ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) หรือเอไอ เป็นคำพูดติดปากของใครหลายๆ คนที่งานจัดแสดงเทคโนโลยีสื่อสารไร้สาย​ Mobile World Congress 2024 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ขณะที่ประเด็นเสวนาในปีก่อนนั้นมุ่งเน้นไปที่เรื่อง 5G เป็นหลัก สาระสำคัญของงานในปีนี้ (ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26 – 29 กุมภาพันธ์) กลับอัดแน่นไปด้วยหัวข้อเสวนาและความเคลื่อนไหวสำคัญเกี่ยวกับเอไอ ทำให้ดูเหมือนว่าเส้นแบ่งระหว่างอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและโทรคมนาคมนั้นกำลังค่อยๆ จางลงเรื่อยๆ

ในงานผมได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้นำจากภาครัฐและตัวแทนภาคอุตสาหกรรมหลายท่าน ก่อนจะเดินทางกลับมายังประเทศไทยด้วยความเชื่อมั่นว่าเอไอจะเป็นประตูแห่งโอกาสสำหรับเราทุกคนในการรับมือกับความท้าทายทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และนี่คือสามประเด็นที่ผมมองว่าเราควรให้ความสำคัญ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากศักยภาพของเอไอและก้าวไปแข่งขันอย่างทัดเทียมบนเวทีโลก

จริยธรรมปัญญาประดิษฐ์

ท่ามกลางกระแสร้อนแรงของเอไอ บ่อยครั้งเราได้ยินข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์และการใช้งานเอไออย่างมีความรับผิดชอบ ขณะเดียวกัน เริ่มมีหลายฝ่ายออกมาเรียกร้องถึงมาตรการกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ให้มีความโปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งบริษัท Microsoft ได้ใช้เวทีโมบายล์ เวิลด์ คองเกรสในปีนี้ ในการประกาศแนวทางปฏิบัติด้านธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ พร้อมชูความร่วมมือกับสตาร์ทอัพสัญชาติฝรั่งเศส Mistral ในฐานะพันธมิตรหลักด้านเอไอรายที่สองถัดจาก OpenAI นับเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้นักพัฒนาสามารถเข้าถึงโมเดลปัญญาประดิษฐ์ของไมโครซอฟท์ได้เป็นวงกว้างยิ่งขึ้น

 

ทรู คอร์ปอเรชั่น เป็นองค์กรไทยขนาดใหญ่แห่งแรกที่มีการประกาศใช้จริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการด้านธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance Committee) ซึ่งจะทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการด้านเอไอสำคัญๆ ของทรูทั้งหมด ความพยายามเหล่านี้ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของเราในการส่งเสริมการใช้งานเอไออย่างมีความรับผิดชอบ พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าของเราว่าทรูนั้นเคารพต่อความเป็นส่วนตัวของข้อมูล โดยเราเดินหน้าทำงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งจากภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้จริยธรรมปัญญาประดิษฐ์นั้นกลายเป็นบรรทัดฐานของประเทศไทย

 

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งยึดโยงกับเรื่องจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์และมีความร้อนแรงไม่แพ้กัน ก็คือประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศ ในวันที่สามของงานโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส สมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) ได้เปิดเผยรายงาน Net Zero Report ซึ่งระบุว่าอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในโครงข่ายของผู้ให้บริการเครือข่ายทั่วโลกนั้นลดลง 6% ในระหว่างปี 2562 ถึงปี 2565 แม้ว่าการใช้งานอินเตอร์เน็ตจะเติบโตกว่า 2 เท่าก็ตาม อย่างไรก็ดี การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเอไอก็นำไปสู่คำถามที่ว่า ความต้องการใช้พลังงานมหาศาลของเอไอในการประมวลผลจะทำให้ความพยายามทั้งหมดที่ผ่านมานี้สูญเปล่าหรือไม่

ในด้านดี เทคโนโลยีเอไอมีศักยภาพช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อันถือเป็นอีกวาระเร่งด่วนสำหรับประเทศไทย บนเวทีโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส ผมในฐานะตัวแทนของ ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้บอกเล่าเกี่ยวกับโซลูชันเอไอที่เราพัฒนาขึ้นเองภายในองค์กรเพื่อช่วยลดการใช้พลังงานในโครงข่ายของเรา ที่ผ่านมา โซลูชันดังกล่าวทำให้เราสามารถลดการใช้พลังงานในโครงข่ายลง 15% นี่นับเป็นอีกก้าวสำคัญสำหรับทรู ภายใต้เจตนารมณ์ในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน​ภายในปี 2573

ความเร็วอาจไม่สำคัญเท่าความพร้อม

ท่ามกลางกระแสความตื่นเต้นเรื่องเอไอ ถึงเวลาที่ผู้นำอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องย้อนกลับมาประเมินถึงความพร้อมและเร่งจัดการกับความท้าทายด้านดิจิทัลภายในองค์กร เช่น การยกระดับทักษะดิจิทัลของพนักงาน การนำข้อมูล (data) มาร่วมขับเคลื่อนการตัดสินใจของผู้บริหารในระดับ C-suite การดึงดูดและรักษาบุคลากรดิจิทัล (digital talent) ไว้ ไปจนถึงการสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

