บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำระดับโลก ประกาศลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) บริษัท
ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล ในโครงการ SPACE-F ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกโครงการแรกของไทย โดยพิธีลงนามความร่วมมือจัดขึ้นด้วยแนวคิด Collaboration for the Future of Food สะท้อนถึงปณิธานของกลุ่มพันธมิตรในการร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้พร้อมเดินหน้าสู่อนาคต และร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศที่ส่งเสริมการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร พร้อมสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมอาหารที่พร้อมตอบโจทย์ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย โดยมีนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติร่วมในงาน
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง (ซ้าย) ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) นายธีรพงศ์ จันศิริ (ที่ 2 จากซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นางสาวศุภมาส อิศรภักดี (กลาง) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายวิคเตอร์ เซียห์ (ที่ 2 จากขวา) ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ (ขวา) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า “หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ อว. คือการยกระดับขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างสู่เศรษฐกิจฐานคุณค่า ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG และอุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ โดยไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกในปี 2566 กว่า 1.5 ล้านล้านบาท มีสถานประกอบการกว่า 1.36 แสนราย และก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 9.73 แสนตำแหน่ง โครงการ SPACE-F จึงเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของ อว. ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร ให้สามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งและนำนวัตกรรมมาพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล พร้อมช่วยขับเคลื่อน ประเทศไทยสู่การเป็น “ชาตินวัตกรรม” และก้าวสู่อันดับที่ 30 ของดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) ภายในปี 2573 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้”
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “NIA มีเป้าหมายในการยกระดับระบบนวัตกรรมของประเทศ โดยอุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญที่ NIA มุ่งขับเคลื่อน จากผลการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศสตาร์ทอัพ (Global Startup Ecosystem Index) โดย StartupBlink พบว่าระบบนิเวศสตาร์ทอัพของไทยมีความก้าวหน้าอย่างมาก ปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 52 ของโลก อันดับที่ 11 ของเอเชียแปซิฟิก และอันดับที่ 4 ของอาเซียน กรุงเทพฯ มีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด โดยขยับขึ้นมา 25 อันดับ สู่อันดับที่ 74 ของโลก อันดับที่ 3 ในอาเซียนในฐานะหนึ่งในเมืองชั้นนำด้านระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ”
“ซึ่งโครงการ SPACE-F จะมีส่วนช่วยส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับเทรนด์ใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ การผลิตโปรตีนทางเลือก กระบวนการผลิตอัจฉริยะ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน รวมถึงบริการอัจฉริยะด้านอาหาร ทำให้สตาร์ทอัพสามารถเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในระดับสากลได้และที่สำคัญในปีนี้ เนสท์เล่ ได้เข้าเป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์ที่จะนำความเชี่ยวชาญขององค์กรมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อโครงการ และเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพ ทั้งในไทยและจากต่างประเทศทั่วโลก สามารถมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางของนวัตกรรมอาหารในอนาคต”
นายวิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า กล่าวว่า “เนสท์เล่มีเจตนารมณ์ในการเปิดพลังแห่งอาหาร เพื่อเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อทุกคนในวันนี้ และในอนาคต เราจึงมีความยินดีที่ได้เข้าร่วมโครงการ SPACE-F เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมที่จะส่งเสริมเจตนารมณ์ของบริษัทที่วางไว้ นอกจากนี้ เราเชื่อว่าการทำงานร่วมมือกับหลาย ๆ ภาคส่วนในโครงการ SPACE-F จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของไทยสู่อนาคต ด้วยการสร้างสรรค์อาหารที่ทั้งดีต่อผู้บริโภค และดีต่อโลกของเรา สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัท เราจะทำงานร่วมกันกับพันธมิตรและผู้ประกอบการในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีรสชาติอร่อยขึ้นและดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งช่วยให้อุตสาหกรรมอาหารและประเทศไทยสามารถรับมือกับความท้าทายด้านความยั่งยืนในปัจจุบันและในอนาคต”
เนสท์เล่มีเครือข่ายศูนย์วิจัยและพัฒนา 25 แห่ง และศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ 10 แห่งทั่วโลก และได้จัดสรรงบลงทุนกว่า 1,700 ล้านสวิสฟรังก์ (หรือประมาณ 70,000 ล้านบาท) ในแต่ละปี เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้คนในทุกช่วงวัย สตาร์ตอัพจากโครงการ SPACE-F จะช่วยเสริมจุดแข็งของบริษัท และช่วยให้เนสท์เล่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภคและอุตสาหกรรมอาหารได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อนาคตของธุรกิจอาหารจะถูกพลิกโฉมโดยการนำนวัตกรรมและการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้งของผู้ประกอบการทั่วโลกมาเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารให้ก้าวหน้า ที่ไทยยูเนี่ยนเรารู้ดีว่าก่อนที่จะมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมา ย่อมเต็มไปด้วยความท้าทาย ดังนั้น การริเริ่มโครงการ SPACE-F จึงเป็นสิ่งที่เรามุ่งมั่นและตั้งใจในการสนับสนุนสตาร์ทอัพ ในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีอาหาร เพื่อช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมารองรับกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคตที่อุตสาหกรรมต้องเผชิญ เพื่อก้าวไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ตามแนวทางของไทยยูเนี่ยนที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เราจึงเตรียมระบบนิเวศและความเชี่ยวชาญ เพื่อเป็นทางลัดที่จะช่วยให้สตาร์ทอัพเติบโตและประสบผลสำเร็จ นอกจากนั้น จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมอาหาร โดยใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี สำหรับความร่วมมือกับเนสท์เล่ในครั้งนี้ไม่ใช่แค่ความร่วมมือทางธุรกิจ แต่จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกันของทั้ง 2 บริษัทในการสนับสนุนสตาร์อัพ ด้านเทคโนโลยีอาหารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ รวมถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหารผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยี พร้อมผลักดันให้เกิดมาตรฐานใหม่”
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยมหิดล มีพันธกิจขององค์กรที่จะเป็นผู้นำทางด้านการวิจัยและนวัตกรรมให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมหาวิทยาลัยมหิดลจึงมุ่งสนับสนุนการพัฒนานักศึกษาและอาจารย์ให้สามารถสร้างสรรค์แนวคิด วิธีการ สิ่งประดิษฐ์ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รวมไปถึงการนำนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเพื่อการต่อยอดและนำออกสู่เชิงพาณิชย์ ด้วยเพราะมหาวิทยาลัยมหิดลมีความพร้อมในด้านการศึกษาเชิงวิชาการ องค์ความรู้ สิ่งอำนวยความสะดวกในด้านอุปกรณ์และเครื่องมือทางงานวิจัยต่าง ๆ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ วิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ วิทยาศาสตร์การอาหาร โภชนาการ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง จึงมีความพร้อมเพื่อรองรับและช่วยส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาของผู้ประกอบการด้านอาหาร/สตาร์ทอัพในโครงการ SPACE-F ที่มุ่งเน้นสู่การพัฒนาประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารและนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตของเอเชีย”
โครงการ SPACE-F เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 โดยมีสตาร์ทอัพทั้งในประเทศและทั่วโลกเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 60 ราย และปัจจุบันได้ระดมเงินทุนไปแล้วมากกว่า 63 ล้านเหรียญสหรัฐ โครงการ SPACE-F เตรียมเปิดรับสมัครรุ่นที่ 5 ระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2567 ในโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหาร เพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีอาหารให้เติบโตและพัฒนาโมเดลธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีอาหารที่สำคัญแห่งภูมิภาคได้ต่อไป
