สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) โดยพลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ แห่งชาติ เป็นประธานเปิด “กิจกรรมการฝึกเพื่อทดสอบขีดความสามารถทางไซเบอร์ (Command Post Exercise: CPX)” ของกิจกรรมจัดการฝึกเพื่อทดสอบขีดความสามารถทางไซเบอร์ (Thailand’s National Cyber Exercise 2024) ประจำปีงบประมาณ 2567 ระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
โดยมีหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐาน สำคัญทางสารสนเทศ ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์สำหรับ หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (Sectoral CERT) และศูนย์ประสานการรักษาความ มั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ThaiCERT) เข้าร่วมการฝึกมากกว่า 1000 คน จาก 148 หน่วยงาน พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า “ในระยะเวลาที่ผ่านมา เชื่อว่าคงได้รับทราบข่าวเหตุภัยคุกคาม ทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์แรนซัมแวร์ที่เกิดกับโรงพยาบาล เหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหลที่เกิดกับภาคเอกชน หรือแม้แต่เหตุการณ์จอฟ้าที่ส่งผลกระทบต่อบริการ สำคัญทั่วโลก เวลานี้คงตระหนักแล้วว่าภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวและสามารถ เกิดขึ้นได้เสมอ หากไม่เตรียมความพร้อม ไม่ฝึกซ้อมรับมือเหตุภัยคุกคามทางไซเบอร์ เมื่อเกิดเหตุ ขึ้นจริงย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะเกิดความเสียหาย และส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของ ประเทศ
ด้วยเหตุนี้ ท่านประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์ จึงให้ความสำคัญในเรื่องของการฝึกเพื่อทดสอบขีดความสามารถทางไซเบอร์ NCX2024 นี้เป็นอย่างมาก นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ต่อหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือ กำกับดูแล หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ หน่วยงาน Sectoral CERT และ ThaiCERT ได้มีโอกาสในการพัฒนาและทดสอบสถานะความพร้อมในการรับมือต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ ตามที่กฎหมายกำหนดแล้วนั้น ท่านยังต้องการทราบถึงประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ของการดำเนินการตามประมวลแนวทางปฏิบัติและกรอบมาตรฐาน ด้านการรักษาความมั่นคง ปลอดภัยไซเบอร์ ทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ และกระบวนการ รวมทั้งได้เป็นโอกาสของหน่วยงานเองในการทบทวนความพร้อมในการติดต่อประสานงานของเจ้าหน้าที่ ทั้งในระดับบริหารและระดับ ระดับปฏิบัติในการตอบสนองต่อเหตุภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งการทดสอบความพร้อมดังกล่าว จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อหน่วยงานในยามที่ประสบเหตุภัยคุกคามทางไซเบอร์ในสถานการณ์”
พลอากาศตรี จเด็ด คูหะก้องกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคง ปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การฝึกเพื่อทดสอบขีดความสามารถทางไซเบอร์ NCX2024 ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการทดสอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแผนรับมือเหตุภัย คุกคามทางไซเบอร์ (Cyber Incident Response Plan) ของหน่วยงาน ตามที่กำหนดไว้ใน ประกาศ กกม. เรื่อง ประมวลแนวทางปฏิบัติและกรอบมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สำหรับหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ พ.ศ. 2562 แล้ว ยังเป็นการทดสอบการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะเมื่อเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับประเทศ การแก้ไขปัญหาด้วยหน่วยงานเดียวอาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ทัน และจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกัน ในการแก้ไขปัญหา ทั้งจากหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ทางสารสนเทศ หน่วยงาน Sectoral CERT และ ThaiCERTซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด Team Thailand for Cyber Security หรือการยกระดับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับประเทศไทย โดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วนนั่นเอง