บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ส่งทีมวิศวกรโครงข่ายเร่งตรวจสอบเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือทั่วประเทศไทย ทั้งเสาสัญญาณที่ติดตั้งบนอาคาร และติดตั้งพื้นดิน หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่มีศูนย์กลางในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งส่งผลให้เกิดการสั่นไหวรุนแรงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เบื้องต้นไม่พบความเสียหายพร้อมเดินหน้าลงพื้นที่ตรวจสอบเพิ่มความมั่นใจ โดยมี 2 มาตรการทั้งรับเรื่องตรวจสอบจากเจ้าของอาคารที่ติดตั้งเสาทรู คอร์ปอเรชั่นที่แจ้งให้เข้าเช็กเสา และทีมรุกตรวจสอบตามจุดเสี่ยงที่มีอาคารได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว

นายประเทศ ตันกุรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยีและความปลอดภัยระบบสารสนเทศ  บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “จากการตรวจสอบเบื้องต้นโดยศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ (BNIC) ไม่พบความเสียหายต่อเสาสัญญาณทั่วประเทศ และเครือข่ายยังให้บริการได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศไทย บริษัทฯ จึงได้จัดทีมเทคนิคและวิศวกรลงพื้นที่ตรวจสอบเสาสัญญาณโดยละเอียด โดยเฉพาะเสาที่ติดตั้งบนอาคารในเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนัก เช่น กรุงเทพมหานครชั้นใน รอบนอก และเชียงใหม่”

ทรู คอร์ปอเรชั่นดำเนินการตรวจสอบตามมาตรฐานความปลอดภัย (Health and Safety) อย่างเคร่งครัด โดยเริ่มต้นเข้าตรวจสอบเฉพาะในอาคารที่ได้รับการยืนยันความปลอดภัยจากฝ่ายอาคารและได้รับอนุญาตให้เข้าปฏิบัติภารกิจแล้วเท่านั้น โดยคำนึงถึงความต่อเนื่องของบริการและความปลอดภัยของลูกค้าและทีมงานเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ทั้งนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่นได้จัดลำดับความสำคัญในการตรวจสอบ โดยวิเคราะห์พื้นที่เสาสัญญาณที่ติดตั้งอยู่ในอาคารที่มีรายงานความเสียหายหรือไม่ แล้วจึงเข้าดำเนินการตรวจสอบเสาสัญญาณตามลำดับความเร่งด่วน

รู้จักเสามือถือของทรู คอร์ปอเรชั่น

เสาสัญญาณมือถือของทรู คอร์ปอเรชั่น มี 2 ประเภทหลัก ได้แก่

1. เสาสัญญาณภาคพื้นดิน (Green Field) ซึ่งติดตั้งบนพื้นดินโดยตรง

2. เสาสัญญาณบนอาคาร (Roof Top) ซึ่งติดตั้งบนดาดฟ้าหรือบริเวณส่วนบนของอาคาร

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ มีรายงานข่าวเรื่องตึกสูงหลายแห่งเกิดรอยร้าว แตก และมีโครงสร้างที่ได้รับผลกระทบ ทรู คอร์ปอเรชั่นจึงได้เร่งตรวจสอบเสาที่ติดตั้งบนอาคารสูงในลำดับแรกอย่างเร่งด่วน โดยการตรวจสอบเสาบนอาคารได้ตรวจสอบรอยแตกร้าวของอาคารที่อาจกระทบเสา การรั่วซึม ความแข็งแรงของฐานเสา ความตึงของสลิงยึด และสภาพโดยรวมของอุปกรณ์ สำหรับเสาบนพื้นดินจะเน้นที่การทรุดตัวของฐานเสา ความแข็งแรงของโครงเหล็ก ความแน่นของน็อตและสกรู ความตรงของเสา สภาพของสลิงยึดโยงต่างๆ และสภาพของคอนกรีตบริเวณที่ฐานเสา

นายประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เสาสัญญาณของทรู คอร์ปอเรชั่นถูกออกแบบตามมาตรฐานวิศวกรรมด้วยหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ โครงสร้างที่มั่นคงมีเสถียรภาพสูง ความแข็งแรงของโครงสร้างจากการใช้โครงเหล็กที่มีความยืดหยุ่นสูง และการออกแบบที่รองรับแรงปะทะลมและการสั่นสะเทือนตามมาตรฐาน”

ทรู คอร์ปอเรชั่นให้ความสำคัญกับการออกแบบเสาสัญญาณโดยคำนึงถึงมาตรการความปลอดภัยในทุกพื้นที่ทั่วไทย โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งเป็นพื้นที่ดินอ่อน ซึ่งการออกแบบที่แข็งแรงนี้ส่งผลให้ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ เสาสัญญาณยังคงให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ลูกค้าทรูและดีแทคสามารถมั่นใจได้ทั้งในด้านคุณภาพการให้บริการและความปลอดภัยของพื้นที่ติดตั้งเสาสัญญาณ

Comments

comments