ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านปัญญาประดิษฐ์ (International Research Centre on Artificial Intelligence: IRCAI) องค์กรภายใต้การสนับสนุนของ UNESCO ร่วมกับ Amazon Web Services, Inc. (AWS) ประกาศเปิดรับสมัครชิงทุนภายใต้โครงการ Compute for Climate Fellowship ประจำปี 2568 ซึ่งเป็นโครงการระดับโลกที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาแก่สตาร์ทอัพที่นำเทคโนโลยีคลาวด์ขั้นสูงและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาพัฒนาโซลูชันใหม่ ๆ เพื่อต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ในปีนี้ โครงการได้ขยายจำนวนสตาร์ทอัพที่จะได้รับคัดเลือกจากทั่วโลกเป็น 20 ราย เพิ่มขึ้นจาก 8 รายในปี 2567 และ 4 รายในปี 2566 โดยสตาร์ทอัพที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับทุน proof of concept ในการพัฒนาต้นแบบโดยไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญของทั้ง AWS และ IRCAI
ดาวอร์ ออร์ลิช (Davor Orlic) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ IRCAI กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จในการสนับสนุนสตาร์ทอัพด้วยทรัพยากรและองค์ความรู้ที่จำเป็น และในปีนี้เรามุ่งยกระดับการสนับสนุนให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น การขยายโครงการครั้งสำคัญนี้ไม่เพียงเพิ่มโอกาสให้สตาร์ทอัพได้รับการคัดเลือกมากขึ้น แต่ยังครอบคลุมโซลูชันด้านสภาพภูมิอากาศและการประยุกต์ใช้ AI ที่หลากหลายมากขึ้น เราเชื่อว่านวัตกรรมที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้เมื่อแนวคิดที่ท้าทายได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ และเรามุ่งมั่นที่จะวางรากฐานสำคัญนี้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”
ลิสเบธ คอฟแมน (Lisbeth Kaufman) หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีสภาพภูมิอากาศของ AWS กล่าวว่า “ในขณะที่วิกฤตสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราจำเป็นต้องส่งเสริมการพัฒนาโซลูชันที่หลากหลายและสร้างสรรค์เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ นั่นคือเหตุผลที่เราขยายขอบเขตของโครงการ Compute for Climate Fellowship เพื่อเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพมากขึ้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราได้เห็นศักยภาพอันน่าทึ่งของการประมวลผลคลาวด์ขั้นสูงและ AI ในการสร้างนวัตกรรมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (smarter grids) การใช้ Generative AI ในการค้นพบพันธุ์พืชที่ทนต่อสภาพอากาศแปรปรวน หรือการใช้โดรนใต้น้ำสำรวจมหาสมุทร ด้วยเหตุนี้ เราจึงเพิ่มการลงทุนในปี 2568 พร้อมมอบทรัพยากรและคำแนะนำที่จำเป็นให้แก่สตาร์ทอัพที่มีวิสัยทัศน์ เพื่อผลักดันแนวคิดที่ท้าทายให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบอย่างยั่งยืน”
โครงการ Compute for Climate Fellowship ประจำปี 2568 เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 6 เมษายน 2568 โดยเชิญชวนสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีสภาพภูมิอากาศ ผู้ประกอบการ และนักวิจัยจากทั่วโลกที่มีแนวคิดในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการประมวลผลขั้นสูงเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกเหนือจาก 8 ด้านหลักที่โครงการครอบคลุมมาก่อนหน้านี้ ได้แก่ พลังงานสะอาด การขนส่งคาร์บอนต่ำ การเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน เศรษฐกิจหมุนเวียน (อุตสาหกรรมและการผลิต) อาคารที่ยั่งยืน การจัดการก๊าซเรือนกระจก การดักจับคาร์บอน และความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ (น้ำ มลพิษ และความหลากหลายทางชีวภาพ) สำหรับปีนี้ โครงการได้เพิ่มขอบเขตใหม่ที่สำคัญ คือ การสนับสนุนโซลูชันจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง แม้จะมีส่วนก่อให้เกิดวิกฤตน้อยที่สุด แต่พวกเขากลับเป็นผู้ที่มีความเข้าใจอันลึกซึ้งเกี่ยวกับระบบนิเวศ และสั่งสมภูมิปัญญาในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนมาหลายชั่วอายุคน องค์ความรู้อันทรงคุณค่านี้สามารถนำมาผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ โครงการของเราจึงให้ความสำคัญกับการสนับสนุนแนวคิดและนวัตกรรมจากชุมชนท้องถิ่นเหล่านี้ โดยจะเป็นส่วนสำคัญของผู้เข้าร่วมโครงการในปี 2568
สตาร์ทอัพที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ Compute for Climate Fellowship จะได้รับทุนสนับสนุน Proof of concept (POC) ทรัพยากรทางเทคนิค คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ การเข้าถึงเทคโนโลยีของ AWS และการสนับสนุนด้านการวิจัยจาก IRCAI ในปีนี้ AWS ได้จัดสรรเครดิตมูลค่ารวม 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาต้นแบบ POC ของโครงการที่ได้รับคัดเลือก โดยกระบวนการคัดเลือกจะให้ความสำคัญกับโครงการที่สามารถพัฒนาต้นแบบให้แล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน มีแนวคิดที่ก้าวล้ำและสร้างสรรค์ และมีศักยภาพในการสร้างประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ สามารถขยายผลในวงกล้าง และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
ผลกระทบที่ยั่งยืนในระดับโลก
RealtaFusion เป็นหนึ่งใน 12 สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี ที่ได้เข้าร่วมโครงการ Compute for Climate Fellowship ตั้งแต่เริ่มดำเนินการในปี 2566 สตาร์ทอัพที่เติบโตจากการบ่มเพาะของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสันแห่งนี้ ได้พัฒนาอุปกรณ์พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันจนสามารถสร้างพลาสมาได้ในระดับที่ทำลายสถิติโลกเมื่อปีที่ผ่านมา นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันให้เป็นแหล่งพลังงานสะอาดแห่งอนาคต เคียแรน เฟอร์ลอง (Kieran Furlong) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง RealtaFusion กล่าวว่า “โครงการ Compute for Climate Fellowship ช่วยให้เราสามารถพัฒนาแบบจำลองการรักษาสมดุลพลาสมาที่ไม่เคยมีใครทำบนระบบคลาวด์มาก่อน ทั้งที่ในโลกนี้มีซูเปอร์คอมพิวเตอร์เพียงไม่กี่เครื่องที่สามารถประมวลผลการจำลองในระดับนี้ได้ และการเข้าถึงเครื่องเหล่านั้นก็ต้องรอคิวเป็นเวลานาน โครงการนี้จึงช่วยผลักดันงานวิจัยและพัฒนาของเราให้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว”
บริษัทสตาร์ทอัพ Cosma จากประเทศฝรั่งเศส ได้นำเทคโนโลยีไมโครโดรนใต้น้ำมาใช้ร่วมกับ AI เพื่อสำรวจสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า โดยให้ข้อมูลความละเอียดสูงสำหรับโครงการพลังงานนอกชายฝั่งและการให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม เฟรเดริก มิตแตน (Frédéric Mittaine) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Cosma กล่าวว่า “นอกจากการได้ร่วมงานกับนักพัฒนา AI ที่มีความสามารถจากทั่วโลกแล้ว โครงการ Compute for Climate Fellowship ยังให้ทรัพยากรคลาวด์และความเชี่ยวชาญที่จำเป็นในการพัฒนาอัลกอริทึมตรวจจับสิ่งมีชีวิตหายากใต้ทะเลตัวแรกของเรา ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในวงการชีววิทยาทางทะเล เพราะเปิดโอกาสให้เราสามารถทำการสำรวจเชิงปริมาณและติดตามระบบนิเวศใต้ทะเลได้อย่างต่อเนื่อง”
สำหรับสตาร์ทอัพที่สมัครแต่ไม่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ จะได้รับเครดิต AWS มูลค่าสูงถึง 5,000 ดอลลาร์ผ่านโปรแกรม AWS Activate รวมถึงการเข้าร่วมเวิร์กช็อปและการฝึกอบรมฟรีเกี่ยวกับการใช้บริการการประมวลผลขั้นสูงของ AWS เพื่อพัฒนาโซลูชันของตนเอง นอกจากนี้ยังจะได้รับเชิญให้เข้าร่วม IRCAI Industrial Club อีกด้วย
สามารถส่งใบสมัครได้ที่นี่ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Compute for Climate Fellowship รุ่นปี 2568 สามารถดูได้ที่นี่