นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ เอไอเอส กล่าวว่า “AIS ได้ร่วมทำงานกับ กสทช. ,กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี), ปภ. กระทรวงมหาดไทย รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ในการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับระบบเตือนภัยของประเทศตามมาตรฐานสากล นั่นคือ เทคโนโลยี Cell Broadcast Service หรือ ระบบสื่อสารข้อความตรงไปที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชน อย่างเฉพาะเจาะจงพื้นที่  ซึ่งระบบนี้มีความเหมาะสมกับการนำมาใช้เพื่อแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากสามารถส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือที่รองรับตั้งแต่ 4G ขึ้นไป ทุกเครื่องที่อยู่ในพื้นที่ครอบคลุมของสถานีฐานบริเวณนั้นๆในเวลาเดียวกัน  ด้วยรูปแบบของการแสดงข้อความที่หน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Pop UP Notification) แบบ Near Real Time Triggering เพื่อให้สามารถรับรู้สถานการณ์ต่างๆได้ทันที” 

โดยหลังจากที่ร่วมกันพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดต้องขอบคุณ สำนักงาน กสทช. ที่ได้สนับสนุนงบประมาณจากเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)  ที่ทำให้ AIS และผู้ให้บริการทุกราย ได้ร่วมทดลอง ทดสอบ เทคโนโลยี Cell Broadcast ณ จังหวัดภูเก็ต ได้ผลตามเป้าหมาย และพร้อมที่จะขยายผลเชื่อมโยงกับระบบเตือนภัยของประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป ซึ่งในการลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการดำเนินการทดลองทดสอบความเป็นไปได้ของระบบแจ้งเตือนภัย แบบเสมือนจริงบน LIVE Network หรือ Proof of Concept เฉพาะพื้นที่ หากเกิดเหตุด่วน เหตุร้าย และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่จะพร้อมเชื่อมต่อกับศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปอย่างดียิ่ง อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว”  

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า “ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช.ได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้ประกอบการโทรคมนาคมทุกราย เกี่ยวกับการดำเนินการในการพัฒนาระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) โดยแต่ละหน่วยงานจะมีการแบ่งหน้าที่การจัดการเพื่อให้เกิดระบบ Cell Broadcast และ อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ซึ่งคาดว่าในโตรมาสที่ 2 ปี 2568 ระบบ Cell Broadcast จะพร้อมใช้งานจริงได้ในบางพื้นที่ของประเทศ”

ทั้งนี้หน่วยงานต่าง ๆ ได้แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ ดังนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะเป็นหน่วยงานหลักกำหนดเนื้อหาและพื้นที่ในการส่งข้อความ การจัดการข้อความที่จะสื่อสาร เรียกว่า ส่วนของ Cell Broadcast Entity (CBE), กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการในส่วนของระบบ Cloud Server และการเชื่อมต่อระหว่าง CBE และ Cell Broadcast Center (CBC) ซึ่งดูแลโดยผู้ให้บริการโครงข่าย ทำหน้าที่นำเนื้อหาข้อความแจ้งเตือนเข้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ในบริเวณพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติ หรือเหตุด่วนเหตุร้าย

สำหรับในส่วนของ สำนักงาน กสทช. นั้น เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนงบประมาณให้แก่ผู้ประกอบการ โทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย ทั้ง AWN TUC และ NT โดยใช้งบประมาณจากเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจาย เสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อให้เกิดระบบ Cell Broadcast ซึ่งการลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต ครั้งนี้ เป็นการดำเนินการทดลองทดสอบความเป็นไปได้ของระบบแจ้งเตือนภัย ถือเป็นการทดลองทดสอบเสมือนจริงที่จะทำให้เป็นการยืนยันความพร้อมในส่วนของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างเป็นรูปธรรม

นายวรุณเทพ กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า “ในส่วนของ AIS นั้นขอยืนยันว่า นอกเหนือจากความพร้อมในการเชื่อมโยงกับศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐสำหรับการเตือนภัยประชาชนแล้ว เราจะเดินหน้าพัฒนาเครือข่าย และขยายความครอบคลุมให้เข้าถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องมากที่สุด จากปัจจุบันที่ครอบคลุมแล้วกว่า 95% ของพื้นที่ประชากร โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้ระบบเตือนภัยจาก Cell Broadcast  นี้ สามารถช่วยเหลือประชาชนให้เตรียมรับสถานการณ์ความเสี่ยงได้เท่าเทียม และ ทั่วถึง อย่างดีที่สุด”

Comments

comments