ดีป้า เผยผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย ประจำปี 2566 และคาดการณ์แนวโน้ม 3 ปี ระบุภาพรวมอุตสาหกรรมปี 2566 ขยายตัวเล็กน้อย โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 44,236 ล้านบาทได้รับอานิสงส์จากกระแสอาร์ตทอยที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมคาแรกเตอร์ขยายตัว ขณะที่อุตสาหกรรมเกมและแอนิเมชันยังหดตัว พร้อมประเมินว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ไทยทั้งระบบจะขยายตัวต่อเนื่อง และมูลค่ารวมอุตสาหกรรมจะแตะระดับ 50,000 ล้านบาทในปี 2569
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ร่วมกับ สมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย (DCAT) สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA) สมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ (Bangkok ACM SIGGRAPH) และ บริษัทไอเอ็มซี เอ้าท์ซอร์สซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (เกม แอนิเมชัน คาแรกเตอร์ และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์) ประจำปี 2566 และคาดการณ์แนวโน้ม 3 ปี
ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และความมั่นคง ดีป้า เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ไทยปี 2566 ขยายตัวเฉลี่ย 0.01% โดยมีมูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 44,236 ล้านบาททั้งนี้ ภาพรวมอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมเกมที่หดตัวจากมูลค่าการบริโภคที่ลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2
ด้าน นางสาวกษมา กองสมัคร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และความมั่นคง ดีป้า กล่าวว่า
อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยมีศักยภาพที่จะขยายตัวต่อเนื่อง โดยประเมินว่า ระหว่างปี 2567 – 2569 ภาพรวมอุตสาหกรรมจะเติบโตเฉลี่ย 4%ซึ่งคาดว่ามูลค่ารวมจะอยู่ที่ 46,642 และ 48,936 ล้านบาทในปี 2567 – 2568 และอาจพุ่งทะยานถึง 50,694 ล้านบาทในปี 2569 โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากคาดการณ์อุตสาหกรรมเกมที่จะเติบโตผ่านโครงการและมาตรการต่าง ๆ รวมถึงอุตสาหกรรมแอนิเมชัน คาแรกเตอร์ และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวจากการสนับสนุนและความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
อุตสาหกรรมเกมหดตัวจากการใช้จ่ายของผู้ใช้บริการบนแพลตฟอร์มโมบายที่ลดลง
นายเนนิน อนันต์บัญชาชัย นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย กล่าวว่า ปี 2566 อุตสาหกรรมเกมหดตัวเฉลี่ย 0.78% มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 34,288 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการหดตัวของผู้ใช้บริการเกมบนแพลตฟอร์มโมบายทั้ง iOS และ Android ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งมูลค่าของเกมบนแพลตฟอร์มโมบายคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 54% ของมูลค่าอุตสาหกรรมเกมปี 2565
นายเนนิน กล่าวต่อว่า ปีที่ผ่านมา สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย และเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชนหลายรายร่วมกับ ดีป้า ดำเนินการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ/ผู้พัฒนาเกมผ่านโครงการ Game Online Academy และ Game Accelerator Program Batch 3 ส่วนบุคคลทั่วไปดำเนินการส่งเสริมผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ Esports in School, Esports Online Academy, EsportsNational Tournament และ Esports Accelerator Program โดยมุ่งเน้นไปที่ผู้พัฒนาเกม เพื่อตีตลาดและเก็บส่วนแบ่งทางการตลาดจากประเทศอื่นที่เป็นประเทศผู้พัฒนาเกมชั้นนำของโลก สร้างทัศนคติที่ดี และส่งเสริมการใช้เกมให้เกิดประโยชน์มากกว่าการเล่นเพื่อความบันเทิง ส่งผลให้มูลค่าของธุรกิจการผลิตผลงานโดยมีทรัพย์สินทางปัญญาของตนเอง (IP Owner) ของเกมไทยยังคงมีมูลค่าราว 680 ล้านบาท
อุตสาหกรรมแอนิเมชันกับการหดตัวของตลาด (อีกครั้ง)
นายสันติ เลาหบูรณะกิจ ผู้แทนจากสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย
กล่าวว่า อุตสาหกรรมแอนิเมชันหดตัวเฉลี่ย 10% ในปี 2566 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3,532 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากปริมาณการจ้างผลิตงาน CG/VFX จากต่างประเทศลดลง เนื่องจากการแข่งขันด้านราคา รวมถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่า ซึ่งธุรกิจการรับจ้างผลิตผลงานภายใต้ลิขสิทธิ์ของผู้อื่นหดตัวลงถึง 12% หรือคิดเป็นมูลค่ามากถึง 397 ล้านบาท
