ทรู คอร์ปอเรชั่น พร้อมเปิดใช้ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน Cell Broadcast Service (CBS) ทั่วประเทศ ล่าสุดสามารถใช้งานบนมือถือ iPhone ได้แล้ว หลังจากที่รองรับบนมือถือ Android รุ่นที่ใช้ 4G และ 5G โดยไม่ต้องติดตั้งแอปพลิเคชันเพิ่มเติม ถือเป็นก้าวสำคัญสู่มาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล เป็นรายแรกติดตั้งระบบ CBS ครบทุกสถานีฐานเพื่อรองรับการเตือนภัยพิบัติหรือเหตุต่างๆ ในทุกพื้นที่ของประเทศ โดยพร้อมให้บริการแล้วเพื่อประชาชนไทยทั้งระบบจริงหรือระบบเสมือน (Virtual Cell Broadcast)

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในไทยครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา และล่าสุดเมื่อวันที่ 14 เมษายน ที่จังหวัดกระบี่ สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศไทยต้องมีระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ ทรู คอร์ปอเรชั่นในฐานะบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำของไทย มีความห่วงใยและได้เร่งดำเนินการติดตั้งระบบ Cell Broadcast Service เสร็จเรียบร้อยทุกเสาสัญญาณครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศเป็นรายแรก ซึ่งเดิมทดสอบและพร้อมให้บริการบนมือถือ Android สำหรับรุ่นที่ใช้งาน 4G และ 5G ล่าสุดวันนี้เราพร้อมให้บริการเพิ่มบน iPhone แล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบบจริงหรือระบบเสมือน (Virtual Cell Broadcast) หากเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สามารถประสานการเตือนภัยนำมาใช้แจ้งแก่ลูกค้าทรูมูฟ เอชและดีแทคผ่านระบบนี้ได้ทันที”

CBS ความพร้อมของระบบและอุปกรณ์

ระบบ Cell Broadcast Service (CBS) ของทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ผ่านการทดสอบและรองรับการใช้งานอย่างสมบูรณ์บนมือถือ iPhone และมือถือระบบ Android ที่รองรับเทคโนโลยี 4G และ 5G ซึ่งสามารถรับข้อความแจ้งเตือนได้โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งแอปพลิเคชันเพิ่มเติม ล่าสุด สำหรับผู้ใช้งาน iPhone สามารถตรวจสอบตั้งค่าเพื่อรับข้อความแจ้งเตือนได้แล้วผ่านเมนู Settings > Notifications > Amber Alerts และ Emergency Alerts ทั้งนี้ ข้อความแจ้งเตือนจะแสดงบนหน้าจอ Apple Watch ในกรณีถ้าใช้งานร่วมด้วย

นายจักรกฤษณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทรู คอร์ปอเรชั่นได้ทำการทดสอบระบบCBS กับมือถือ iPhone และมือถือระบบ Android ในสถานการณ์จำลองภายในอาคารทรู ทาวเวอร์ รัชดา โดยที่ผ่านมาได้ทำการทดสอบระบบ CBS ร่วมกับ สำนักงาน กสทช. และ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)  พบว่าระบบสามารถส่งข้อความแจ้งเตือนได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และเจาะจงพื้นที่ได้ตามที่กำหนด ข้อความแจ้งเตือนจะปรากฏทันทีบนหน้าจอมือถือของผู้ใช้งานที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่าการส่งข้อความแบบ SMS ทั้งในด้านความรวดเร็วและความสามารถในการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเพื่อแจ้งข้อความเตือนภัย”

การยกระดับความปลอดภัยของประเทศไทยสู่มาตรฐานสากล

การทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน Cell Broadcast Service ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บนมือถือ iPhone และมือถือระบบ Android ในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยสู่การมีระบบแจ้งเตือนภัยที่มีมาตรฐานระดับสากล ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกได้นำมาใช้อย่างแพร่หลาย อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป

ระบบ Cell Broadcast เป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงในการแจ้งเตือนภัย เนื่องจากสามารถส่งข้อความไปยังอุปกรณ์มือถือจำนวนมากในพื้นที่เฉพาะได้พร้อมกัน ซึ่งแตกต่างจากการส่งข้อความแบบ SMS ทั่วไป เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนจะได้รับการแจ้งเตือนในยามฉุกเฉิน

ความร่วมมือระหว่างทรู คอร์ปอเรชั่น กสทช. และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นับเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนในการรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที” นายจักรกฤษณ์ กล่าว

โครงสร้างการทำงานของระบบ Cell Broadcast Service

ระบบ Cell Broadcast Service จะทำงานได้อย่างสมบูรณ์ต้องประกอบด้วยสององค์ประกอบหลัก คือ

  • CBC (Cell Broadcast Center) – เป็นส่วนที่ดำเนินการโดยผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ซึ่งทรู คอร์ปอเรชั่นได้ติดตั้งและพร้อมให้บริการแล้ว 100%
  • CBE (Cell Broadcast Entity) – เป็นส่วนที่กำลังดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการส่งข้อความแจ้งเตือนในกรณีที่เกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน

ทรู คอร์ปอเรชั่นมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนชาวไทย ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาสนับสนุนการเตือนภัยและการรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ การพัฒนาระบบ Cell Broadcast Service ในครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราในการยกระดับคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของคนไทย” นายจักรกฤษณ์ กล่าวในที่สุด


 

Comments

comments