หลายปีที่ผ่านมา วิธียืนยันตัวตนและเข้าถึงบริการต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วใน ในอดีต การยืนยันตัวตนจำเป็นต้องมีเอกสารที่จับต้องได้ เช่น การแสดงใบขับขี่เมื่อซื้อสินค้าหรือบริการที่จำกัดอายุ แต่การใช้สมาร์ทโฟนและเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือที่เพิ่มมากขึ้น ได้ทำให้เกิดการยืนยันตัวตนในรูปแบบดิจิทัลขึ้น ซึ่งแม้จะมาพร้อมกับความสะดวกสบาย ความปลอดภัยและความยืดหยุ่น แต่ความซับซ้อนอื่นๆ เช่น ความพร้อมด้าน IT การพิสูจน์ตัวตน และข้อกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน 

แล้วโลกพร้อมหรือยังที่จะใช้การยืนยันตัวตนแบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งในที่สุด ก็จะแทนที่การยืนยันตัวตนด้วยเอกสารแบบดั้งเดิม

คำตอบไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลไม่มีความเท่าเทียมกันตั้งแต่แรก ไม่ใช่ทุกองค์กร หรือทุกคนจะสามารถเข้าถึงทรัพยากร ทักษะ หรือโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จได้อย่างเท่าเทียม ด้วยเหตุนี้ เราคาดว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ตลาดสำหรับการยืนยันตัวตนด้วยเอกสารจะเล็กลงอย่างต่อเนื่อง และการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลจะกินพื้นที่เพื่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจุบันคนเริ่มใช้สมาร์ทโฟนมากกว่าเดิม ทั้งเพื่อใช้จ่ายเงินออนไลน์ เข้าถึงบริการด้านดิจิทัล หรือแม้กระทั่งใช้เปิดประตูเพื่อเข้าออก บริษัทที่ปรึกษาอย่าง Gartner ระบุว่า ในปี 2022 องค์กรกว่า 70% ที่ใช้การยืนยันตัวตนด้วยข้อมูลทางชีวภาพ (biometric) ในการเข้าออกสถานที่ทำงาน จะดำเนินการผ่านแอปในสมาร์ทโฟนแทน ไม่ว่าอุปกรณ์เครื่องอ่านปลายทางจะเป็นอะไร และจากตัวเลขนี้ในปี 2018 ที่น้อยกว่า 5% ก็แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้ว ก็ทำให้การยืนยันตัวตนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลมาถึงจุดเปลี่ยน ทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่เติบโตควบคู่ไปกับความต้องการในการให้บริการธุรกรรมแบบไร้สัมผัส สืบเนื่องมาจากการเกิดโรคระบาด และการใช้แอปกระเป๋าเงินต่างๆ ที่เก็บข้อมูลตัวตนทางดิจิทัลในมือถือ ที่ขยายตัวมากขึ้นเช่นกัน

การควบคุมการเข้า-ออกอาคาร ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยมือถือ

โทรศัพท์มือถือกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ เพราะนอกจากคุณสมบัติพื้นฐานแล้ว ยังมีประโยชน์ที่ล้ำเลิศและความสะดวกสบายต่างๆ และผู้คนก็พกพามือถือตลอดเวลา ดังนั้น การใช้งานเพื่อเข้าออกอาคารสถานที่ และเคลื่อนที่ไปยังบริเวณต่างๆ ในอาคารจึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผล

นอกจากนี้ ระบบนิเวศที่เชื่อถือได้ของอุปกรณ์ควบคุมการเข้า-ออก, แอปพลิเคชันต่างๆ และการยืนยันตัวตนด้วยมือถือที่เชื่อมต่อกับคลาวด์นั้นกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้การใช้มือถือกับระบบควบคุมการเข้า-ออก เป็นเรื่องง่ายกว่าที่เคย และยังสามารถเข้าถึงบริการใหม่ๆ ที่มีมากมายได้อย่างปลอดภัย โดยผ่านมือถือและอุปกรณ์อัจฉริยะอื่นๆ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ผู้ใช้บริการมีการใช้งานที่หลากหลายและแตกต่างกัน

การใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือเพื่อยืนยันตัวตนในการเข้าออกสถานที่ เข้าถึงระบบเครือข่ายและบริการ และอื่นๆ อีกมากมาย ได้ช่วยให้เกิดความสะดวกสบาย เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับความปลอดภัย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ลูกค้าและคู่ค้าต่างๆ ทั่วโลกจะหันมาใช้ระบบควบคุมการเข้า-ออกด้วยมือถือมากขึ้น โดยในปี 2023 กว่า 81% ของผู้ตอบแบบสอบถามในงานวิจัย 2023 State of Security and Identity ของ HID ผู้ให้บริการโซลูชันการระบุตัวตนระดับโลก ได้บอกว่า ในปีนี้ กำลังใช้โมเดลการทำงานแบบไฮบริด ซึ่งหลายบริษัทก็กำลังใช้ระบบการยืนยันตัวตน “ในรูปแบบการบริการ” แทนที่จะใช้ระบบที่ติดตั้งอยู่ภายในองค์กร

ทำไมการเข้า-ออกด้วยมือถือจะมีการใช้อย่างแพร่หลายในอนาคต?

การใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือสมาร์ทวอตช์ เพื่อเข้าออกอาคาร หรือพื้นที่ที่จำกัดนั้น ไม่เพียงแต่สะดวกกับผู้ใช้งาน แต่ผู้จัดการอาคารและพนักงานรักษาความปลอดภัย ยังสามารถส่งมอบและเพิกถอนบัตรในโทรศัพท์มือถือ (Mobile ID) ของผู้ใช้งานได้ทันทีผ่านเครือข่ายสัญญาณ ทั้งยังช่วยลดการสัมผัส และปรับปรุงการจัดการการเข้า-ออกผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลบนคลาวด์ได้ด้วย

ด้วยเหตุนี้ บริษัทต่างๆ จึงใช้ระบบการเข้า-ออกด้วยมือถือเป็นอีกหนึ่งกลไกในการยืนยันตัวตนสำหรับพนักงานและบุคคลภายนอกมากขึ้นเรื่อยๆ การเข้า-ออกผ่านมือถือนั้น ช่วยลดการพึ่งพาการใช้บัตรหรือป้ายชื่อพนักงาน และรองรับกับโปรโตคอลต่างๆ ด้านความปลอดภัย และยังเพิ่มความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่งนอกเหนือจากการเข้ารหัสผ่านบัตร ทำให้การควบคุมการเข้า-ออกด้วยมือถือ ปลอดภัยมากกว่าระบบการเข้า-ออกแบบดั้งเดิม

อีกหนึ่งคุณสมบัติของการเข้า-ออกด้วยมือถือที่มีการกล่าวถึงมากขึ้น คือการใช้งานได้หลากหลาย หรือการที่ผลิตภัณฑ์ หรือโซลูชันเดียวสามารถใช้งานได้หลายอย่าง ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบปฏิบัติการ แต่ยังช่วยลดการใช้บัตรพลาสติกและโอกาสที่ผู้ใช้งานทำบัตรหาย จึงส่งผลดีในเรื่องความยั่งยืนและความปลอดภัย หนึ่งตัวอย่างที่ดี คือ ในธุรกิจการศึกษาระดับอุดมศึกษานั้น มหาวิทยาลัยต่างๆ กำลังใช้แนวทาง mobile-first แทนที่การใช้บัตรพลาสติก โดยใช้เบอร์โทรศัพท์ในการยืนยันตัวตน (Mobile IDs) เพื่อเปิดประตู ยืมหนังสือ ซื้ออาหาร และบริการอื่นๆ ได้

ดิจิทัลไอดี และดิจิทัลวอลเล็ต

ไม่นานมานี้เอง ที่บัตรพนักงานสามารถควบรวมเข้ากับดิจิทัลวอลเล็ตได้ ถึงแม้ว่าดิจิทัลวอลเล็ตจะใช้ทำธุรกรรมการชำระเงินได้มานานแล้ว แต่ปัจจุบันดิจิทัลวอลเล็ตสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้นมาก ไม่ว่าจะเป็นการเก็บใบสั่งยา เอกสารการเดินทาง ใบขับขี่ บัตรประชาชน ข้อมูลประกันภัย และบัตรพนักงาน การเก็บบัตรพนักงานในดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้พนักงานสามารถเข้าออกสำนักงาน,ลิฟต์, ช่องทางเข้าที่มีแกนหมุน เครื่องพิมพ์มัลติฟังก์ชัน และอื่นๆ ได้อีกมากมายเพียงใช้สมาร์ทโฟน หรือสมาร์ทวอตช์ โดยบัตรพนักงานในดิจิทัลวอลเล็ตที่ถูกเชื่อมเข้ากับระบบควบคุมการเข้า-ออกนั้น ง่ายในการจัดการ ส่งมอบ และมีความปลอดภัยสูงอีกด้วย

การเปิดใช้งานก็ทำได้ง่าย พนักงานสามารถจัดการบัตรในดิจิทัลวอลเล็ตที่ถูกเชื่อมเข้ากับระบบควบคุมการเข้า-ออกของบริษัทได้ โดยผ่านฮาร์ดแวร์ของบริษัทผู้ให้บริการ และการจัดการโดยพนักงานภายในองค์กร  ดังนั้นจึงสามารถเริ่มใช้งานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