อุตสาหกรรมคาแรกเตอร์ขยายตัวต่อตามกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจากกระแสอาร์ตทอย (Art Toy)
นายสุมิตร สีมากุล นายกสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมคาแรกเตอร์ปี 2566 ขยายตัวเฉลี่ย 21% โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่2,445 ล้านบาท เป็นผลมาจากปริมาณของนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของอุตสาหกรรมคาแรกเตอร์เพิ่มขึ้น ประกอบกับกระแสอาร์ตทอยที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้รายได้จากการผลิตสินค้าในรูปแบบต่าง ๆ (Character Merchandising) ขยายตัวถึง 62%คิดเป็นมูลค่ามากถึง 385 ล้านบาท
อุตสาหกรรมหนังสืออิเล็กทรอนิกส์กับการบริโภคคอนเทนต์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
นางสาวกวิตา พุกสาย ผู้แทนจากอุตสาหกรรมหนังสืออิเล็กทรอนิกส์กล่าวว่า ปี 2566 อุตสาหกรรมหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวเฉลี่ย 7% โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3,971 ล้านบาทจากมูลค่าการบริโภคคอนเทนต์ที่เติบโตต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยคอนเทนต์ส่วนใหญ่ยังคงเป็นคอนเทนต์นำเข้าและแปลเป็นภาษาไทยผ่านผู้ประกอบการ และแพลตฟอร์มต่าง ๆ จากประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ส่งผลให้การนำเข้าคอนเทนต์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ
นอกจากนี้ ในงานแถลงผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยปี 2566 ยังมีช่วงของการเสวนาในหัวข้อ AIกับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ เพื่อนร่วมงานคนใหม่ หรือคู่แข่งที่น่ากลัวโดยดีป้า มุ่งส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังปฏิวัติวงการดิจิทัลคอนเทนต์อย่างรวดเร็วจากความสามารถในการสร้างสรรค์เนื้อหาได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภาพ วิดีโอ หรือแม้แต่ข้อความมาทำให้กระบวนการผลิตคอนเทนต์มีความรวดเร็วและเกิดประสิทธิภาพ นอกจากนี้ AI ยังสามารถช่วยปรับแต่งคอนเทนต์ให้ตรงตามความสนใจของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) อีกทั้งถูกนำมาใช้ตรวจสอบหาความถูกต้องของข้อมูล และป้องกันการแพร่กระจายของข้อมูลเท็จ ในทางกลับกัน การมาของ AI ยังสร้างความท้าทายใหม่ให้กับภาคอุตสาหกรรม เช่น ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ หรือการสูญเสียตำแหน่งงานบางประเภท เป็นต้น
“ดีป้า และหน่วยร่วมดำเนินการหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ปี 2566 และคาดการณ์แนวโน้ม 3 ปีจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลของรัฐบาลในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขณะเดียวกันจะเป็นส่วนช่วยสำคัญเพื่อประกอบการตัดสินใจวางแผนธุรกิจของภาคเอกชนอีกด้วย” รองผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
ทั้งนี้ ดีป้า ยังมีโครงการดี ๆ อย่าง CONNEXION ที่มุ่งยกระดับองค์ความรู้ พัฒนาชุดทักษะใหม่ด้านดิจิทัลให้กับคนไทย โดยเฉพาะผู้ว่างงานและนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังหางานให้มีความพร้อมต่อการประกอบอาชีพใหม่ในยุคดิจิทัล และมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซไทยอย่าง คอนเทนต์ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ หรือจะ ประกอบอาชีพอื่น ๆ ในสายอย่าง ออแกไนเซอร์ นักออกแบบ นักพากย์ นักเล่าเรื่อง ฯลฯ และอีกหนึ่งโครงการกับ เปิดเมือง เปิดท่องเที่ยวไทยด้วยดิจิทัล กับการพัฒนา ThailandCONNEXเพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรูปแบบ Business to Business (B2B) ในลักษณะ Wholesales สำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้สามารถเข้าถึง นำเสนอสินค้าและบริการสู่ผู้ให้บริการท่องเที่ยว (Online Travel Agencies: OTAs) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้กับผู้ประกอบการ ลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างชาติ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ซึ่งที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มธุรกิจที่พัก ร้านอาหาร และธุรกิจบริการเช่ายานพาหนะเข้าร่วมแพลตฟอร์ม ThailandCONNEX กว่า 1 แสนราย มีสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวกว่า 2 แสนรายการ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท