ดีป้า เดินหน้าเสริมศักยภาพดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยต่อเนื่อง รุกส่งเสริม 3 โครงการผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนเพื่อการเริ่มต้นธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล คาดสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่า 25 ล้านบาท พร้อมช่วยกระตุ้นการจ้างงาน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้แก่ผู้ใช้บริการดิจิทัลโซลูชันจากดิจิทัลสตาร์ทอัพที่ได้รับการส่งเสริม
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดีป้า มุ่งยกระดับศักยภาพดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทยในทุกระยะการเติบโตด้วยการเสริมสร้างความรู้และทักษะสำคัญผ่านโครงการต่าง ๆ ควบคู่กับการพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัล พร้อมเปิดโอกาสให้เกิดการจับคู่ธุรกิจกับเหล่าผู้ประกอบการ เกษตรกร และชุมชนที่กำลังมองหาดิจิทัลโซลูชันที่เหมาะสมกับบริบทของตนเองก่อนนำมาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหา เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งร่วมผลักดันดิจิทัลสตาร์ทอัพที่มีความพร้อมเพื่อก้าวสู่เวทีระดับสากล โดยปัจจุบัน ดีป้า ยกระดับดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยแล้วมากกว่า 165 ราย ขณะที่ปี 2567 มีแผนที่จะส่งเสริมสตาร์ทอัพเพิ่มกว่า 20 ราย
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการส่งเสริมและสนับสนุน ดีป้า มีมติเห็นชอบข้อเสนอโครงการที่ขอรับการส่งเสริมสนับสนุนตามมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนเพื่อการเริ่มต้นธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล (depa Digital Startup Fund) ระยะเริ่มต้น (Early Stage) จำนวน 3 ราย รวมมูลค่าการลงทุน 3 ล้านบาท ประกอบด้วย
“สำหรับดิจิทัลสตาร์ทอัพทั้ง 3 รายที่ได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนฯ ในครั้งนี้มาจากบริการดิจิทัลที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคประชาชน อีกทั้งมีศักยภาพที่จะเติบโตสู่ระดับสากลได้ในอนาคต พร้อมกันนี้ยังประเมินว่า ดิจิทัลสตาร์ทอัพทั้ง 3 รายจะสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 25 ล้านบาท ทั้งในส่วนของการต่อยอดบริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การยกระดับทักษะบุคลากร กระตุ้นการจ้างงาน ตลอดจนการมีส่วนช่วยให้เกิดการสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ใช้บริการจากดิจิทัลสตาร์ทอัพทั้ง 3 ราย” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aircraft System Standard Testing Center) โดย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนภายใต้มาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งภาครัฐและเอกชน (depa Digital Infrastructure Fund) โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) พื้นที่รวมกว่า 800 ตารางเมตรของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการภายในอาคาร (Indoor Labs) และพื้นที่ทดสอบการบินบริเวณลานบิน รองรับความต้องการวิเคราะทดสอบและยืนยันศักยภาพของผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคต