ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เป็นอีกหนึ่งหัวข้อหลักในการประชุมรัฐมนตรีดิจิทัลอาเซียน (ADGMIN) ครั้งที่ 4 ที่เพิ่งผ่านมา จัดขึ้นที่สิงคโปร์ โดยได้มีการแนะนำแนวทางชุดใหม่เกี่ยวกับการกำกับดูแลและจริยธรรมของ AI แนวทางนี้เป็นก้าวสำคัญในการรับรองว่าอาเซียนจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา AI ทั่วทั้งภูมิภาค และรับประกันว่าผู้ใช้และธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสามารถก้าวได้ทันตามโลก
แนวทางเหล่านี้สร้างกรอบการทำงานให้กับธุรกิจที่ต้องการออกแบบ พัฒนา และนำเทคโนโลยี AI มาใช้งาน ภาคธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถยึดคุณลักษณะเหล่านี้เป็นแนวทาง และเป็นเกณฑ์ในการออกแบบ AI เช่น ความสามารถในการอธิบายที่มาที่ไป ความเป็นธรรม ความคงทนของAIต่อวิธีการใช้ และความรับผิดชอบ (Explainability, Fairness, Robustness, and Accountability)
แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นประโยชน์อย่างมาก การศึกษาล่าสุดโดย Kearney บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการ ประเมินว่าการนำ AI มาใช้ในอาเซียนอาจเพิ่มมูลค่า GDP ของภูมิภาคได้ประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในเวลาเพียงห้าปี ซึ่งสามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาลสำหรับบริษัทขนาดเล็กและขนาดใหญ่ทั่วภูมิภาค แต่นี่เป็นเพียงโอกาส ไม่ใช่การรับประกัน
ในปัจจุบัน เครื่องมือหลายอย่างที่ใช้ในการสร้างและควบคุม AI อาจได้รับการพัฒนาจากข้อมูลของผู้ใช้และตัวแทนในภูมิภาคอย่างจำกัด เนื่องจากในภูมิภาค ยังไม่มีความเห็นร่วมกันที่ชัดเจนเกี่ยวกับเกณฑ์มาตรฐานและแนวปฏิบัติสำหรับการพัฒนา AI
สิ่งนี้หมายความว่าความหลากหลายที่มีอยู่ในภูมิภาคนี้อาจไม่ได้รับการพิจารณาและถ่ายทอดออกมาในการออกแบบ AI ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบในประเด็นต่าง ๆ เช่น ความไม่เป็นกลางของ AI ความโปร่งใส การกำกับดูแล และความปลอดภัย ในขณะที่การใช้งานและความสามารถในการทำงานร่วมกันของระบบ AI ที่ออกแบบโดยธุรกิจและบุคคลในท้องถิ่นก็อาจถูกจำกัดเช่นกัน
การปรับแต่ง AI ให้ตรงกับความต้องการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การพัฒนา AI ในอาเซียนต้องคำนึงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมอันหลากหลายที่มีอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่ทราบกันว่าโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large language models: LLM) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระบบ Generative AI ยังมีความไม่เป็นกลางในเรื่องของค่านิยมทางวัฒนธรรม ความเชื่อทางการเมือง และทัศนคติทางสังคม เนื่องจากได้ถูกสร้างขึ้นโดยใช้ข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่
จึงไม่น่าแปลกใจที่สิบประเทศสมาชิกในอาเซียนไม่เคยได้รับบทบาทในการพัฒนา LLM ที่เป็นที่นิยมเหล่านี้ ตัวอย่างเช่นคำว่า “LOL” ที่ในภาษาอังกฤษหมายถึง “laugh out loud” ซึ่งถูกใช้อย่างแพร่หลายจนอาจทำให้หลาย ๆ คนลืมไปว่าประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักนั้นใช้คำอื่นที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
คำที่มักใช้ในประเทศไทยคือ “5555” เพราะเลข 5 อ่านออกเสียงว่า ‘ห้า’ ในภาษาไทย ซึ่งเมื่อออกเสียงติดกันหลายๆ ครั้งจะเหมือนกับเสียงหัวเราะ ในขณะที่คนอินโดนีเซียใช้ “wkwkwk” เนื่องจากว่า ‘wk’ เป็นคำย่อของ gue ketawa ที่แปลว่า “ฉันหัวเราะ” ในภาษาบาฮาซาอินโดนีเซีย การไม่สามารถเข้าถึงภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์เหล่านี้ หมายความว่า AI ที่สร้างขึ้นจาก LLM บนพื้นฐานภาษาที่เป็นที่นิยม อาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรในภูมิภาคนี้ก็เป็นได้
เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ AI Singapore ซึ่งเป็นโครงการระดับชาติที่ริเริ่มโดยรัฐบาลสิงคโปร์ ได้เปิดตัวตระกูล LLM ที่มีชื่อว่า SEA-LION (Southeast Asian Languages In One Network) ซึ่งได้ถูกพัฒนาขึ้นมาให้เหมาะสมเพื่อรองรับภาษาและวัฒนธรรมในภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะ
การปรับ SEA-LION ให้เหมาะสมยังรวมถึงการทำให้ระบบ AI สามารถเข้าใจและประมวลผลข้อความในภาษาบาฮาซาอินโดนีเซีย บาฮาซามลายู ไทย และเวียดนามได้ และ SEA-LION จะถูกขยายเพื่อให้สามารถประมวลผลในภาษาอื่น ๆ เช่น พม่าและลาวในอนาคตอีกด้วย
การใช้ LLM ที่ออกแบบมาอย่างครอบคลุมอย่าง SEA-LION ระบบ AI ได้รับการเทรนด้วยข้อมูลที่สะท้อนถึงความเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ดีขึ้น จึงนำไปสู่ซอฟต์แวร์ AI ที่สามารถให้บริการตรงตามความต้องการของผู้ใช้และบริษัทต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ได้ดียิ่งขึ้น
ริเริ่มการกำกับดูแลการใช้ AI
แนวทางที่ ADGMIN นำมาใช้นั้นมีความสำคัญมากสำหรับภาครัฐ เนื่องจากเป็นการกำหนดทิศทางสำหรับการวางกฎระเบียบระดับชาติด้านการกำกับดูแลการใช้ AI และสนับสนุนให้มีการรับรองแนวทางที่พิจารณาตามความเสี่ยง เพื่อช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลสามารถจัดการกับช่องว่างในกรอบการทำงานที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมการพัฒนา AI อย่างมีความรับผิดชอบ
โดยรวมแล้ว การที่ประเทศในอาเซียนนำแนวทางเหล่านี้มาใช้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการนำเสนอแนวทางที่มีมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกันสำหรับ AI ทั่วทั้งภูมิภาค บริษัทต่าง ๆ ในประเทศที่อยู่ในอาเซียนสามารถมุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบความเหมาะสมของระบบ AI ที่พวกเขาต้องการจะพัฒนาโดยใช้แนวทางเหล่านี้ และมั่นใจได้ว่าจะได้รับการรับรองมาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งอาเซียน
และนี่เป็นการตอกย้ำจุดยืนของอาเซียนให้เป็นผู้ขับเคลื่อนการเติบโตสำหรับอุตสาหกรรม AI ที่กำลังเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และได้ขยายตลาดสำหรับธุรกิจ AI ในทุกเศรษฐกิจอาเซียน โดยทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงโอกาสภายใต้เงื่อนไขเดียวกันกับประเทศตนเอง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรับรองว่าแนวทางดังกล่าวได้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างครอบคลุมที่สุด หน่วยงานในอาเซียนได้มีการปรึกษาภาคเอกชน รวมถึง AWS ซึ่งเราภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและรับรองเอกสารสำคัญนี้
การทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึง AI
การก้าวเข้าสู่ปี 2567 นี้ อีกหนึ่งการพัฒนาในอาเซียนที่เราคาดหวัง คือการจัดทำข้อตกลงกรอบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Framework Agreement: DEFA)
นอกเหนือจากการรับรองว่าระบบ AI จะคำนึงถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและภาษาต่าง ๆ ในอาเซียนและยึดถือมาตรฐานการกำกับดูแลร่วมกันแล้ว หน่วยงานภาครัฐในแต่ละพื้นที่ยังต้องรับประกันว่า AI สามารถเข้าถึงได้โดยประชากรในอาเซียนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
อาเซียนควรมุ่งส่งเสริมการนำ AI มาใช้อย่างครอบคลุมและกว้างขวางยิ่งขึ้นผ่านข้อตกลงการค้าดิจิทัล เช่น DEFA และเปิดโอกาสให้เข้าถึงเครื่องมือและข้อมูลที่เหมาะสมเพื่อการใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพ นักพัฒนาในฮานอยควรสามารถเข้าถึงเครื่องมือ AI แบบเดียวกับนักพัฒนาในซานฟรานซิสโก
DEFA มีศักยภาพที่จะตอบสนองวัตถุประสงค์นี้โดยการตกลงร่วมกันระหว่างทุกประเทศในการควบคุมการไหลเวียนและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศเพื่อช่วยให้ธุรกิจในอาเซียนสามารถเข้าถึงเครื่องมือ AI ที่มีคุณภาพสูงเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในโลก นอกจากนี้ การส่งเสริมการนำมาตรฐานสากลมาใช้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้แน่ใจว่าAIที่ได้รับการพัฒนาในภูมิภาคสามารถนำไปใช้กับที่อื่นได้เช่นกัน
ปี 2567 นี้จะเป็นปีที่สำคัญสำหรับ AI ในอาเซียน ด้วยความก้าวหน้าในหลาย ๆ ด้านที่เกิดขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน เรามั่นใจได้ว่าอาเซียนกำลังวางรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการก้าวไปสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI อย่างมีประสิทธิภาพ