มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี นำโดย องคมนตรี พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ (นั่งที่ 4 จากซ้าย) ในฐานะประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ จัดการประชุมสามัญประจำปี 2567 ณ ห้องประชุมกำแพง พลางกูร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมีคณะที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ (นั่งที่ 4 จากขวา) ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน โดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ (นั่งที่ 3 จากซ้าย) ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะประธานคณะกรรมการมูลนิธิฯ พร้อมด้วยซีอีโอ คณะผู้บริหารจากองค์กรผู้ร่วมก่อตั้ง ตลอดจนเครือข่ายพันธมิตร ร่วมกันหารือ วางแผน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาไทย โดยปีนี้ ได้ยกระดับแผนงาน และการดำเนินงานให้พร้อมรับกับความท้าทายการศึกษายุคดิจิทัล อาทิ ร่วมกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรับเกณฑ์ชี้วัดประเมินคุณภาพโรงเรียนที่เข้มข้นขึ้นจาก 44 เป็น 53 ข้อ ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน รวมถึงปรับคณะทำงานเป็น 5 คณะ ให้ทำงานได้ชัดเจนตามยุทธศาสตร์เพื่อให้การทำงานระหว่างรัฐและเอกชนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันประกอบด้วย 1. คณะทำงานด้านการวิจัยและการประเมินคุณภาพการศึกษา 2.คณะทำงานด้านการสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม 3. คณะทำงานด้านการพัฒนาผู้นำและบุคลากรทางการศึกษา 4.คณะทำงานด้านหลักสูตรและการสอน และ 5. คณะทำงานด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมืออันเข้มแข็งของ 3 ภาคส่วนหลัก ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ในปี 2567 นี้ มีโรงเรียนคุณภาพที่ได้รับมอบหมายจากภาครัฐเข้ามาอยู่ในการดูแลของมูลนิธิฯ เพิ่มอีก 1,808 แห่ง ส่งผลให้ปัจจุบันมีโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดีทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 6,949 แห่ง และเริ่มมีการใช้ระบบ School Management System แล้ว ซึ่งจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง มีนักเรียนที่ได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาสะสมแล้วกว่า 2.31 ล้านคน บุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาศักยภาพ มากกว่า 82,000 คน ขณะที่มีผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner) ผ่านการพัฒนาทักษะผู้นำ 1,900 คน มีผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (ICT Talent) ภาครัฐและเอกชน 2,400 คน ดูแลครอบคลุม 4,100 โรงเรียน นอกจากนี้ มูลนิธิฯ มีเครือข่ายพันธมิตรเพิ่มอีก 3 องค์กร รวมปัจจุบันเป็น 55 องค์กร โดยผลการดำเนินงานของมูลนิธิฯ มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับ 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การเปิดเผยข้อมูลสถานศึกษาสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส (Transparency)
• มีนโยบายนำระบบ School Management System ที่มีเกณฑ์การวัดคุณภาพโรงเรียนในด้านต่างๆ อย่างครอบคลุม มาใช้ประเมินคุณภาพโรงเรียน 1,808 แห่งที่เข้าร่วมเป็นโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดีล่าสุด
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : กลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม (Market Mechanisms)
• จัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner) อย่างต่อเนื่อง เสริมทักษะต่างๆ ทั้งทักษะความเป็นผู้นำ การทำงานเป็นทีม และทักษะการสื่อสาร พร้อมจัดทำตัวชี้วัด School Partner และคัดเลือก School Partner ต้นแบบ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน (High Quality Principals & Teachers)
• สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีนโยบายเห็นชอบให้มีตำแหน่ง ICT Talent ภาครัฐ โดยเริ่มจากโรงเรียนคุณภาพ และขยายสู่โรงเรียนในสังกัดสพฐ. ทั่วประเทศไทยต่อไป
• สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ประกาศหลักเกณฑ์การโอนย้าย การประเมินวิทยฐานะ และการปรับเงินเดือนข้าราชการครู ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ
• พัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน ด้วยการจัดการอบรมเสริมทักษะสำคัญต่างๆ อาทิ ทักษะการบริหาร การนิเทศก์และการชี้แนะ ภาษา การจัดการเทคโนโลยีและดิจิทัล การจัดการเรียนรู้เชิงรุก และจิตวิทยา ซึ่งพบว่า 76% ครู มีความมั่นใจในการใช้เทคโนโลยีกับการสอน และ 71% ครู สามารถนำความรู้ด้านเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ ไปถ่ายทอดให้แก่ครูในโรงเรียน
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ (Child Centric & Curriculum)
• ขยายผลนำโมเดลต้นแบบ “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน” หรือ Learning Center ไปสู่โรงเรียนคุณภาพ ภายในปีการศึกษา 2567 และมีนโยบายจัดตั้ง Learning Center ใน 245 เขตพื้นที่การศึกษาทั้งหมด 1 เขต 1 โรงเรียนคุณภาพ