เทเลนอร์ ในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคมระดับโลกซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศนอร์เวย์ และเป็นผู้ถือหุ้นร่วมของทรู คอร์ปอเรชั่น ได้จัดเวทีเสวนาร่วมกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมจากภูมิภาคเอเชียจำนวนสามราย ซึ่งล้วนเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในประเทศของตน โดย ยาซีร์ อัซมาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Grameenphone (บังกลาเทศ) อิดดัม นาวาวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Celcom Digi (มาเลเซีย) และตัวผมเอง ได้ร่วมกันหารือถึงความจำเป็นเร่งด่วนขององค์กรธุรกิจในภูมิภาคเอเชียในการจัดการกับความท้าทายด้านดิจิทัล ก่อนที่จะนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้งานในองค์กร

ที่ทรู คอร์ปอเรชั่น เรามีแผนสร้างบุคลากรของเราจำนวน 2,400 คนให้เป็น digital citizen ภายในปี 2567 โดยหัวใจความสำเร็จของเราคือการตั้งเป้าหมายที่สามารถวัดผลได้จริง เช่น การนำระบบออโตเมชันมาใช้กับงานพื้นฐานประจำวันที่มีกฎชัดเจนให้ได้ 100% ภายในปี 2570 และเพื่อติดปีกธุรกิจไทยให้เติบโตสู่ยุคเอไออย่างแข็งแกร่ง ทรูยังได้สร้างระบบนิเวศโซลูชันและบริการเพื่อรองรับการใช้งานเอไอ นับตั้งแต่ Open API ไปจนถึงแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูล และหลักสูตรด้านดิจิทัลจาก True Digital Academy

จากสถานีฐานสู่ดาต้าเซ็นเตอร์

ในยามที่ประเด็นสนทนาหลักในงานโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส นั้นแปรเปลี่ยนจากเรื่อง 5G ไปสู่ปัญญาประดิษฐ์​ ในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานเอง ดูเหมือนว่าสีสันของงานในปีนี้จะไม่ได้อยู่ที่อุปกรณ์ส่งสัญญาณ 5G รุ่นล่าสุดที่ถูกนำไปติดตั้งบนสถานีฐานอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของด้าตาเซ็นเตอร์ (data center) ​และความสามารถในการประมวลผล

ประจวบเหมาะกับที่เมื่อเร็วๆ นี้ ตัวแทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ได้ร่วมหารือกับผู้บริหารบริษัท Huawei เกี่ยวกับการลงทุนในคลาวด์และดาต้าเซ็นเตอร์ อีกทั้งก่อนหน้านี้ ทางรัฐบาลไทยได้ประกาศความร่วมมือขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานกับบริษัท Google และไมโครซอฟท์

แต่การก้าวไปเป็นศูนย์กลางด้านปัญญาประดิษฐ์และดาต้าเซ็นเตอร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นยังคงเป็นหนทางอีกยาวไกลสำหรับประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (K-Research) คาดว่าการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยจะมีมูลค่ากว่า 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระหว่างปี 2567 – 2570 แต่ยังเป็นรองมาเลเซียที่จะมีมูลค่าการลงทุนสูงกว่าไทยราว 3 เท่า โดยหนึ่งในอุปสรรคสำคัญคือการขาดแคลนแหล่งพลังงานสะอาด

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาเป็นตัวเร่งสำคัญที่นำไปสู่การทลายเส้นแบ่งระหว่างอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและเทคโนโลยี เมื่อไม่นานมานี้ เทเลนอร์ได้ประกาศพันธมิตรกับ NVIDIA เพื่อร่วมลงทุนประมาณ 9.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐในโครงสร้างพื้นฐาน อันจะทำให้เทเลนอร์สามารถเข้าถึงฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เอไอสำหรับธุรกิจที่ทันสมัยที่สุดของเอ็นวิเดีย โดยมีเป้าหมายคือการสร้าง use case ปัญญาประดิษฐ์ในประเทศนอร์เวย์เป็นที่แรก ก่อนจะขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ ใน ภูมิภาคนอร์ดิก

ที่ทรู เราเชื่อเช่นเดียวกันว่าโครงข่ายอัจฉริยะนั้นเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถส่งมอบประสบการณ์ใช้งานเครือข่ายที่เหนือกว่าสำหรับลูกค้าของเรา โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เราได้เปิดตัวศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ (Business and Network Intelligence Center: BNIC) พร้อมปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความเชื่อมั่นเครือข่าย 5G, 4G และอินเทอร์เน็ตบ้าน และส่งมอบบริการวอยซ์และดาต้าความเร็วสูง สำหรับลูกค้าจำนวนกว่า 50 ล้านคนทั่วประเทศของเรา นอกจากนั้นแล้ว โครงข่ายอัจฉริยะยังจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเราอีกด้วย

ประเด็นเสวนาหลักของงานโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส ในไปนี้ ทำให้เราเห็นถึงศักยภาพของเอไอในการส่งมอบเทคโนโลยีที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น ซึ่งทรูนั้นมีเจตนารมณ์ในการนำศักยภาพของเอไอมาสร้างสรรค์โซลูชันสำหรับสังคมไทย ให้พร้อมรับมือกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ช่องว่างด้านทักษะ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเติบโตและก้าวไปแข่งขันได้อย่างสง่างามบนเวทีโลก

อ่านบน True Blog : https://trueblog.dtac.co.th/blog/true_ai/
บทความนี้เขียนโดย ชารัด เมห์โรทรา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อเร็วๆ นี้คุณชารัดได้เข้าร่วมงาน Mobile World Congress 2024 ที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน

Comments

comments