เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้า เซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) หรือ ‘STT GDC Thailand‘ ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ลงนามในบันทึกความเข้าใจเชิงกลยุทธ์ (MOU) ร่วมกับ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘B.Grimm Power’ ผู้ผลิตไฟฟ้าอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศไทย เพื่อศึกษา ออกแบบและร่วมกันพัฒนาโซลูชันการผลิตพลังงานคาร์บอนต่ำสำหรับอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์

ภายใต้ความร่วมมือนี้ เป็นการผนึกความแข็งแกร่งของทั้ง 2 บริษัท โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการใช้พลังงานอย่างรับผิดชอบและสำรวจแหล่งพลังงานไฟฟ้าทางเลือก นอกจากนี้ยังมุ่งให้ความสำคัญการบูรณาการแหล่งพลังงานหมุนเวียนหรือแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำที่เป็นไปได้  โครงการความร่วมมือนี้ยังมีศักยภาพสำคัญช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศไทยและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถานะของประเทศเพื่อเป็นศูนย์กลางดาต้าเซ็นเตอร์ที่โดดเด่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อจัดการกับความท้าทายหลักของการใช้พลังงานไฟฟ้าในปริมาณสูง ซึ่งจัดเป็นต้นทุนการดำเนินงานที่สำคัญที่สุดของดาต้าเซ็นเตอร์

ข้อมูลจาก สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศหรือ IEA เผยปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าของดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลก เมื่อปี 2565 มีปริมาณสูงถึง 240-340TWh (TeraWatt-hour, ล้านล้านหน่วยชั่วโมง) สอดคล้องกับข้อมูลจาก Statista ที่พบว่าไฮเปอร์สเกลดาต้าเซ็นเตอร์ช่วงปี 2563-2564 มีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นที่ 76.23 TWh และ 86.58 TWh ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นทิศทางการเติบโตของการใช้พลังงานไฟฟ้าในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ส่วนใหญ่มาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับ Cloud Computing, Big Data, และ Artificial Intelligence

นายศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า “พลังงานไฟฟ้าเป็นเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงยุคดิจิทัล ด้วยความร่วมมือกับบี.กริม เพาเวอร์ เราไม่เพียงจัดการกับความท้าทายของอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ที่เผชิญอยู่เท่านั้น แต่ยังจุดประกายโอกาสใหม่ ๆ ให้แก่เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่ต้องการใช้พลังงานสูง ซึ่งความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์เชิงกลยุทธ์ของประเทศไทยและระบบการเชื่อมต่อระหว่างประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นมีศักยภาพกระตุ้นการเติบโตทางดิจิทัล ความร่วมมือนี้นอกจากเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านพลังงานของอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ของประเทศไทยในภูมิภาคแล้ว ยังเตรียมความพร้อมให้กับประเทศในการนำเทคโนโลยีเอไอและแพลตฟอร์มเนื้อหามาปรับใช้ โดยความสำเร็จของโครงการนั้นมีศักยภาพดึงดูดการลงทุนสำคัญเข้าประเทศ และเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน”

STT GDC Thailand มุ่งมั่นนำศักยภาพจากเทคโนโลยีล้ำสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรที่ตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับการดำเนินงานในดาต้าเซ็นเตอร์ภายในปี 2573นายศุภรัฒศ์ กล่าวเสริม

ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บี.กริม มุ่งมั่นในการพัฒนาด้านพลังงานที่ยั่งยืนและปลอดภัยบนพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี ภายใต้กลยุทธ์หลัก Green Leap – Global and Green โดยตั้งเป้าเติบโตสู่กำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 10,000 เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) และบรรลุเป้าหมายก้าวสู่องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) การร่วมมือกับ STT GDC Thailand เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาโซลูชันด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับ Hyperscale Data Center ตอกย้ำและสนับสนุนกลยุทธ์ไปสู่ความยั่งยืนดังกล่าว นอกจากนี้ยังเป็นการรวมพลังกันระหว่างสองผู้นำธุรกิจเพื่อร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน Digital Economy ของประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสมัยใหม่”

“เราจะทำงานร่วมกับ STT GDC Thailand อย่างใกล้ชิด เพื่อศึกษาและพิจารณาแนวการการพัฒนาโซลูชันด้านพลังงาน รวมถึงการออกแบบโรงไฟฟ้าในทำเลที่เป็นยุทธศาสตร์ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในประเทศไทยและก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางดาต้าเซ็นเตอร์ของภูมิภาค ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนสำคัญและเพิ่มแหล่งผลิตพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้แก่อนาคตของประเทศชาติ” ดร.ลิงค์ กล่าวเพิ่มเติม

ความร่วมมือระหว่าง STT GDC Thailand และ B.Grimm Power สองผู้นำรายใหญ่ในอุตสาหกรรม แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการปรับเปลี่ยนประสิทธิภาพการใช้พลังงานของดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย ซึ่งหมุดหมายความสำเร็จครั้งนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงความทุ่มเทร่วมกันของผู้นำในอุตสาหกรรมเพื่อบุกเบิกโซลูชันด้านพลังงานที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้พลังงานในปริมาณสูง แต่ยังช่วยเพิ่มศักยภาพในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปเดินหน้าไปสู่การเป็นผู้นำระดับภูมิภาคด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มีทั้งนวัตกรรมและแนวปฏิบัติด้านพลังงานที่ยั่งยืน

Comments

comments