บัตรพนักงานในดิจิทัลวอลเล็ตมีความเป็นส่วนตัวและปลอดภัย บัตรในวอลเล็ตจะถูกเก็บไว้ในมือถือของผู้ใช้งาน ทำให้การทำธุรกรรมต่างๆ มีความปลอดภัยเต็มที่ ในขณะเดียวกัน ข้อมูลของผู้ใช้งานก็ถูกจัดเก็บไว้เป็นส่วนตัว เพราะไม่มีใครรู้ว่าพนักงานเข้า-ออกสถานที่ใดบ้าง

แต่ยิ่งการยืนยันตัวตนอย่างเป็นทางการอยู่ในรูปแบบดิจิทัลมากเท่าไหร่ โซลูชันก็ต้องซับซ้อนมากเท่านั้นเพื่อให้สามารถปกป้องข้อมูลส่วนตัวและป้องกันการใช้ข้อมูลในทางที่ผิดได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือต้องสร้างโปรแกรมยืนยันตัวตนที่ทันสมัย ที่จัดการด้านความปลอดภัยอยู่บนคลาวด์ และรองรับการเพิ่มขีดความสามารถได้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ระบบการยืนยันตัวตนแบบดิจิทัลต้องสอดคล้องตามกฎหมาย ข้อบังคับและมาตรฐานในอุตสาหกรรมที่เป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาคและระดับโลกด้วย ตัวอย่างเช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ GDPR

นอกจากในองค์กรต่างๆ แล้ว การยืนยันตัวตนและดิจิทัลวอลเล็ตยังใช้อย่างแพร่หลายในภาคการศึกษา โดยมหาวิทยาลัยและโรงเรียนต่างๆ ได้ให้นักเรียนและพนักงานสามารถเพิ่มไอดี หรือบัตรเข้าไปในดิจิทัลวอลเล็ตหรือมือถือได้ เพื่อให้สามารถเข้า-ออกอาคาร และซื้ออาหารได้

การเข้า-ออกอาคารด้วยมือถือจะเป็นอย่างไรต่อไป?

เมื่อมีการใช้ระบบเข้า-ออกด้วยมือถือมากขึ้น ผู้ที่จะได้สัมผัสกับความสะดวกสบายของเทคโนโลยีนี้ก็มีมากขึ้นด้วย การเพิ่มบัตรพนักงานเข้าไปในดิจิทัลวอลเล็ตได้นั้น ช่วยให้มั่นใจเรื่องความปลอดภัย และทำให้การใช้งานราบรื่นมากขึ้นสำหรับผู้ใช้อาคารและผู้เช่า

นอกจากนี้ ยังมีแง่มุมด้านความยั่งยืน การใช้ระบบการเข้า-ออกผ่านมือถือและการยืนยันตัวตน ได้ช่วยลดการใช้บัตรพลาสติก จึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่มาจากวัฏจักรของพลาสติกได้ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อระบบควบคุมการเข้า-ออกถูกเชื่อมเข้ากับแพลตฟอร์มการบริหารอาคารแล้ว จะทำให้สามารถปรับเปลี่ยนทรัพยากรในอาคารได้อย่างต่อเนื่องตามอัตราการเข้าพักอาศัย ดังนั้นระบบควบคุมการเข้า-ออกที่ออกแบบมาโดยคำนึงถึงความยั่งยืนตั้งแต่ต้นจึงสามารถสร้างความโดดเด่นได้

ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมระบบควบคุมการเข้า-ออก มีความต้องการโซลูชันที่ยั่งยืนมากขึ้น ล่าสุด ได้มีการเปิดตัวบัตรเข้า-ออกอาคารที่มีความปลอดภัย ที่ทำมาจากแหล่งไม้ไผ่ที่ยั่งยืน เป็นการส่งเสริมห่วงโซ่มูลค่าให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในกรณีที่การใช้บัตรเข้า-ออกยังมีความจำเป็น

สุดท้ายนี้ อนาคตของการยืนยันตัวตนด้วยมือถือจะขึ้นอยู่กับการเปิดรับอย่างกว้างขวางและความเชื่อมั่นที่อยู่บนพื้นฐานของระเบียบข้อบังคับ รัฐบาล หน่วยงานภาคเอกชน และพลเมืองจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างระบบนิเวศที่เข้มแข็งที่จะสนับสนุนการทำงานร่วมกัน ความปลอดภัย และการยอมรับความแตกต่างได้

นอกจากนี้ การรณรงค์เพื่อสร้างการรับรู้ของสาธารณชน และการจัดตั้งโครงการศึกษานำร่องก็มีความสำคัญมากในการแนะนำประโยชน์ของการยืนยันตัวตนผ่านมือถือ รวมทั้งจัดการกับข้อกังวลต่างๆ และทำให้การยอมรับเกิดขึ้นอย่างเป็นวงกว้างในหมู่ประชาชน

Sanjit Bardhan รองประธานและผู้อำนวยการแผนก Mobile ของบริษัท HID

 

Comments

comments