่ในแต่ละภูมิภาคต่างมีระดับการมีส่วนร่วม วิถีการดำเนินชีวิต และการจับจ่ายซื้อของที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนแตกต่างกัน
ผลงานวิจัยพบว่าผู้บริโภคประมาณสามในสี่ (76%) ยินดีรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการที่จะช่วยให้มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยมีสัดส่วนสูงสุดในฟิลิปปินส์ (93%) ตามด้วยอินโดนีเซีย (91%) และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (90%)
ผู้บริโภคมากกว่าครึ่ง (58%) กล่าวว่าพวกเขาได้มีส่วนร่วมด้านความยั่งยืนแล้ว และรู้สึกว่าตนกำลังทำสิ่งที่ดีและถูกต้อง นอกจากนี้ยังเปิดกว้างเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติทางออนไลน์เพื่อความยั่งยืน โดยเฉลี่ย 73% กล่าวว่ายินดีรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น
ผู้ตอบแบบสำรวจที่อยู่ในตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย (88%) เต็มใจเรียนรู้วิธีการที่จะช่วยให้สามารถซื้อสินค้าออนไลน์ที่เน้นเรื่องความยั่งยืนได้มากขึ้น มากกว่าตลาดที่พัฒนาแล้วในเอเชีย (66%) และในยุโรป (66%) นอกจากนี้ พฤติกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์ที่เน้นเรื่องความยั่งยืนยังแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค เช่น ตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย (47%) มีแนวโน้มเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนมากกว่า ในขณะที่ในยุโรป (47%) มีแนวโน้มเลือกการรีไซเคิลมากกว่า
ผู้บริโภคครึ่งหนึ่งจะเลือกซื้อสินค้าที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนก็ต่อเมื่อมีความสะดวกด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าประเภทนี้ และหนึ่งในสามเชื่อว่าสินค้าประเภทนี้มีราคาแพงเกินไป
อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคไม่ซื้อสินค้าที่ให้ความสำคัญด้านความยั่งยืนเพิ่มขึ้น คือ ขาดข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับความยั่งยืนของสินค้า (48%) และราคาของสินค้าที่เน้นความยั่งยืนมีราคาสูงเกินไป (45%)
ผู้บริโภคที่ตอบแบบสำรวจมากกว่าครึ่ง (53%) กล่าวว่าพวกเขาจะเลือกให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนก็ต่อเมื่อพวกมีความสะดวกด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้ากลุ่มนี้ โดยในกลุ่มคำตอบนี้ผู้บริโภคในตลาดเอเชียมีสัดส่วนสูง (61%) เมื่อเทียบกับตลาดยุโรปที่น้อยกว่า (36%) นอกจากนี้หนึ่งในสามของผู้ตอบแบบสำรวจ (33%) กล่าวว่า การใช้ชีวิตวิถียั่งยืนนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป โดยผู้ตอบแบบสำรวจไทยนำมาในกลุ่มนี้ (84%) ตามด้วยสหรัฐอาหรับเอมิเตรส์ (41%) และสเปน (37%)
รายงานระบุว่า ท่ามกลางความรู้สึกของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ธุรกิจจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้บริโภคเลือกแนวทางด้านความยั่งยืนได้อย่างถูกต้องได้ง่ายขึ้น ผู้บริโภคกล่าวว่า สิ่งที่ธุรกิจสามารถทำได้เพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้ใช้สินค้าและบริการที่เน้นความยั่งยืนคือ ทำให้สินค้าที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมีราคาที่ผู้บริโภครับได้มากขึ้น (61%) ใช้พลาสติกและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ได้ครั้งเดียวให้น้อยลง (55%) และให้ทางเลือกสินค้าและบริการที่เน้นความยั่งยืนมากขึ้น (47%)
รายงานยังระบุว่า ธุรกิจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อทำให้ผู้บริโภคเชื่อว่าสินค้าของตนมีความยั่งยืนจริงตามที่ได้กล่าวอ้างไว้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในตลาดยุโรป ทั้งนี้ 23% ของผู้บริโภคกล่าวว่าพวกเขา “ไม่เชื่อถือนัก” กับคำกล่าวอ้างของธุรกิจต่าง ๆ ว่าสินค้านั้น ๆ ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน โดยประเทศที่มีความเห็นนี้ในสัดส่วนสูงสุดคือ ฝรั่งเศส (31%) สเปน (31%) เยอรมนี (30%) และสหราชอาณาจักร (30%)
ผู้บริโภคเกือบสองในห้า (38%) คลางแคลงใจว่าอะไรคือแรงจูงใจที่ซ่อนอยู่ในความ “ยั่งยืน” ของสินค้าที่ธุรกิจกล่าวอ้าง โดยรายงานพบว่าตลาดสามอันดับแรกที่มีสัดส่วนในข้อนี้สูงสุด คือ ไทย (56%) ฝรั่งเศส (48%) และสิงคโปร์ (47%) ซึ่งระบุว่า สินค้าที่กล่าวอ้างว่าให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เป็นเพียงวิธีการที่บริษัทต่าง ๆ ใช้ เพื่อให้ขายสินค้าได้ในราคาสูงขึ้น
นายหลิว เว่ย เสริมว่า “เราเชื่อว่าบริษัทต่าง ๆ จะได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคมากขึ้น ด้วยการจัดการกับช่องว่างของสิ่งที่พูดกับสิ่งที่ทำได้จริงในทางปฏิบัติ เช่น โปร่งใสมากขึ้น รับผิดชอบต่อการ กล่าวอ้างด้านความยั่งยืนของตน และใช้ข้อมูลเป็นฐานสนับสนุนแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืน ซึ่งจะนำมาซึ่งความใส่ใจและความเข้าใจผู้บริโภคมากขึ้น ตลอดเส้นทางสู่ความยั่งยืนร่วมกันของเรา”