• พัฒนาการจัดการเรียนรู้แบบ Child Centric และร่วมกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาหลักสูตร Extracurricular พร้อมแบบทดสอบคุณธรรมจริยธรรม ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ตามความสนใจ ต่อยอดสู่การปฏิบัติจริง ส่งผลให้เกิดการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต
• ต่อยอดโครงการ Learning Center และ ICT Talent นำร่อง 20 โรงเรียน ในโครงการ USO ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
• เข้าหารือกับกสทช. เพื่อผลักดันให้มีนโยบายสื่อสร้างสรรค์ในช่วงเวลา Primetime โดยกสทช. ได้พิจารณาและดำเนินการทำร่างประกาศเสนอต่อคณะกรรมการในเรื่องสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งอยู่ในระหว่างรอบรรจุวาระ
ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา (Digital Infrastructures)
• มติ ครม.อนุมัติจัดสรรแท็บแล็ต และโน้ตบุ๊ก จำนวน 6 แสนเครื่องให้นักเรียนและครู (ปีงบประมาณ 2568 – 2572) ในโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ ทุกเวลา
ในโอกาสนี้ ตัวแทนผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner) ยังได้ร่วมแบ่งปันเรื่องราวแห่งความสำเร็จ การพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ ตลอดจนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่ที่ได้ทำงานร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรในโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่การศึกษาไทยอีกด้วย
ทั้งนี้ สำหรับองค์กรที่สนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-858-1881-2 หรืออีเมล : Partners.connexted@gmail.com รวมถึงสามารถติดตามข่าวสารและกิจกรรมของมูลนิธิฯ ได้ที่ connexted.org
#มูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์อีดี #CONNEXTEDfoundation
เว็บไซต์: http://connexted.org
FB: CONNEXT ED
เกี่ยวกับมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED Foundation)
มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2559 จากโครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ภายใต้ความร่วมมือ 3 ภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ต่อมาจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิในปี 2563 โดยมีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่น ในการขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้มั่นคงและยั่งยืน ตามแนวทาง 5 ยุทธศาสตร์หลัก พร้อมเดินหน้าสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้ามาส่งเสริมการศึกษาเยาวชนไทย
ปัจจุบัน มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี มีเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชนชั้นนำของไทยรวมแล้ว 55 องค์กร โดยมี 12 องค์กรเอกชน ร่วมเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิฯ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์, กลุ่มเซ็นทรัล, บมจ. ซีพี ออลล์, บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร, กลุ่มมิตรผล, กลุ่มปตท., ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), เอสซีจี, บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ, บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป และ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น
ต่อมาในระยะที่ 2 มีเครือข่ายพันธมิตรเข้าร่วมโครงการอีก 19 องค์กร ได้แก่ บจ. ไทยฮอนด้า, บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น, บมจ. บ้านปู, บมจ. บีอีซี เวิลด์, บจ. เบอร์แทรม (1958), บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย), บจ. เอดู พาร์ค, โรงเรียนเอ็นคอนเส็ปท์ อี แอคเคเดมี่, บจ. โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์), บจ. เควี อิเล็กทรอนิกส์, บจ. เลิร์น คอร์ปอเรชั่น, บจ. แม็คเอ็ดดูเคชั่น, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์, บจ. เอส เค โพลีเมอร์, บจ. สลิงชอท กรุ๊ป, ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย, บจ. ไทยโตชิบาอุตสาหกรรมไฟฟ้า และบจ. สวนอุตสาหกรรมบางกะดี, บจ. เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย)
หลังจากนั้นในระยะที่ 3 มีเครือข่ายพันธมิตรเข้าร่วมโครงการ อีก 24 องค์กร ได้แก่ บจ. แอมิตี, บมจ. บี.กริม เพาเวอร์, บมจ. ซี.พี.แลนด์, บจ. เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส, บมจ. เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, บมจ. ซีพี แอ็กซ์ตร้า, บจ. โพรนาลิตี้, บมจ. สมิติเวช, กลุ่มธุรกิจ ทีซีพี, บมจ. ทิปโก้แอสฟัลท์, บมจ. วีจีไอ, ธนาคารออมสิน, เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล, บจ. ไตรโซลูชั่น, สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, สํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน), บจ. เอ็ดดูเคชั่น อีซี่ (ไทยแลนด์), บจ. ฟู้ดแพชชั่น และบจ. ทรู ดิจิทัล พาร์ค และล่าสุด ในระยะที่ 3 นี้ มีเครือข่ายพันธมิตรใหม่เข้าร่วมอีก 3 องค์กร ได้แก่ บจ. ทีทรี เทคโนโลยี, แพคริม และแพคริม เอดูเคชั่น และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)