เกี่ยวกับโครงการ SPACE-F
โครงการ SPACE-F มุ่งเน้นให้สตาร์ทอัพในธุรกิจเทคโนโลยีอาหารได้พัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม รองรับกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคตที่ต้องเผชิญในอุตสาหกรรม สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมจะได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ โอกาสในการเข้าถึงเครือข่ายและแหล่งเงินทุน เพื่อการเติบโตของธุรกิจ
โดยขอบเขตของ Startup ผู้เข้าร่วมโครงการ SPACE-F ครอบคลุมหมวดหมู่ดังต่อไปนี้ ด้านอาหารเพื่อสุขภาพ (health and wellness), ด้านโปรตีนทางเลือก (alternative proteins), ด้านกระบวนการผลิตอาหารอัจฉริยะ (smart manufacturing), ด้านบรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต (packaging solution), ด้านส่วนผสมและอาหารใหม่ (novel food and ingredients), ด้านวัสดุชีวภาพและสารเคมี (biomaterial and chemical), ด้านเทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร (restaurant tech), ด้านการตรวจสอบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร (food safety and quality) และ ด้านการบริการอัจฉริยะด้านอาหาร (smart food services)
นอกจากนี้ สตาร์ทอัพในโครงการ SPACE-F ทุกทีมที่เข้าร่วมโครงการยังมีโอกาสเข้าใช้สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงโอกาสในการสร้างผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดร่วมกับบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และพันธมิตรโครงการ SPACE-F ซึ่งล้วนแต่เป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ล็อตเต ไฟน์ เคมิคอล จำกัด และ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด นอกจากนี้ โครงการ SPACE-F ยังเป็นโครงการที่ไม่มีการถือหุ้นในสตาร์ทอัพที่ได้รับคัดเลือกเข้ามา สตาร์ทอัพจะมีกรรมสิทธิ์ในไอเดียและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของตนเองอย่างสมบูรณ์
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ SPACE-F สามารถเข้าชมได้ที่ https://www.space-f.co
เกี่ยวกับเนสท์เล่
เนสท์เล่เป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดของโลก ครอบคลุม 188 ประเทศทั่วโลก พนักงานเนสท์เล่กว่า 275,000 คนต่างมีพันธสัญญาต่อเจตนารมณ์ของเนสท์เล่ในการเปิดพลังแห่งอาหารเพื่อเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตที่ดี สำหรับทุกคนในวันนี้และในอนาคต (Unlocking the power of food to enhance quality of life for everyone, today and for generations to come) เนสท์เล่นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับผู้คนและสัตว์เลี้ยงครอบคลุมในทุกช่วงวัย มากกว่า 2,000 แบรนด์ ทั้งที่เป็นแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักในระดับโลก เช่น เนสกาแฟ เนสเปรสโซ ไมโล แม็กกี้ ตลอดจนแบรนด์ที่เป็นที่ชื่นชอบในท้องถิ่นอย่าง ตราหมี หรือมิเนเร่ บริษัทฯ ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยกลยุทธ์ที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆเพื่อผู้บริโภค (Good for You) และสิ่งดีๆเพื่อโลกของเรา (Good for the Planet) ปัจจุบัน เนสท์เล่ก่อตั้งมานานกว่า 150 ปี โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเวเวย์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเนสท์เล่ ประเทศไทยผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/goodfoodgoodlifebyNestleThailand
YouTube : https://www.youtube.com/user/NestleThailand
Website : https://www.nestle.co.th
เกี่ยวกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA)
ภารกิจของ NIA คือการสนับสนุนและพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศไทย ทั้งในด้านการปรับปรุง และการริเริ่ม เพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน NIA ทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม ที่จะเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศ โดยการร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เชื่อมโยงกลุ่มคนและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือ และร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ จากหลากหลายแขนง เช่น ด้านวิชาการ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม การเงิน และการลงทุน โดยเน้นที่การใช้การจัดการความรู้เพื่อให้เกิดนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อส่งเสริมการทํางานในรูปแบบเครือข่ายวิสาหกิจนวัตกรรม ซึ่งใช้นวัตกรรมเป็นเครื่องมือหลักในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตและขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูงขึ้น
เกี่ยวกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำด้านอาหารทะเลระดับโลกที่นำผลิตภัณฑ์อาหารทะเลคุณภาพสูง ดีต่อสุขภาพ อร่อย และสร้างสรรค์ มาสู่ลูกค้าทั่วโลกมากว่า 47 ปี
ปัจจุบัน ไทยยูเนี่ยนถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลชั้นนำของโลกและเป็นหนึ่งในผู้ผลิตปลาทูน่าในบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมียอดขายต่อปีเกินกว่า 155,586 ล้านบาท (4,438 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และแรงงานทั่วโลกกว่า 44,000 คน ที่ทุ่มเทให้กับการบุกเบิกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่สร้างสรรค์และยั่งยืน
ปัจจุบัน ไทยยูเนี่ยนเป็นเจ้าของแบรนด์ทั่วโลก ประกอบด้วย แบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาดโลกอย่าง Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Parmentier, Mareblu, King Oscar, Hawesta และ Rügen Fisch รวมทั้งแบรนด์ชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ ซีเล็ค ฟิชโช คิวเฟรช โมโนริ OMG MEAT เบลลอตต้า และมาร์โว่ นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบอาหารภายใต้แบรนด์ UniQ®BONE และ UniQ®DHA และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพแบรนด์ ZEAvita
ไทยยูเนี่ยนมีเป้าหมายเพื่อสร้าง “การมีสุขภาพที่ดีและท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์, Healthy Living, Healthy Oceans” โดยให้ความสำคัญกับสุขภาพผู้คน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ท้องทะเล เราภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact: UNGC) พร้อมทั้งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation: ISSF) และได้รับเกียรติเป็นประธาน SeaBOS หรือ Seafood Business for Ocean Stewardship
ไทยยูเนี่ยนได้ประกาศกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 พร้อมขยายขอบเขตการทำงานด้านความยั่งยืนให้ครอบคลุมมิติของผู้คนและสิ่งแวดล้อม ไทยยูเนี่ยนดำเนินงานด้านความยั่งยืนโดยยึดหลักกลยุทธ์ SeaChange® ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ จากผลการประเมินงานด้านความยั่งยืนปี 2565 บริษัทได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่เป็นปีที่ 10 ปีติดต่อกันและได้อันดับ 1 ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งไทยยูเนี่ยนเคยได้ในปี 2561 และปี 2562 บริษัทได้รับการจัดอันดับในดัชนี Seafood Stewardship Index (SSI) เป็นอันดับที่ 1 ในปี 2566 และปี 2566 นี้ยังได้รับการจัดอันดับอยู่ใน S&P Global Sustainability Yearbook 2023 โดยมีคะแนนอยู่ในกลุ่ม 1 เปอร์เซ็นต์ที่คะแนนสูงสุด จากกว่า 7,800 บริษัทที่เข้ารับการประเมิน นอกจากนี้ในปี 2565 ไทยยูเนี่ยนยังได้รับการคัดเลือกให้ติดอันดับดัชนี FTSE4Good Emerging Index เป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน
เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยมหิดลมีต้นกำเนิดมาจากการก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราชในปี พ.ศ. 2431 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และโรงเรียนแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราชก็เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย สถาบันแห่งนี้ยังเปิดสอนหลักสูตรในสาขาวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ รวมไปถึงหลักสูตรระดับปริญญาเอกส่วนใหญ่ในประเทศไทยด้วย ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาความเป็นเลิศดั้งเดิมในด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์เอาไว้
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2550 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันอิสระ การเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ความยืดหยุ่น และความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ของมหาวิทยาลัย และสร้างมาตรฐานการปฏิบัติกับมหาวิทยาลัยระดับโลกอื่น ๆ เป้าหมายสูงสุดคือการส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดีเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยอาศัยการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ในอันดับที่ 1 ของประเทศไทยจากการจัดอันดับสถาบันที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมากมาย